เปิด 5 ข้อสำคัญร่างพ.ร.บ.จราจรทางบก

16 ก.ย. 2563 | 08:00 น.
2.2 k

เปิดสาระสำคัญ 5 ข้อเกี่ยวกับ พ.ร.บ.จราจรทางบก ที่ปรับปรุงใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้รถใช้ถนนในยุคปัจจุบัน

ในที่สุดพ.ร.บ.จราจรทางบกก็ได้มีการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ถือว่าใช้กันอย่างยาวนาน ดังนั้นทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้ยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้่ขึ้นมา และมีการปรับปรุงแก้ไขบางอย่างให้ทันยุคทันสมัย มีความเหมาะสมกับสภาพข้อเท็จจริงในการใช้รถใช้ถนนในปัจจุบัน โดยเนื้อหาสาระสำคัญที่ได้เพิ่มเติมเข้ามาประกอบไปด้วย 

 

1.กำหนดให้รถบรรทุก รถบรรทุกคนโดยสาร และรถจักรยานยนต์ สามารถใช้ช่องเดินรถด้านขวาได้ในกรณีจำเป็น และแก้ไขเพิ่มเติมน้ำหนักของรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่ไม่ต้องใช้ช่องเดินรถด้านซ้ายสุด จาก 1,600 กิโลกรัม เป็น 2,200 กิโลกรัม

 

2.กำหนดให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจขอให้แพทย์ตรวจพิสูจน์ผู้ขับขี่หรือบุคคลที่อาจเป็นผู้ขับขี่ ในกรณีที่อยู่ในภาวะหมดสติจนไม่อาจให้ความยินยอมในการตรวจสารเสพติดหรือตรวจระดับความเมาสุราได้ โดยให้ทำได้เท่าที่จำเป็นและต้องไม่เป็นอันตรายต่อบุคคลนั้น
 

3.ปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรัดเข็มขัดนิรภัย เช่น


3.1.กำหนดหน้าที่ของผู้ขับขี่และคนโดยสารต้องรัดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลาในขณะโดยสารรถ 


3.2.ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี นั่งแถวหน้า ยกเว้นมีที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กและมีวิธีป้องกันอันตรายไว้แล้ว

 

3.3.ห้ามไม่ให้มีผู้โดยสารนั่งตอนหน้าเกินว่า 2 คน ในขณะขับขี่ เป็นต้น

 

4.ปรับปรุงมาตรการป้องกันการแข่งรถในทาง เช่น 


4.1.กำหนดให้ผู้ที่รวมกลุ่มกันในทางพร้อมด้วยรถตั้งแต่ 5 คันขึ้นไป โดยมีการนัดหมายแข่งรถ หรือมีพฤติการณ์ที่แสดงถึงจะมีการแข่งรถ ให้ถือว่าเป็นผู้พยายามแข่งรถในทาง เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าเป็นอย่างอื่น 


4.2. กำหนดให้ผู้ที่รับการปรับแต่งรถเพื่อแข่งรถในทาง ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการแข่งรถในทาง เป็นต้น

 

5.ปรับปรุงบทกำหนดโทษ เช่น เพิ่มบทกำหนดโทษสำหรับความผิดฐานขับรถในขณะถูกพักใช้อนุญาตขับขี่ตามมาตรการบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โดย ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ในลำดับต่อไป จะส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง