กมธ. เตรียมสรุปมาตรการคุม "บุหรี่ไฟฟ้า" ในไทย มุ่งป้องกันเด็ก-เยาวชน

10 ธ.ค. 2567 | 11:34 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ธ.ค. 2567 | 11:34 น.

กมธ. เตรียมสรุปมาตรการคุม "บุหรี่ไฟฟ้า" ในไทย มุ่งป้องกันเด็ก-เยาวชน หลังเริ่มมาตั้งแต่ ก.ย. 66 เชิญหน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ตัวแทนสมาคมแพทย์ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมแสดงความคิดเห็น 

นายทศพร ทองศิริ อดีต ส.ส.กรุงเทพมหานคร ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการชี้แจงความคืบหน้าการทำงานของ กมธ. ผ่านเวทีเสียงประชาชน รัฐบาลและรัฐสภารวมพลังคนไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า ว่า คณะกรรมาธิการฯ เริ่มดำเนินงานตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 โดยเชิญหน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ตัวแทนสมาคมแพทย์ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้า มาร่วมแสดงความคิดเห็น 

ทั้งนี้ ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการ 2 คณะ เพื่อพิจารณากฎหมายและรวบรวมข้อมูล ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนสรุปผลและจัดทำรายงาน

สำหรับรายงานฉบับดังกล่าวจะเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา 3 ทางเลือก ประกอบด้วย 

  • การคงการแบนบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบใช้ความร้อน พร้อมเพิ่มมาตรการปราบปรามเข้มงวด 
  • การคงการแบนบุหรี่ไฟฟ้าแต่ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบใช้ความร้อน 
  • การควบคุมผลิตภัณฑ์ทั้งสองแบบภายใต้กฎหมาย”

 อย่างไรก็ดี การศึกษานโยบายบุหรี่ไฟฟ้าที่ผ่านมา มีการดำเนินงานอย่างโปร่งใส มีการพิจารณาข้อมูลจากทุกฝ่าย คณะกรรมาธิการประกอบด้วยสมาชิก 35 คน มาจากทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ข้อกล่าวหาที่ว่าการทำงานของ กมธ. ถูกแทรกแซงโดยกลุ่มอุตสาหกรรมยาสูบจึงเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เป็นการกล่าวอ้างที่ไร้ความรับผิดชอบ 

กมธ. เห็นว่าวิธีที่ดีที่สุดในการศึกษาประเด็นต่างๆ คือการรวมความเห็นและข้อมูลจากทุกกลุ่ม เพื่อให้แน่ใจว่ารายงานจะครบถ้วน รอบด้าน สมบูรณ์ ดังนั้น การรวมมุมมองที่หลากหลาย รวมถึงมุมมองของผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า จึงเป็นส่วนสำคัญในการพิจารณานโยบายและกฎระเบียบที่เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าอย่างสมดุล เหมาะสม และทั่วถึง
 
 

นายทศพร ยังกล่าวถึงความกังวลเรื่องการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนด้วยว่า กำลังเป็นที่กังวลของคนในสังคม ซึ่ง กมธ. จะฟังเสียงของประชาชน และเป็นหน้าที่ที่ต้องแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่รอบคอบและมีประสิทธิภาพ โดยเข้าใจและรับฟังข้อเสนอของฝ่ายสุขภาพ แต่ก็ต้องพิจารณามิติในด้านอื่นให้รอบด้าน ไม่สามารถมองเฉพาะมิติด้านสุขภาพเพียงอย่างเดียวได้ ยกตัวอย่างเช่น 

มิติทางเศรษฐกิจ มิติทางสังคม มิติทางกฏหมายและการบังคับใช้ เป็นต้น ต้องดูทั้งบริบทในประเทศ และตัวอย่างจากประเทศที่ทั้งควบคุมให้ถูกกฎหมาย จึงต้องการให้นำเรื่องนี้มาช่วยกันพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหา แต่ต้องการให้ใช้กลไกของรัฐสภาในการพูดคุยกันอย่างมีเหตุผลมากกว่าที่จะผลักให้ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ากลายเป็นอาชญากรที่ทำผิดกฎหมาย