ถล่มยับ "พ.ร.บ.คู่ชีวิต" ไม่ตอบโจทย์ "สมรสเท่าเทียม"

09 ก.ค. 2563 | 02:00 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ค. 2563 | 19:22 น.
9.4 k

โซเชียลผนึกส.ส.ก้าวไกล ติดแฮชแท็ก #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต หลังครม.เคาะร่างพ.ร.บ.คู่ชิวิต ชี้ไม่ตอบโจทย์สมรสเท่าเทียม

จากกรณีที่ 8 ก.ค. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ "ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต" และพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…)พ.ศ…. ซึ่งจะเปิดโอกาสให้คู่รักเพศเดียวกันมีสิทธิ์ครองรักกันถูกต้องโดยมีกฎหมายมากขึ้น

 

ซึ่งขั้นตอนของกฎหมายต่อจากนี้ หลังจากครม.มีมติ วิปรัฐบาลจะต้องประสานนำเสนอเข้าสู่วาระเพื่อนำร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต เข้าคิวรอพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งจะต้องผ่านทั้ง 3 วาระ ที่ยังมีสิทธิ์ในการปรับแก้ไขเนื้อหาในชั้นกรรมาธิการ 

 

แต่ทว่า เสียงตอบรับของประชาชนที่จับตากฎหมายฉบับนี้ แสดงออกชัดเจน หลังจากครม.มีมติไม่นาน ปรากฏว่า แฮชแท็ก #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต ก็ขึ้นเทรนด์ยอดฮิตทั้งในทวิตเตอร์และกระหึ่มอยู่ในเฟซบุ๊ก เพราะมองว่า ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่ตอบโจทย์การนำไปสู่ การสมรสที่เท่าเทียม ซึ่งเป็นแฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม ก่อนหน้านั้น 1 วัน 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครม.อนุมัติร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนได้

สมรสเท่าเทียม กระหึ่มโซเชียล ก่อนดัน "พ.ร.บ. การรับรองเพศ" เข้าสภา

นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ และ นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์  ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล 

หนึ่งในเสียงต้านที่มีพลังโซเชียลมหาศาลคนหนึ่ง คือ "นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์" พร้อมด้วย "นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์" ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล 

 

ตั้งโต๊ะออกแถลงการณ์ถึงการทำความเข้าใจเกี่ยวกับกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรีผ่านร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตว่า ขอให้ประชาชนอย่าเกิดความสับสนและขอทำความเข้าใจว่าร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตพ.ศ…..( พ.ร.บ. คู่ชีวิต ) เป็นคนละฉบับกับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งเเละพาณิชย์ มาตรา 1448 (สมรสเท่าเทียม) เพื่อการสมรสเท่าเทียมที่พรรคก้าวไกลเป็นผู้เสนอนั้นมีสาระสำคัญ คือ “คู่ชีวิตไม่เท่ากับสมรสเท่าเทียม” คือ การที่เราแก้ไขสมรสเท่าเทียม 

 

คำว่าคู่สมรสนั้นถูกบัญญัติอยู่แล้วในกฎหมายทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการของราชการ สวัสดิการเอกชน ที่จะให้สิทธิ์กับคำว่าคู่สมรสและการสมรสเท่าเทียมจะปกป้องเเละดูเเลคู่สมรสให้ได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียม เป็นการยืนอยู่อย่างเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายของประเทศ

 

ทั้งนี้คำว่าคู่ชีวิตไม่ได้ถูกบัญญัติมีอยู่ในกฎหมายอื่นๆเป็นคำใหม่ จึงทำให้ พ.ร.บ.คู่ชีวิตไม่สามารถทำให้คู่ชีวิตได้รับการปกป้องดูแลและรับสิทธิ์เหมือนคู่สมรส 

"การสมรสเท่าเทียม คือ การสร้างความเท่าเทียม สร้างคนให้เท่ากันในสังคม ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์" นายธัญวัจน์ ระบุ

 

ด้านนายธัญญ์วาริน บอกว่า ร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิตถ้าผ่านและใช้เป็นกฎหมาย จะทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศแปลกและแตกต่างตอกย้ำอคติทางเพศในสังคมไทย เพราะเมื่อเราต้องการจดทะเบียนสมรสและได้สิทธิตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมทุกคน แล้วทำไมถึงต้องใช้กฎหมายคนละตัว ซึ่งถ้าใช้สมรสเท่าเทียมจะทำให้คนไทยทุกคน ได้รับสิทธิเท่าเทียมกันในสังคม

 

ซึ่งร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ…. ผ่านคณะรัฐมนตรีแล้วก็จริง แต่จะต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปีพุทธศักราช2560 ในสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน

 

"จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมแสดงฟังความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งเเละพาณิชย์ มาตรา 1448 “สมรสเท่าเทียม” ที่พรรคก้าวไกลเป็นผู้เสนอในเว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตั้งเเต่วันนี้จนถึงวันที่ 17 ส.ค. 63 เพราะเสียงของประชาชนที่จะเข้าสู่ในสภาผู้แทนราษฎรมีความสำคัญเราในฐานะผู้แทนราษฎรอยากเชิญชวนประชาชนมีส่วนร่วมและมีบทบาทในการแก้ไข ก่อนที่ร่างกฎหมายดังกล่าวจะบรรจุเข้าวาระในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เเละผลักดันใช้เป็นกฎหมายเพื่อความเท่าเทียมลดความเหลื่อมล้ำในสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์"

"ครูหยุย-นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์" สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

ส่วนเสียงที่สนับสนุนกับร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต "ครูหยุย-นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์" สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)ย้อนที่มาที่ไปว่า ช่วงสมัยเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้ร่วมกับบรรดากลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ พิจารณาร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่ให้คนเพศเดียวกันแต่งงานใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งเป็นไปตามหลักการความเท่าเทียมระหว่างเพศ ที่ได้ผลักดันจนกฎหมายผ่านสภาออกมาบังคับใช้ได้

"เพียงแต่ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่พิจารณาคราวเป็น สนช. นั้นยังมีข้อถกเถียงในสองประเด็นสำคัญคือ เรื่องการรับบุตรบุญธรรมและเรื่องการจัดการมรดก ซึ่งสัมพันธ์กับกฎหมายแพ่งและกฎหมายการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม เรื่องจึงคาราคาซังมาถึงยุคนี้ ดังนั้นเมื่อมีมติ ครม.เห็นชอบในหลักการให้คนเพศเดียวกันสมรสกันได้รับบุตรบุญธรรมได้และดูแลจัดการทรัพย์สินร่วมกันได้ ถือเป็นเรื่องน่ายินดี และน่าชื่นชม"นายวัลลภ กล่าว

พร้อมเห็นว่า ทางคณะกรรมาธิการสังคมฯวุฒิสภา ที่ตนทำหน้าที่เป็นประธานอยู่นั้น ได้มีคณะอนุกรรมาธิการสตรีและผู้มีความหลากหลายทางเพศอยู่ด้วย จึงพร้อมพิจารณาสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้อยู่แล้ว และเพื่อให้ประเด็นนี้ได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น ก็จะรีบจัดตั้งคณะทำงาน พิจารณาพ.ร.บ.คู่ชีวิตขี้นในเร็ว ๆ นี้เพื่อพิจารณาคู่ขนานไปกับทางกระทรวงยุติธรรมที่เป็นเจ้าของร่างต่อไป