“ดร.เอนก”ชงบพท.ขยายวิจัย-นวัตกรรมครอบคลุมครึ่งประเทศ

10 ก.ย. 2563 | 19:08 น.

“ดร.เอนก”ชงบพท.ขยายโครงการนำการวิจัยและนวัตกรรมพัฒนาพื้นที่ครอบคลุมครึ่งประเทศ เชื่อเศรษฐกิจท้องถิ่นช่วยเศรษฐกิจระดับชาติได้ ผอ.สอวช.เสนอมหาวิทยาลัย ไม่เน้นเพียงเป็นเลิศวิชาการ แต่วัดกันที่ใครช่วยชุมชนพ้นยากจนได้มากกว่ากัน

 

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดประชุมวิชาการ Virtual Conference Transforming University for the Future : บทบาทใหม่มหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาพื้นที่” ผ่านระบบการประชุมออนไลน์

 

โดย ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในช่วงหนึ่ง โดยระบุว่า จากการเยือน จ.พะเยา และ จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 5-7 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และมหาวิทยาลัยพะเยา เรื่องการนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดสู่การสร้างเศรษฐกิจฐานราก โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคีในพื้นที่ระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาคมในพื้นที่

 

สิ่งที่ประทับใจ คือ ผลลัพธ์และกระบวนการที่ทำให้เราเห็นว่ามีหนทางในการพัฒนาประเทศผ่านท้องถิ่น ชุมชน โดยอิงวัฒนธรรมที่เป็นทุนเดิมของเขา และได้ย้ำถึงภารกิจของกระทรวง อว. ที่มุ่งเน้นทำงานครอบคลุม ทั้งการอุดมศึกษา และศิลปะวิทยาการทุกศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ สังคม มนุษยศาสตร์ โบราณคดี ศิลปะ ดนตรีและบันเทิง

 

“จากการลงพื้นที่ทำให้ผมได้เห็นอีกโมเดลการพัฒนาประเทศ โดยมีวัฒนธรรมของพื้นที่นั้นๆ เป็นฐาน มีผู้นำชุมชน ชุมชน เป็นคนร่วมทำทั้งการวิจัย และการปฏิบัติการ ผมประทับใจที่ชาวบ้านเข้าใจวัฒนธรรมวิจัยจนอยู่ในจิตวิญญาณ การรับนโยบายจากกระทรวงฯ อาจจะสำคัญ แต่การริเริ่มมาจากฐานรากก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เราเพียงเอาทฤษฎีวิชาการ การวิจัย ไปส่งเสริมให้เขาคิดจากรากฐานเดิมของเขา

 

และสิ่งที่อยากเห็นคือ วิถีชุมชน วัฒนธรรมท้องถิ่น จะไม่เป็นเพียงสมบัติของชุมชนนั้น แต่เป็นความภูมิใจของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ท้องถิ่นนิยม หรือภาคนิยม เราจะไม่แบ่งพวก แบ่งฝ่าย ผมให้โจทย์ บพท. ว่า การดำเนินการนำการวิจัยและนวัตกรรมพัฒนาพื้นที่ ที่ บพท. ทำอยู่แล้ว 18 จังหวัด เป็นไปได้หรือไม่ที่จะขยายผลไปสักครึ่งหนึ่งของประเทศ คือราว 38 จังหวัด แต่ต้องทำให้ปราณีต ยิ่งช่วงสถานการณ์โควิด - 19 พึ่งพาต่างประเทศไม่ได้ ส่งออกลำบาก เป็นไปได้ไหมที่จะใช้เศรษฐกิจท้องถิ่นมาช่วยเศรษฐกิจชาติ ให้สมกับที่ อว. เป็นกระทรวงแห่งความรู้ แห่งปัญญา และแห่งอนาคต  ไม่ใช่แค่ท่องคำขวัญแต่ด้วยการปฏิบัติ

 

อยากให้ บพท. จัดเสวนาระดมสมอง เอาปราชญ์ชาวบ้านมาเชื่อมโยงกับปัจจุบัน เอาประวัติศาสตร์มารับใช้ปัจจุบันอย่างมีหลักวิชา ไม่ใช่บิดเบือน จะทำให้การวิจัยของเราเป็นวัฒนธรรมวิจัยอย่างแท้จริง นอกจากนี้ผมยังได้ฝากการบ้านกับ ผอ.สอวช. ว่านโยบายด้านการอุดมศึกษา ควรจะต้องมีนโยบายวิจัยเชิงพื้นที่ เพื่อสร้างวัฒนธรรมวิจัยให้คนในชาติโดยเร็ว และทำให้การวิจัยเกิดรายได้กับชุมชน ท้องถิ่น ให้ได้โดยเร็ว” รมว.อว. กล่าว

