ส.ก.เห็นพ้องฟื้นเลือกตั้ง ส.ข. "ชัชชาติ"ขานรับยังมีความจำเป็น

06 ก.ค. 2565 | 18:15 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ค. 2565 | 01:20 น.

ประชุมสภากทม. ส.ก.อภิปรายเสนอให้กลับมามีการเลือกตั้ง "ส.ข." ด้าน “ชัชชาติ” ขานรับชี้ส.ข.ยังมีความจำเป็นในการดูแลพื้นที่เชิงลึก

วันนี้(6 ก.ค.65) ที่อาคารไอราวัตพัฒนา สภากรุงเทพมหานคร ดินแดง นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 1) ประจำปี 2565 โดยมี ส.ก. พร้อมด้วย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม


โดยที่ประชุมมีวาระสำคัญ ได้แก่ ญัตติของ นายนภาพล จีระกุล เรื่อง ขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการประชุมสภากรุงเทพมหานคร พ.ศ.2562 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และขอให้พิจารณาสามวาระรวดเดียว ซึ่งที่ประชุมให้ความเห็นชอบ ข้อบังคับการประชุมดังกล่าว รายละเอียด อาทิ สภาสามารถเห็นชอบปิดสมัยการประชุมสามัญหรือสมัยประชุมวิสามัญก่อนครบกำหนด 30 วันได้ คณะกรรมการสามัญประจำสภาต้องเลือกจากส.ก. จำนวน 5-12 คน และ ส.ก.จะดำรงตำแหน่งกรรมการสามัญประจำสภาได้ไม่เกิน 3 คณะ เป็นต้น  

หลังจากนั้น นายนภาพล จีระกุล และ นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ได้เสนอญัตติ เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครเร่งรัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) เนื่องจากพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 71 กำหนดให้เขตหนึ่ง ๆ ให้มีสภาเขต ประกอบด้วย สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งมีจำนวนอย่างน้อยเขตละเจ็ดคน ถ้าเขตใดมีราษฎรเกินหนึ่งแสนคน ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขตในเขตนั้นเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนต่อจำนวนราษฎรทุกหนึ่งแสนคน เศษของหนึ่งแสนคนถ้าถึงห้าหมื่นหรือกว่านั้นให้นับเป็นหนึ่งแสน 


ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2562 กำหนดให้กรุงเทพมหานครดำเนินการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยในระหว่างที่กฎหมายยังไม่มีผลใช้บังคับ มิให้นำมาตรา 71-80 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาใช้บังคับ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องรวมถึงกรอบเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จแต่อย่างใด ที่ผ่านมา ส.ข.ถือได้ว่ามีความสำคัญ เป็นตัวแทนของประชาชนในการสื่อสารความต้องการในพื้นที่ไปยังผู้อำนวยการเขต และ ส.ก.เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ดังนั้น จึงขอให้กรุงเทพมหานครเร่งรัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ข.


นายนภาพล กล่าวว่า ส.ก.และ ส.ข.เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ใกล้ชิดกับประชาชนมาก เป็นการกระจายอำนาจให้ประชาชนเลือกผู้แทนมาตรวจสอบ ในระดับล่างสุด ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญ และกฎหมายหลายฉบับได้ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจค่อนข้างมาก และการเลือกตั้งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนชาวไทย หลายเขตมีพื้นที่กว้างใหญ่แต่มี ส.ก.เพียงคนเดียว การเปิดโอกาสให้มี ส.ข.จะเป็นเสียงสะท้อนปัญหาในพื้นที่จากประชาชนโดยตรง นำมาสู่การแก้ไขโดยเร็ว


นายสุทธิชัย กล่าวว่า กทม.เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก.จะมาจากการเลือกตั้ง ที่ผ่านมาประชาชนได้สอบถามและแจ้งเรื่องร้องเรียนในพื้นที่ผ่านทาง ส.ข. เพื่อให้ ส.ข.นำประเด็นไปประชุมที่เขต เพื่อให้นำไปสู่การแก้ไข เมื่อชาวบ้านไม่มีที่พึ่ง ถึงเวลาที่ควรมี ส.ข.กลับมาดูแลกรุงเทพฯ อีกครั้ง


ด้าน นายชัชชาติ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า จะมีการนำประเด็นการเลือกตั้ง ส.ข.กลับมาทบทวน และเห็นว่า ส.ข. ยังมีความจำเป็นในการดูแลพื้นที่เชิงลึก โดยจะนำรายละเอียดกลับมาพิจารณาอีกครั้ง