“ดีเอสไอ” จ่อออกหมายเรียกกลุ่มรับโอน 400 ล้าน คดีโกงหุ้น STARK

12 ก.ค. 2567 | 07:06 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2567 | 07:06 น.

ดีเอสไอ-ปปง. ขยายผลคดีหุ้น STARK พบรับโอนเงินจากการกระทำผิด 7 ราย เฉียด 400 ล้าน ในจำนวนนี้เป็นผู้ต้องหาเดิมแค่ 2 ราย ส่วนอีก 5 เป็นหน้าใหม่ จ่อออกหมายเรียกเข้าให้ปากคำภายใน 2 สัปดาห์

หลังจากนายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตผู้บริหาร บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ผู้ต้องหาในคดีหุ้น STARK ได้ถูกนำตัวจากนครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2567  และเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้นำตัวนายชนินทร์ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาไปแล้ว โดยอัยการได้คัดค้านการให้ประกันตัว เพราะนายชนินทร์ มีพฤติการณ์หลบหนีมาก่อน และเกรงว่าจะหลบหนีอีก เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง

ผนวกกับนายชนินทร์เองไม่ประสงค์จะขอประกันตัว โดยอ้างเหตุผลด้านความปลอดภัย ศาลจึงได้ออกหมายขังส่งไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และได้นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 26 สิงหาคม 2567

นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ร่วมแถลงความคืบหน้าคดีทุจริตหุ้น STARK เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2567

พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รักษาการอธิบดีดีเอสไอเปิดเผยว่า หลังได้รับตัวนายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตผู้บริหาร STARK ผู้ต้องหารายสุดท้าย จากทางการประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา ขณะนี้มีการสั่งฟ้องดำเนินคดีและมีการนำตัวผู้ต้องหาควบคุมตัวไว้ภายในเรือนจำครบถ้วนทั้ง 11 ราย โดยที่ยังไม่มีใครได้รับการประกันตัว

พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รักษาการอธิบดีดีเอสไอ

ส่วนความคืบหน้าคดี จากการขยายผลเส้นทางการเงิน พบเงินไหลออกจากกลุ่มผู้กระทำความผิด 7 ราย รวมมูลค่า 380 ล้านบาท แบ่งเป็นบุคคลอื่น 5 ราย ส่วนอีก 2 รายเป็นผู้ต้องหาเดิมที่ถูกคุมตัวอยู่ในเรือนจำ บางรายมีการโอนเงิน 50 ล้านบาท บางราย 100 ล้านบาทเศษ ซึ่งการสืบสวนพบการโอนไปยังบัญชีในประเทศ ทั้งหมดจะต้องถูกสอบสวน แจ้งข้อหาเพิ่มเติม ซึ่งจะทยอยออกหมายเรียกให้เร็วที่สุด คาดว่าประมาณ 2 สัปดาห์

ขณะที่นายวิทยา นีติธรรม โฆษก คณะกรรมการปปง.กล่าวถึงการติดตามอายัดทรัพย์สินที่มีมูลค่ารวม 3,245 ล้านบาท ว่า โดยหลักกฎหมาย ปปง.จะต้องยื่นเรื่องเพื่อให้ทรัพย์เหล่านี้ตกเป็นของแผ่นดิน แต่กรณีทรัพย์สินเหล่านี้เป็นของผู้เสียหาย 

นายวิทยา นีติธรรม โฆษก คณะกรรมการปปง.

ดังนั้นสำนักงาน ปปง.จึงประกาศให้ผู้เสียหายยื่นขอคุ้มครองสิทธิ์ของตน ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย.2566 - 29 ก.พ.2567 รวมเวลา 90 วัน ซึ่งมีผู้ยื่นขอรับการคุ้มครองสิทธิ์ทั้งสิ้น 4,724 ราย แบ่งการคุ้มครองออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.หุ้นกู้ 2.หุ้นเพิ่มทุน 3.หุ้นสามัญ มีมูลค่าความเสียหายตามคำร้องที่มีการยื่นเข้ามา 15,900 ล้านบาท

จากนี้ไปจะมีการตรวจสอบว่า แต่ละรายเข้าหลักเกณฑ์การคุ้มครองฯ ตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ โดยตามกระบวนการ เมื่อสำนักงาน ปปง.รวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้นในส่วนนี้แล้ว จะสรุปเรื่องส่งให้คณะกรรมการธุรกรรม ของสำนักงาน ปปง.เพื่อให้มีมติยื่นส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อพนักงานอัยการส่งคำร้องต่อศาล เพื่อให้มีการคุ้มครองสิทธิ์ของผู้เสียหายต่อไป

ส่วนการพิจารณาคืนเงินงวดแรกให้กับผู้เสียหายนั้น ขึ้นอยู่ที่คำสั่งศาลถึงที่สุดใน 3 ศาล และขั้นตอนการพิจารณาคืนทรัพย์ให้ผู้เสียหาย จะพิจารณาตามสัดส่วนความเสียหายของแต่ละบุคคล อาจต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบ

“แต่ต้องขอเรียนตรงๆ ว่าไม่จบภายในปีนี้ เพราะผู้เสียหายมีความสามารถในการต่อสู้คดี” โฆษก ปปง.ระบุ และว่า คดีดังกล่าวมีการกระทำความผิดมาตั้งแต่ปี 2560 กว่าที่สำนักงาน ปปง. และดีเอสไอ จะทราบเรื่องก็ผ่านมาแล้วประมาณ 2 ปี อีกทั้งกลุ่มคนที่ร่วมในเครือข่ายเป็นผู้มีความรู้ มีการเตรียมความพร้อมพอสมควร จึงมีการโยกย้ายทรัพย์ต่างๆ อยู่แล้ว ซึ่งในกระบวนการติดตามทรัพย์ที่มีอยู่ทั้งในและต่างประเทศของ สำนักงาน ปปง. มีการทำงานติดตามกันอย่างใกล้ชิด

นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ โฆษกกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า หลังจากพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้แต่งตั้งนายพิชัย นิลทองคำ อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลาย เป็นประธานคณะทำงานศึกษาแผนประทุษกรรมจากกรณีการทุจริตการซื้อขายหุ้น บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “STARK”

นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ โฆษกกระทรวงยุติธรรม

ล่าสุด นายพิชัยแจ้งความประสงค์ขอถอนตัวจากการเป็นประธานคณะทำงานดังกล่าว เพื่อสร้างความสบายใจแก่ทุกฝ่าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจึงมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งเดิม และมีคำสั่งแต่งตั้ง นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นประธานคณะทำงานฯ คนใหม่

ขณะเดียวกันยังมีคำสั่งเพิ่มเติมคณะทำงาน ในส่วนของเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (เลขาฯ ก.ล.ต.), นายกสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย เข้าร่วมเป็นคณะทำงาน โดยมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายเดิม ต้องการถอดบทเรียนเพื่อป้องกันการกรณีทุจริตซื้อขายหุ้น ไม่เกิดเหตุซ้ำรอยอีก