                                                                                  “ดร.เอนก”ชงบพท.ขยายวิจัย-นวัตกรรมครอบคลุมครึ่งประเทศ

 

ด้าน ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวว่า กระทรวง อว. ได้จัดตั้ง บพท. เพื่อรับผิดชอบงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาพื้นที่ของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อันเป็นวาระสำคัญในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และในฐานะที่กระทรวง อว. มีมหาวิทยาลัย สถาบันอุดมศึกษา เป็นโครงสร้างและกลไกความรู้ที่สำคัญในการขับเคลื่อนและผลักดันประเทศ และยังมีทุนเดิมของการขับเคลื่อนงานวิจัย และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาพื้นที่ โดยความร่วมมือ ของ สกสว. และ วช. และหน่วย บพท. ได้ผลักดันและส่งเสริมบทบาทของมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในจังหวัดต่างๆ ให้เป็นโครงสร้างความรู้ในการตอบโจทย์ปัญหาสำคัญของการพัฒนาจังหวัด

 

โดยการเสริมพลัง capacity building ของมหาวิทยาลัย ให้มีการจัดตั้งกลไก/หน่วยงานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ และร่วมทุนกับมหาวิทยาลัยคนละครึ่ง มอบให้หน่วยบริหารงานวิจัยมหาวิทยาลัยบริหารจัดการทุนด้วยตัวเอง โดยสร้างระบบพี่เลี้ยงด้านการบริหารงานวิจัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่  ให้คำปรึกษาและออกแบบการทำงานการจัดการงานวิจัย เป็นต้น

 

ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า มหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ 21 มหาวิทยาลัย ใน 21 จังหวัด จากงบประมาณที่การร่วมทุนทั้งหมด 102 ล้านบาท มีการสนับสนุนโครงการวิจัยตอบโจทย์ปัญหาของพื้นที่ 660 โครงการ นักวิจัยที่ทำงานพัฒนาพื้นที่ทั้งหมด 1,754 คน เป็นนักวิจัยรุ่นใหม่ 915 คน นักจัดงานวิจัยที่จะเป็นกำลังสำคัญของมหาวิทยาลัยและพื้นที่ 227 คน

 

นอกจากนี้ ผลงานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ของมหาวิทยาลัยยังสามารถผลิตผลงานวิชาการในรูปแบบของบทความวิชาการระดับชาติ 395 บทความและระดับนานาชาติ 34 บทความ

 

การยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา จำนวน 116 รายการ นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์จากงานววิจัย จำนวน 186 ชิ้นงาน กลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์จากโครงการวิจัย รวมทั้งสิ้น 445 กลุ่ม จำนวน 15,562 คน รวมมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากโครงการวิจัยในระยะนี้ เป็นเงินทั้งสิ้น 242,699,611 บาท

 

ที่สำคัญโครงการนี้เป็นการทำงานอย่างมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้น เราได้เห็นภาพผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ทรงคุณวุฒิให้กับงานวิจัย เห็นภาพการส่งต่อผลงานวิจัยให้กับกลไกจังหวัด เห็นการปรับโครงสร้าง ปรับกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานวิจัยในพื้นที่ และมีการพัฒนานักจัดการงานวิจัยที่มีฝีมืออยู่ในแต่ละ มหาวิทยาลัยเพื่อเป็นพลังให้กับกระทรวง อว. ในระยะยาว

                                               “ดร.เอนก”ชงบพท.ขยายวิจัย-นวัตกรรมครอบคลุมครึ่งประเทศ

 

ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า ประเทศไทย มีสถาบันอุดมศึกษาประมาณ 180 สถาบัน และมีบุคลากรในระดับหัวกะทิของประเทศราว 30,000 คน ด้วยพลังนี้ทำให้ 10 ปีที่ผ่านมา เราจึงมีของในมือซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศเยอะมาก

 

