วันนี้ (18 ม.ค.68) พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โฆษก สตช.) กล่าวถึงกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อโซเชียล กรณีการแต่งตั้ง พ.ต.อ.ไพรัตน์ หรือ พงศ์รัตน์ ไพพรรณรัตน์ รองผู้บังคับการอำนวยการ ตำรวจภูธรภาค 9 (รอง ผบก.อก.ภ.9) เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นเป็น ผู้บังคับการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจราย พ.ต.อ.พงศ์รัตน์ เป็นการคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจวาระประจำปี 2567 ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ที่เป็นกฎหมายมุ่งเน้นการปฏิรูประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อให้กระบวนการแต่งตั้งเกิดความโปร่งใสเป็นไปตามหลักของ “อาวุโสและความรู้ความสามารถ”
พ.ต.อ.พงศ์รัตน์ จัดอยู่ในกลุ่มอาวุโสร้อยละ 50 ซึ่งทางตำรวจภูธรภาค 9 ผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดเสนออยู่ในบัญชีผู้เหมาะสมเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น โดยการพิจารณาว่า ข้าราชการตำรวจรายใดมีความเหมาะสมที่จะเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นนั้น จะมีกระบวนการพิจารณาตามลำดับชั้นจากระดับกองบังคับการ แล้วเสนอไปยังกองบัญชาการ
โดยกรณี พ.ต.อ.พงศ์รัตน์ นั้น ผบก.อก.ภ.9 ได้เสนอให้คณะกรรมการระดับกองบัญชาการได้พิจารณาว่า เป็นผู้เหมาะสม ไม่ขัดคุณสมบัติที่จะสามารถเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นได้ โดยคณะกรรมการระดับกองบัญชาการเห็นพ้องกับข้อมูลที่ผู้บังคับการเสนอ
อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ได้พูดถึงกรณีการแต่งตั้ง พ.ต.อ.พงศ์รัตน์ นอกเหนือจากอาวุโสและความรู้ความสามารถแล้ว ยังจะต้องพิจารณาในเรื่องของประวัติการรับราชการและความประพฤติอีกด้วย
โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ได้ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการถูกดำเนินการทางวินัย หรือต้องหาคดีอาญาแล้ว ปรากฏว่า ยังไม่มีการรายงานต้องคดี หรือ มีการรายงานจากหน่วยต้นสังกัดมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ทั้งนี้ ในส่วนของการพิจารณา พ.ต.อ.พงศ์รัตน์ ในเรื่องของความประพฤตินั้น จากข้อมูลพบว่า ถูกศาลจังหวัดพัทยาออกหมายจับ ที่ จ.430/2567 ลง 19 สิงหาคม 2567 ในความผิดฐาน เป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล
ทำให้มีการพิจารณาต่อไปว่า เหตุในการออกหมายจับดังกล่าวนั้น เกิดจากการกระทำผิดโดยใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการ อันจะทำให้ความเชื่อมั่นศรัทธาในการบังคับใช้กฎหมายของประชาชนเสื่อมถอยลง หรือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่อย่างไร
ผลการประชุมพิจารณาหารือพบว่า การพิจารณาข้าราชการตำรวจรายใดดำรงตำแหน่งสูงขึ้น จึงต้องพิจารณาจากประโยชน์ที่จะเกิดกับราชการควบคู่ไปกับการคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ ของข้าราชการตำรวจที่กฎหมายได้รับรองไว้ด้วย
เมื่อกระบวนการทุกขั้นตอนรวมถึงคุณสมบัติต่าง ๆ ของข้าราชการตำรวจครบถ้วน และยังไม่ปรากฏ หรือมีเหตุทางกฎหมายที่จะพรากสิทธิของ พ.ต.อ.พงศ์รัตน์ ที่กฎหมายได้รับรองไว้ จึงต้องคัดเลือกแต่งตั้งตามที่หน่วยเสนอ ตามสิทธิ ระเบียบ กฎหมาย และกฎที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้นิ่งนอนใจ และจะไม่ละเลยในการดำเนินการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องที่เกิดขึ้น หากผลของการดำเนินการดังกล่าว นำไปสู่การดำเนินการทางวินัย ก็ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ แต่ในปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติจำเป็นจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ไปตามลำดับก่อน