“ชัชชาติ”เสนองบกทม.ปี 66 วงเงิน 7.9 หมื่นล้าน แบบสมดุล

06 ก.ค. 2565 | 18:31 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ค. 2565 | 01:35 น.
644

"ชัชชาติ"เสนอร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 7.9 หมื่นล้านบาท เป็นการจัดทำงบแบบสมดุล เน้นโปร่งใส สมดุล ตรวจสอบได้

วันนี้(6 ก.ค.65) ที่อาคารไอราวัตพัฒนา สภากรุงเทพมหานคร ดินแดง นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 1) ประจำปี 2565 โดยมี ส.ก. พร้อมด้วย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม


นายชัชชาติ ได้เสนอญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พ.ศ. .... ซึ่งกรุงเทพมหานคร(กทม.) ได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 79,000 ล้านบาท โดยเป็นการจัดทำงบประมาณแบบสมดุล (Balanced Budget Policy) เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ได้มีงบประมาณรายจ่ายสำหรับใช้เป็นหลักในการจ่ายเงินของกรุงเทพมหานคร 

สำหรับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้รัฐ พึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกัน

 

รวมทั้งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กำหนดให้การจัดทำงบประมาณประจำปีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องพิจารณาฐานะการคลังความจำเป็นที่ต้องใช้จ่าย งบประมาณ การจัดเก็บรายได้ และต้องทำอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยต้องพิจารณาผลสัมฤทธิ์ ความคุ้มค่า ความประหยัด และภาระทางการคลังที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 สามารถจำแนกด้านตามลักษณะ ดังนี้ 


การจัดบริการของสำนักงานเขต 17,411.34 ล้านบาท คิดเป็น 22.04%  


ด้านเมืองและการพัฒนาเมือง 10,559.04 ล้านบาท คิดเป็น 13.37%    
ด้านการบริหารจัดการและบริหารราชการกรุงเทพมหานคร 14,508.62 ล้านบาท คิดเป็น18.36%   


ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 10,117.73 ล้านบาท คิดเป็น 12.81%  


 ด้านสาธารณสุข 2,011.80 ล้านบาท คิดเป็น 2.55 %   


ด้านพัฒนาสังคมและชุมชนเมือง 933.52 ล้านบาท คิดเป็น 1.18%  


ด้านเศรษฐกิจและการพาณิชย์ 193.95 ล้านบาท คิดเป็น 0.25 %

 
ด้านความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย 166.35 ล้านบาท คิดเป็น 0.21 %   


ด้านการศึกษา 644.11 ล้านบาท คิดเป็น 0.81%  


รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินยืม เงินสะสม 5,128.80 ล้านบาท คิดเป็น 6.49%  


รายจ่ายเพื่ออุดหนุนหน่วยงานในกำกับ 2,954.01 ล้านบาท คิดเป็น 3.74% 


และ รายจ่ายงบกลาง 14,370.73 ล้านบาท คิดเป็น 18.19%


นายชัชชาติ กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566 เริ่มกระบวนการตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งตนได้เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 โดยเป็นช่วงที่ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ของกรุงเทพมหานครแล้วเสร็จ และจัดส่งให้สภากรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 


ร่างข้อบัญญัติดังกล่าวที่นำเสนอต่อสภากรุงเทพมหานคร ได้พิจารณาจากเหตุผลความจำเป็นของการใช้จ่ายงบประมาณ ตามภารกิจ อำนาจหน้าที่ของหน่วยรับงบประมาณ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า ประหยัด และคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดจนแผนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี แผนปฏิบัติราชการกรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ. 2566 เป็นต้น 


“การพิจารณางบประมาณส่วนหนึ่งในเวลาจำกัด ยังได้ปรับให้สอดคล้องกับบางส่วนวิสัยทัศน์การบริหารจัดการของกระผม คือ กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ซึ่งได้นำดัชนีชี้วัดเมืองน่าอยู่ The Global Liveability Index ของ EIU (The Economist Intelligence Unit) เป็นฐานคิดในการพัฒนานโยบายจนนำมาสู่นโยบาย 9 มิติ แผนพัฒนา กว่า 200 ข้อ โดยนโยบาย 9 มิติ ประกอบด้วย มิติสิ่งแวดล้อมดี มิติสุขภาพดี มิติเดินทางดี มิติปลอดภัยดี มิติบริหารจัดการดี มิติโครงสร้างดี มิติเศรษฐกิจดี มิติสร้างสรรค์ดี และมิติเรียนดี” นายชัชชาติ กล่าว


ต่อมา น.ส.ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรือง ส.ก.เขตบางซื่อ ในฐานะรองโฆษกสภากรุงเทพมหานคร ได้แถลงข่าวว่า ในที่ประชุมสภา กทม. ส.ก.จะใช้เวลาอภิปรายร่างข้อบัญญัติงบประมาณของกทม.ก่อนรับหลักการ 2 วัน คือในวันนี้ และพรุ่งนี้ (7 ก.ค.65) 


สำหรับวันนี้คาดว่าจะใช้เวลาอภิปรายถึง 20.00 น. เนื่องจากมีรายละเอียดในการอภิปรายของแต่ละหน่วยงานเป็นจำนวนมาก  จากนั้นจะมีการลงมติเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญ เพื่อศึกษารายละเอียดในเชิงลึก พร้อมลงพื้นที่เพื่อรับทราบข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาของสภากรุงเทพมหานครต่อไป 


สำหรับการอภิปรายช่วงบ่ายวันนี้ ส.ก.หลายท่านได้ร่วมกันอภิปรายและตั้งข้อสังเกตในประเด็นต่างๆ อาทิ ส.ก.สุทธิชัย วีรกุลสุนทร ได้อภิปรายในประเด็นของความเป็นไปได้ของการจัดเก็บภาษีป้ายแบบขั้นบันได เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน  การจัดเก็บภาษีป้าย ป้าย LED ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการติดตั้งป้ายโฆษณา หากเก็บภาษีเพิ่มได้เชื่อว่าภาษีจะเข้ากทม.มากขึ้นกว่า 4,000-5,000 ล้านบาท 


ค่าติดตั้งไฟฟ้าสาธารณะกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งเห็นว่าน้อยมากหากเทียบกับพื้นที่กทม.ทั้งหมด และโครงการของสำนักการโยธามีความล่าช้าของการบริหารงบประมาณ โดยส.ก.สุทธิชัย ได้เน้นย้ำว่า งบกลางและงบประมาณปี 66 ซึ่งเสนอมาในครั้งนี้ เป็นงบประมาณที่ผู้ว่าฯ ท่านเดิมขอมา ไม่ใช่งบประมาณที่ผู้ว่าฯ ท่านปัจจุบัน เป็นผู้นำเสนอ