อย่างไรก็ตาม การขยายผลเชิงนโยบายเราจะต้องสร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับนโยบาย ทั้งด้านการจัดสรรงบประมาณที่ต้องมีความต่อเนื่อง ซึ่งต่อไปต้องเป็นแบบ Multi years คือ พออาจารย์หรือนักวิจัยเห็นโอกาสแล้วสามารถขึ้นโครงการได้ทันที ไม่ต้องรอปฏิทินงบประมาณ ซึ่งต้องอาศัย Strong Policy และรัฐบาลก็ต้องพร้อมที่จะให้แรงจูงใจในการทำงานกับนักวิจัย รวมไปถึงการปลดล็อกสิ่งที่เป็นอุปสรรค อาทิ การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ซึ่ง สอวช. อยู่ระหว่างรอเสนอต่อสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการพิจารณาปลดล็อกเรื่องนี้

 

อีกประเด็นสำคัญ คือ การสร้าง Ecosystem ที่เหมาะสมทั้งเรื่องระบบสร้างแรงจูงใจ ทำอย่างไรให้นักวิจัยที่ทำงานเพื่อชุมชนและชุมชนได้รับผลเป็นรูปธรรมได้มีโอกาสก้าวหน้าในตำแหน่งงาน ไม่ใช่ทำแล้วยังอยู่หลังแถว นอกจากนี้ ในเรื่องการจัดอันดับมหาวิทยาลัย ที่ปกติจะดูเรื่อง Academic Excellence เป็นสำคัญ แต่ต่อไปควรมีการจัดอันดับความเป็นเลิศทางวิชาการควบคู่ไปกับการลงพื้นที่ไปช่วยให้คนที่ยากจนพ้นเส้นความยากจนว่ามหาวิทยาลัยใดทำได้มากที่สุด ซึ่งจะเป็นอิมแพคสำคัญที่สอดคล้เองกับบริบทของประเทศไทยอย่างแท้จริง

 

“Ecosystem ที่ต้องอาศัยพลังรัฐช่วยสนับสนุน คือ การยกระดับผลิตภัณฑ์ของชุมชน ให้ขยายไปสู่ระดับอุตสาหกรรม ซึ่งจำเป็นต้องมีโรงงานต้นแบบ เรื่องระบบมาตรฐาน ซึ่งตรงนี้รัฐบาลต้องช่วยใส่เข้าไป ปัจจุบันเรามีอุทยานวิทยาศาสตร์อยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ซึ่งตรงนี้จะกลายเป็น Hub of Innovation ที่จะเข้าไปสนับสนุนได้ระดับหนึ่ง และหลังสถานการณ์โควิด - 19 การที่เราจะพึ่งพาเรื่องการส่งออกเป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะฉะนั้น Local Economy จะเป็นกุญแจที่จะทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้

 

นอกจากนี้ ท่านรัฐมนตรี ยังได้มอบนโยบายการสร้าง University as a Marketplace ที่นำเอาศักยภาพของมหาวิทยาลัยทั้งเรื่อง ปริมาณบุคลากรที่มีจำนวนมาก มีอำนาจในการซื้อเยอะ และมีพลังทางสมองที่จะช่วยเรื่องเทคโนโลยีก็มาช่วยส่งเสริมบทบาทของมหาวิทยาลัยในมิติใหม่ 3 เรื่อง คือ

 

1. University as a Consumption มหาวิทยาลัยมีบุคลากร นักศึกษา รวมบัณฑิตที่จบไปแล้วจำนวนมหาศาล เพราะฉะนั้นมีอำนาจซื้อสูงมาก หากนำสินค้าชุมชนมาจำหน่ายเชื่อว่าจะสร้างรายได้เป็นจำนวนมหาศาล

 

2. University as a Market Platform การสร้างแพลตฟอร์มด้านการตลาดระหว่างมหาวิทยาลัย ตอนนี้อยู่ระหว่างการคิดเรื่องการสนับสนุนให้คนเข้าไปใช้แพลตฟอร์มมากขึ้น เช่น การแจกคูปองเพื่อให้ส่วนลดการซื้อสินค้า

 

3. University as an Innovator หรือ Innovation Supporter ให้กับทางชุมชน พอมีความต้องการซื้อของในชุมชนมากขึ้น มีความจำเป็นต้องใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ใส่เข้าไป ซึ่งลำพังวิสาหกิจชุมชนทำได้อย่างจำกัด แต่ด้วยศักยภาพและองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยจะช่วยเป็นแรงหนุนเสริมได้ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ซึ่ง สอวช. ก็กำลังดำเนินการตรงนี้อยู่” ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าว

         “ดร.เอนก”ชงบพท.ขยายวิจัย-นวัตกรรมครอบคลุมครึ่งประเทศ       “ดร.เอนก”ชงบพท.ขยายวิจัย-นวัตกรรมครอบคลุมครึ่งประเทศ