พบ "พิชัย นิลทองคำ” ปธ.ศึกษาคดี STARK ถือหุ้นร่วมผู้ต้องหาคดีหุ้น MORE

26 มิ.ย. 2567 | 16:47 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มิ.ย. 2567 | 20:28 น.
3.9 k

ส่องการถือหุ้น “พิชัย นิลทองคำ” ประธานคณะทำงานพิเศษเพื่อศึกษาแผนประทุษกรรมในคดีสตาร์ค พบถือหุ้น “บริษัท เมย์พลัส ไมนิ่ง แอนด์ เคมิคอล จำกัด ร่วมกับ “วสันต์ จาวลา” หนึ่งในผู้ต้องหาคดีปั่นหุ้น MORE ซึ่งถูกกล่าวโทษและถูกอายัดทรัพย์สิน 

KEY

POINTS

  • พิชัย นิลทองคำ ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะทำงานพิเศษเพื่อศึกษาแผนประทุษกรรมในคดี STARK
  • พิชัย นิลทองคำ มีประสบการณ์ยาวนานในวงการกฎหมาย เคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาในหลายระดับ เป็นนักเขียนตำรากฎหมายที่มียอดจำหน่ายมากกว่า 1,000,000 เล่ม
  • พบข้อมูล "พิชัย นิลทองคำ" ถือหุ้นในบริษัท เมย์พลัส ไมนิ่ง แอนด์ เคมิคอล จำกัด ร่วมกับนายวสันต์ จาวลา หนึ่งในผู้ต้องหาคดีปั่นหุ้น MORE ซึ่งถูกกล่าวโทษและถูกอายัดทรัพย์สิน

ความเคลื่อนไหวล่าสุดในคดีบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ได้นำมาสู่การแต่งตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อศึกษาแผนประทุษกรรม โดยมี นายพิชัย นิลทองคำ อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลาย เป็นประธานคณะทำงาน สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของคดีนี้ต่อวงการการเงินและกฎหมายของไทย

นายพิชัย นิลทองคำ เป็นผู้มีประสบการณ์อันยาวนานในวงการกฎหมาย โดยเฉพาะด้านการฟื้นฟูกิจการและกฎหมายล้มละลาย จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโทด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา

ก่อนจะเริ่มอาชีพในฐานะอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และต่อมาได้ก้าวเข้าสู่วงการตุลาการ โดยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ตามลำดับ
 

นายพิชัย นิลทองคำ ได้ลาออกจากราชการในตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2561 

นายพิชัย เป็นที่รู้จักในแวดวงนักกฎหมายและเหล่านักศึกษาคณะนิติศาสตร์ โดยเขียนตำรากฎหมายออกมาแล้วมากมาย การันตีความเชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายด้วยยอดจำหน่ายตำรามากกว่า 1,000,000 เล่ม ตำราที่มีชื่อเสียง

ได้แก่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง, ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา, พระธรรมนูญศาลยุติธรรม, ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1-6, พระราชบัญญัติกฎหมายแรงงาน, พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง, พระราชบัญญัติล้มละลาย และพระราชบัญญัติสหกรณ์ เป็นต้น

นอกจากนักกฎหมายแล้ว จากการสืบค้นข้อมูลการถือหุ้นและการเป็นกรรมการของนายพิชัย นิลทองคำผ่าน ผ่านระบบบริการวิเคราะห์ข้อมูล

บริษัทครบวงจร Creden Data จากฐานข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า นายพิชัยถือหุ้นในบริษัทไม่น้อยกว่า 8 แห่ง ครอบคลุมธุรกิจหลากหลายประเภท ดังนี้

  1. บริษัท นิว แชปเตอร์ คอนซัลทิง จำกัด - ถือหุ้น 210,000 หุ้น คิดเป็น 30% ของหุ้นทั้งหมด บริษัทนี้มีกิจกรรมการให้เงินทุน รับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน รวมถึงการให้คำปรึกษาและดำเนินการด้านติดตามทวงถามหนี้สินและเจรจาหนี้ทุกประเภท
  2. บริษัท อัญมณีกาญจน์ จำกัด - ถือหุ้น 12,500 หุ้น คิดเป็น 2.5% ของหุ้นทั้งหมด บริษัทนี้ดำเนินกิจการเหมืองแร่ และยังคงดำเนินกิจการอยู่
  3. บริษัท อฑตยา จำกัด - ถือหุ้น 45,000 หุ้น คิดเป็น 90% ของหุ้นทั้งหมด ดำเนินธุรกิจขายปลีกและขายส่งหนังสือ และยังคงดำเนินกิจการอยู่
  4. บริษัท เมย์พลัส ไมนิ่ง แอนด์ เคมิคอล จำกัด - ถือหุ้น 1,000 หุ้น คิดเป็น 2% ของหุ้นทั้งหมด ดำเนินกิจการเหมืองแร่อโลหะและเหมืองหิน
  5. บริษัท เมย์ พลัส 2005 จำกัด - ถือหุ้น 10,000 หุ้น คิดเป็น 1% ของหุ้นทั้งหมด ดำเนินกิจการเหมืองสินแร่โลหะนอกกลุ่มสินแร่เหล็ก
  6. บริษัท เอ ซี ซี การเคหะ จำกัด - ถือหุ้น 40,000 หุ้น คิดเป็น 20% ของหุ้นทั้งหมด ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
  7. บริษัท กลางเวียงเชียงใหม่ จำกัด - ถือหุ้น 1 หุ้น คิดเป็น 40% ของหุ้นทั้งหมด ดำเนินธุรกิจซื้อขายที่ดินและอสังหาริมทรัพย์
  8. บริษัท เชียงไหม จำกัด - ถือหุ้น 119,899 หุ้น คิดเป็น 99.92% ของหุ้นทั้งหมด ดำเนินธุรกิจโรงแรม รีสอร์ทและห้องชุด

