วันนี้ (18 มกราคม 2568) พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นอกสถานที่ โดยที่ประชุม กพฐ. ได้หารือในหลายประเด็นที่น่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือเรื่องการพิจารณาแก้ไขวันเปิด-ปิดภาคเรียนใหม่ ซึ่งเกิดจากการรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นกับบุคลากรทางการศึกษา
ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ สพฐ. สำรวจความคิดเห็นในการพิจารณาแก้ไขระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยปีการศึกษา การเปิดและปิดภาคเรียน พ.ศ. 2549 แล้วนำเสนอเข้าที่ประชุม กพฐ.
โดยมีแนวคิด ให้เลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 จากเดิมวันที่ 16 พฤษภาคม เป็นวันที่ 1 พฤษภาคม และเลื่อนวันปิดภาคเรียนที่ 1 จากวันที่ 11 ตุลาคม เป็นวันที่ 30 กันยายน เพื่อให้ตรงกับปีงบประมาณ
ส่วนภาคเรียนที่ 2 ให้เปิดเทอมวันที่ 1 พฤศจิกายน และปิดภาคเรียนเป็นวันที่ 1 เมษายน ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงของการรับฟังความคิดเห็น ยังต้องพิจารณาในอีกหลายส่วนต่อไป
สำหรับข้อดีของการเลื่อนวันเปิดเทอม จะส่งผลดีในเรื่องของการบริหารจัดการที่ง่ายขึ้น ซึ่งการปิดภาคเรียนที่ 1 ที่ยาวขึ้นก็จะทำให้นักเรียนมีเวลาหยุดเพิ่มขึ้น ส่วนข้อกังวลเรื่องการนับอายุเด็กก่อนเข้าเรียนและเรื่องอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นนั้น เราก็จะต้องมาดูประโยชน์ที่จะเกิดในภาพรวม ว่าคุ้มค่าหรือไม่ หากการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ก่อให้เกิดปัญหามากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับก็คงจะไม่เปลี่ยน แต่หากได้รับผลประโยชน์ที่ดีมากกว่า ก็คงจะมีการปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพบริบทในปัจจุบัน
ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา กล่าวว่า หากมีการเปิด-ปิดภาคเรียนที่สอดคล้องกับช่วงปีงบประมาณ ก็จะเป็นผลดีต่อการบริหารอัตรากำลัง โดย สพฐ. ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกว่า 47,467 คน ทั้งผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียน ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ นักวิชาการศึกษา และอื่นๆ พบว่า เห็นด้วย 80.30% ไม่เห็นด้วย 16.91% และอื่นๆ 0.79%
สำหรับผู้ที่เห็นด้วยมีประเด็นเห็นชอบ ดังนี้
1.เพื่อให้สะดวกต่อการบริหารจัดการภายในสถานศึกษาเนื่องจากสอดคล้องกับปีงบประมาณ รวมถึงด้านการเบิกจ่ายอาหารกลางวันอาหารเสริม (นม) และการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ
2.เป็นประโยชน์กับเด็กที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1-15 พฤษภาคม สามารถเข้าเรียนได้เลย ไม่ต้องรอเข้าเรียนในปีการศึกษาถัดไป
3.เพื่อให้สะดวกต่อการบริหารอัตรากำลัง เนื่องจากการเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน ซึ่งแต่เดิมกำหนดปิดภาคเรียนในวันที่ 11 ตุลาคม ส่งผลต่อการบริหารจัดการด้านอัตรากำลัง
4.เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีของสถานศึกษา
5.เพื่อให้นักเรียนชั้น ม.3 และ ม.6 มีโอกาสแก้ผลการเรียนให้จบทันปีการศึกษา โดยการเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 พฤษภาคม ทำให้นักเรียนที่มาแก้ผลการเรียนดำเนินการได้สะดวกกว่าการที่โรงเรียนเปิดวันที่ 16 พฤษภาคม
อีกทั้งยังลดความเลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะเปิดโอกาสให้นักเรียนได้จบการศึกษาเพิ่มขึ้น สามารถใช้วุฒิการศึกษาไปทำงานหรือเรียนต่อได้ทันปีการศึกษาถัดไป
นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่ไม่เห็นด้วย และยังมีความเห็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ ควรนับวันครบอายุเข้าเรียนตามปี พ.ศ. เพื่อให้เข้าเรียนในระดับชั้นอนุบาล และระดับชั้นประถมศึกษาได้อย่างเหมาะสม หรือควรกำหนดกรอบระยะเวลาเปิดภาคเรียนแบบยืดหยุ่นเพื่อให้สถานศึกษาบริหารจัดการตามบริบทและความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
โดยที่ประชุมได้มีการแสดงความคิดเห็นเรื่องดังกล่าวอย่างกว้างขวาง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ดังนั้นที่ประชุมจึงมอบหมายให้ สพฐ. ไปดำเนินการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานและส่วนราชการอื่นๆ รวมถึงโรงเรียนเอกชนเพิ่มเติม ทั้งนี้ ที่ประชุมส่วนใหญ่ ค่อนข้างเห็นด้วยกับการเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียนที่ 1 แต่ยังมีความกังวลเรื่องของการนับอายุเด็ก ซึ่งก็จะต้องนำความคิดเห็นที่ได้ไปทบทวน
รวมถึงยังต้องมีการศึกษาถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะหากประกาศใช้ระเบียบใหม่ ทุกหน่วยงานในสังกัด ศธ. จะต้องปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะเป็น สพฐ. อาชีวะศึกษา หรือกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ดังนั้นจึงต้องมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความรอบคอบมากที่สุด