ผ่างบคมนาคมกว่า1.95แสนล้าน ทางหลวงเพิ่มวงเงินผูกพันสร้างมอเตอร์เวย์/รฟม.ขอ 1.8 หมื่นล.

25 ก.ค. 2559 | 10:00 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ค. 2559 | 16:15 น.
สนช.ผ่านงบคมนาคมปี 60 กว่า 1.95 แสนล้าน หน่วยราชการยังนำโด่ง ทล.เสนอ 9.2 หมื่นล้านสูงกว่าปี 58 ถึง 19.60% ทช.ไม่น้อยหน้า ขอ 4.6 หมื่นล้านสูงกว่าปี 58 ถึง 1.07% ส่วนร.ฟ.ท.ยังมากสุดในกลุ่มหน่วยงานรัฐวิสาหกิจโดยเสนอขอ 1.9 หมื่นล้าน แต่ลดลงกว่าปีที่ผ่านมา -22.78% และรฟม.เสนอขอ 1.8 หมื่นล้าน ลดจากปี 58 จำนวน-13.17%

[caption id="attachment_74504" align="aligncenter" width="700"] วงเงินงบประมาณกระทรวงคมนาคมประจำปีงบประมาณ 2560 วงเงินงบประมาณกระทรวงคมนาคมประจำปีงบประมาณ 2560[/caption]

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าสรุปวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 ของกระทรวงคมนาคมปีนี้วงเงินรวม 1.95 แสนล้านบาท(ดูตารางประกอบ) โดยภาพรวมเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 4% (ปี 2558 วงเงิน 1.87 แสนล้านบาท) จำแนกเป็นงบส่วนราชการ 1.52 แสนล้านบาท และงบในส่วนรัฐวิสาหกิจ 4.2 หมื่นล้านบาท โดยงบประมาณของสำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคมได้รวมเอางบหน่วยกรมท่าอากาศยาน(กพท.)เข้ามาด้วย เนื่องจากกพท.ไม่สามารถของบประมาณได้เอง แต่ในปี 2560 ยังจำเป็นที่จะขอรับจัดสรรงบไปดำเนินการ อีกทั้งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณปี 2560 ยังลดลงจากคำขอกว่า 7.9 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 28.86%

สำหรับงบประมาณของส่วนราชการทั้ง 7 หน่วยประกอบไปด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม 920 ล้านบาท กรมเจ้าท่า 4,962 ล้านบาท กรมการขนส่งทางบก 3,848 ล้านบาท กรมท่าอากาศยาน 3,283 ล้านบาท กรมทางหลวง 9.2 หมื่นล้านบาท กรมทางหลวงชนบท 4.6 หมื่นล้านบาท และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร 433 ล้านบาท

งบประมาณของหน่วยรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย 240 ล้านบาท องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ 5,034 ล้านบาท สถาบันการบินพลเรือน 194 ล้านบาท การรถไฟแห่งประเทศไทย 1.9 หมื่นล้านบาท และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย 1.8 หมื่นล้านบาท

"งบประมาณทั้งหมดกว่า 1.95 แสนล้านบาทนั้นแบ่งออกเป็นงบเพื่อการภารกิจพื้นฐาน ประมาณ 7.6 หมื่นล้านบาท งบที่เป็นแผนงานบูรณาการกว่า 1.03 แสนล้านบาท และงบที่เป็นแผนงานบริหารจัดการหนี้ภาครัฐอีกกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท"

ด้านนายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง(ทล.) กล่าวว่า งบประมาณปี 2560 ของทล.ยังเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ โดยงบที่เพิ่มมาจะเป็นงบจากการลงทุนผูกพันงานก่อสร้างขนาดใหญ่ของโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) 3 เส้นทาง ส่วนในภาพรวมนั้นถือว่าจำนวนงบประมาณที่ได้รับในปีนี้จะลดลงกว่าปีที่ผ่านมา

"จะลดลงมาไม่มาก ซึ่งโครงการใหญ่ยังคงจะมีการผูกพันงบประมาณอีก 2-3 ปี เช่นเดียวกับ 2 มอเตอร์เวย์สายใหม่คือนครปฐม-ชะอำและหาดใหญ่-ด่านสะเดา จะจัดงบประมาณเข้าไปดำเนินการรองรับไว้ ทั้งการจัดกรรมิสิทธิ์ที่ดินและงบที่จะนำไปใช้ก่อสร้างโครงการซึ่งจัดเป็นงบเพื่อการลงทุนนั่นเอง"

ด้านนายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ(ฝ่ายกลยุทธ์และแผน) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) กล่าวว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมาได้เข้าชี้แจงกรรมาธิการงบประมาณ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่ามีปรับลดลงบ้างแต่กรอบวงเงินรวมกว่า 1.8 หมื่นล้านบาทยังไม่โดนปรับลดลงไป

"ผ่านเรียบร้อยแล้วทั้งกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท ทั้งงบเพื่อการลงทุนและงบทำการประจำปี มีปรับลงลงบ้าง โดยงบที่นำเสนอจะมีการนำไปใช้งานในทุกสายทางรถไฟฟ้า งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินจะนำไปใช้มากที่สุด"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,176 วันที่ 21 - 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2559