นอกจากนี้ นายพิชัยยังดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทสองแห่ง ได้แก่ บริษัท อฑตยา จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจขายปลีกและขายส่งหนังสือ และบริษัท เชียงไหม จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท และห้องชุด

 

พบ \"พิชัย นิลทองคำ” ปธ.ศึกษาคดี STARK ถือหุ้นร่วมผู้ต้องหาคดีหุ้น MORE

 

ถือหุ้นบริษัทเดียวกับ "ผู้ต้องหาคดีปั่นหุ้น MORE"

สิ่งที่น่าสนใจคือ นายพิชัย ถือหุ้นในบริษัท เมย์พลัส ไมนิ่ง แอนด์ เคมิคอล จำกัด ร่วมกับนาย “วสันต์ จาวลา” หนึ่งในผู้ต้องหาคดีปั่นหุ้น MORE ที่ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษและถูกปปง.มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินจำนวน 159.74 ล้านบาท

โดยนายวสันต์ จาวลา ถือหุ้นใน บริษัท เมย์พลัส ไมนิ่ง แอนด์ เคมิคอล จำกัด จำนวน 16,250 หุ้น หรือ 32.50 %  ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
การกระทำความผิดในกรณีสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ของ บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) เกิดขึ้นจากการร่วมมือของบุคคล 18 ราย รวมถึงนายวสันต์ จาวลา

โดยมีผู้กระทำความผิดอื่นๆคดีหุ้น MORE ได้แก่ นายอภิมุข บำรุงวงศ์, นายเอกภัทร พรประภา, นายอธิภัทร พรประภา, นางอรพินธุ์ พรประภา, นายประยูร อัสสกาญจน์, Mr. Shubhodeep Prasanta Das, บริษัท ตงฮั้ว แคปปิตอล จำกัด, บริษัท ตงฮั้ว มีเดีย แล็บ จำกัด, นายสมนึก กยาวัฒนกิจ, นางสาวจิระวรรณ ไชยพงศ์ผาติ, นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา, นางสาวอัยลดา ชินวัฒน์, นางสาวสุร์ศิริ ปรีดาสุทธิจิตต์, นายอิทธิวรรธน์ วรรณะเอี่ยมพิกุล, นายมั่นคง เสถียรถิระกุล, นายโสภณ วราพร, และนายอมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ

ความคืบหน้าคดีหุ้น MORE

ความคืบหน้าคดีหุ้น MORE เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะสอบสวนจาก ดีเอสไอ นำสำนวนคดีปั่นหุ้น MORE พร้อมสำนวนสั่งฟ้องผู้ต้องหา 42 คน ส่งให้อัยการสำนักงานคดีพิเศษ เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย

เนื่องจากพบการร่วมกันในการสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ MORE โดยการแบ่งหน้าที่ และการส่งคำสั่งซื้อขายที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นการกระทำที่ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ของ MORE ผิดปกติและส่งผลให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อขาย ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 244/3 (1) และ (2) รวมถึงมาตรา 244/5 และ 244/6 โดยค่าเสียหายประมาณ 800 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังพบว่าการกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าว ยังเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงบริษัทหลักทรัพย์ มูลค่าความเสียหายกว่า 4,500 ล้านบาท อีกฐานหนึ่ง รวมถึงความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 มาตรา 209 และมาตรา 210 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

ต้องจับตาดูว่าการแต่งตั้งนายพิชัย นิลทองคำ เป็นประธานคณะทำงานพิเศษเพื่อศึกษาแผนประทุษกรรม STARK ครั้งนี้ จะนำมาสู่คำถามเกี่ยวกับความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งประธานคณะทำงานในคดี STARK นี้หรือไม่