“ศักดิ์สยาม” ปัดงบคมนาคมปี 66 กระจุกตัวจ.บุรีรัมย์ ยึดหลักกฎหมาย-ประชาชน

03 มิ.ย. 2565 | 13:22 น.
อัปเดตล่าสุด :03 มิ.ย. 2565 | 20:28 น.

“ศักดิ์สยาม” แจงงบคมนาคมปี 66 ยึดหลักกฎหมาย-ประชาชน หลังบรรดาส.ส.ซัดงานคมนาคมกระจุกตัวที่จ.บุรีรัมย์ เมินจังหวัดอื่นสร้างความเหลื่อมล้ำ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงถึงข้อซักถามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เรื่องการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สภาผู้แทนราษฎร วาระ 1 เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2565 ว่าตามที่ได้มีการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สภาผู้แทนราษฎร วาระ 1 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายท่านได้อภิปรายและให้คำแนะนำเกี่ยวกับงานในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคมงบประมาณกระทรวงคมนาคม ที่ไปกระจุกตัวอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อเทียบกับงบประมาณของจังหวัดต่างๆ มียอดงบประมาณที่ห่างกันมาก ทั้งที่เป็นจังหวัดใหญ่,มีประชากรมากกว่า และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากกว่า รวมถึงการจัดงบประมาณของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส เมื่อรวมยอดงบประมาณทั้ง3 จังหวัด ได้งบประมาณแค่ครึ่งหนึ่งของจังหวัดบุรีรัมย์เพียงจังหวัดเดียว ซึ่งเป็นประเด็นปัญหา ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการสร้างความเหลื่อมล้ำในการจัดตั้งทำงบประมาณ ปี 2566

 

 

 “ขอบคุณผู้แทนราษฎรทุกท่านที่ได้อภิปรายให้คำแนะนำ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน กระทรวงคมนาคมจึงขอชี้แจงว่า กระทรวงคมนาคมคำนึงถึงพี่น้องประชาชนเป็นลำดับแรก โดยมีแนวคิดและแผนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ เพื่อตอบสนองความต้องการในการแก้ปัญหาทั้งในอดีตและปัจจุบันที่พี่น้องประชาชนเผชิญอยู่รวมไปถึงการสร้างโอกาสในการเพิ่มความขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมีการดำเนินการที่ยึดถึงหลัก 3 ข้อ คือถูกต้องตามมติคณะรัฐมนตรี ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย และถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาล ยึดถึงประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติเป็นศูนย์กลาง ยึดประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ การจัดสรรงบประมาณในทุกมิติของกระทรวงจะคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของพี่น้องประชาชน สร้างโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน และมอบความปลอดภัยในการเดินทางให้กับพี่น้องประชาชน”

ส่วนการกระจายตัวของงบประมาณ ของกระทรวงคมนาคมประจำปี 2566 พบว่างบประมาณภาพรวมในทุกมิติของรูปแบบการคมนาคมขนส่งทั้งถนน ราง น้ำ อากาศ ได้รับจัดสรรลงในพื้นที่ มีการกระจายตัวครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ เช่น ด้านการขนส่งทางถนน การกระจายตัวของงบประมาณสอดคล้องกับการกระจายตัวของประชากรในแต่ละภูมิภาค โดยภาคกลางมีการจัดสรรงบประมาณสูงสุด ประมาณ ร้อยละ 32.3 เนื่องจาก ภาคกลางมีประชากรอยู่ประมาณ ร้อยละ 30 ของทั้งประเทศ ส่วนภาคเหนือมีการจัดสรรงบประมาณเพียง ร้อยละ 9.94 ของทั้งประเทศ เพราะมีประชากร ร้อยละ 9.55 ของประเทศ เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงคมนาคมสอดคล้องกับความจำเป็นที่ต้องใช้ และความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง

 

 

สำหรับผลงานจากการใช้จ่ายงบประมาณในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพี่น้องประชาชน ตลอดระยะเวลา 2 ปีกว่าที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคู่ขนานกัน ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำและทางอากาศ เพื่อให้เกิดโครงข่ายคมนาคมที่สมบูรณ์ในประเทศไทย ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนไทย และสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งแต่ละโครงการมีความคืบหน้าไปค่อนข้างมาก ขณะที่หลายโครงการเป็นการลงทุนต่อเนื่อง ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะลงทุนในอนาคต ทั้งที่เป็นแผนระยะกลางและแผนระยะยาว

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า การบริหารจัดการถนนระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น โครงข่ายถนนในประเทศไทยกว่า 700,000 กว่ากิโลเมตร อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม ประมาณ 100,000 กิโลเมตร โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบ คือ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และอีกกว่า 600,000 กิโลเมตรนั้น อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย โดยกรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งในส่วนของกระทรวงคมนาคมได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณตามมาตรฐานของถนนแต่ละประเภท  โดยขึ้นอยู่กับปริมาณจราจร และการรับน้ำหนักบรรทุก ซึ่งถนนมาตรฐานสูง เช่น มอเตอร์เวย์ ทางหลวง  4 ช่องจราจร ก็จะใช้งบประมาณในการซ่อมบำรุงที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับถนนท้องถิ่นที่เป็นถนนลูกรังที่ใช้งบประมาณที่น้อยกว่า จึงจะเห็นได้ว่ามาตรฐานชั้นทางที่ต่างกัน การรับปริมาณจราจร และปริมาณรถบรรทุกก็ต่างกัน ทำให้งบประมาณในการซ่อมบำรุงต่อกิโลเมตร จึงแตกต่างกันตามประเภทของถนน 

 

“ศักดิ์สยาม” ปัดงบคมนาคมปี 66 กระจุกตัวจ.บุรีรัมย์ ยึดหลักกฎหมาย-ประชาชน

 

นอกจากนี้การใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่และที่จะจัดสร้างขึ้นเพื่อสร้างรายได้และความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ จากนโยบายการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว กระทรวงคมนาคมได้เตรียมความพร้อม ในทุกมิติของการเดินทางเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว โดยในปี 2565 คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประเทศไทยประมาณ 22 ล้านคน และปริมาณผู้โดยสารระหว่างประเทศต่อเดือนของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะเติบโตขึ้นถึง ร้อยละ 295 ก่อให้เกิดเม็ดเงินที่เป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อประเทศสูงถึง 326,645 ล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 565,450 ล้านบาท ในปี 2566 ซึ่งจะทำให้เกิดผลประโยชน์ทวีคูณทางเศรษฐกิจถึง 1.34 ล้านล้านบาท