เปิด 9 ความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับ "บุหรี่ไฟฟ้า" ชี้อันตรายพอกับการสูบบุหรี่

07 ส.ค. 2567 | 15:37 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ส.ค. 2567 | 15:37 น.

เปิด 9 ความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับ "บุหรี่ไฟฟ้า" ชี้อันตรายพอกับการสูบบุหรี่ ระบุไม่ได้ปราศจากอันตรายโดยสิ้นเชิง และเหมาะสำหรับผู้สูบบุหรี่ที่เป็นผู้ใหญ่ เพื่อสนับสนุนการเลิกสูบบุหรี่เท่านั้น

หน่วยบริการสุขภาพสหราชอาณาจักรเปิดเผยถึง 9 ความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากปัจจุบันมีข้อมูลมากมายที่อาจสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้คนในสังคมเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า 

ทั้งนี้ การใช้บุหรี่ไฟฟ้านั้นไม่ได้ปราศจากอันตรายโดยสิ้นเชิง และเหมาะสำหรับผู้สูบบุหรี่ที่เป็นผู้ใหญ่ เพื่อสนับสนุนการเลิกสูบบุหรี่เท่านั้น

การใช้บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายพอๆ กับการสูบบุหรี่

  • ข้อเท็จจริง: แม้การสูดนำเอาไอระเหยนิโคตินจะไม่ได้ปราศจากความเสี่ยงโดยสิ้นเชิง แต่ก็นับว่าเป็นอันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่อย่างมาก ในปี 2022 ผู้เชี่ยวชาญในสหราชอาณาจักรได้ตรวจสอบหลักฐานจากหลายประเทศและพบว่า ในระยะสั้นและระยะกลาง การใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงเพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้นเมื่อเทียบกับความเสี่ยงจากการสูบบุหรี่ โดยบุหรี่จะปล่อยสารเคมีหลายพันชนิดออกมาเมื่อเผาไหม้ หลายชนิดมีพิษ และกว่า 70 ชนิดก่อให้เกิดมะเร็ง สารเคมีอันตรายส่วนใหญ่ในควันบุหรี่ รวมทั้งน้ำมันดินและคาร์บอนมอนอกไซด์นั้นไม่พบในไอละอองจากบุหรี่ไฟฟ้า ผู้ที่เปลี่ยนจากการสูบบุหรี่เป็นบุหรี่ไฟฟ้าโดยสมบูรณ์จะสามารถลดการสัมผัสกับสารพิษที่ส่งผลต่อความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งโรคปอด โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองอย่างมีนัยสําคัญ

นิโคตินเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก

  • ข้อเท็จจริง: แม้ว่านิโคตินจะเสพติด แต่ก็แทบไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เมื่อเปรียบเทียบกับสารอื่นๆ ในควันบุหรี่ มีสารเคมีที่เป็นพิษมากมายในควันบุหรี่ที่ก่อให้เกิดอันตราย นิโคตินเองไม่ใช่ตัวการหลักในการก่อให้เกิดมะเร็ง โรคปอด โรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมอง และถูกนํามาใช้อย่างปลอดภัยเป็นเวลาหลายปีในยา เพื่อช่วยให้ผู้คนเลิกสูบบุหรี่

เปิด 9 ความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับ "บุหรี่ไฟฟ้า" ชี้อันตรายพอกับการสูบบุหรี่

การใช้บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่

  • ข้อเท็จจริง: บุหรี่ไฟฟ้าที่มีนิโคตินเป็นหนึ่งในตัวช่วยเลิกบุหรี่ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้าที่มีนิโคตินนั้น มีประสิทธิภาพมากกว่าการบําบัดทดแทนด้วยนิโคตินชนิดอื่นๆ เช่น แผ่นแปะนิโคติน หรือหมากฝรั่งนิโคติน บางคนพบว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าช่วยพวกเขาได้ เพราะพฤติกรรมการบริโภค เช่น การยกมือขึ้นจรดปากนั้นมีความคล้ายคลึงกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ รวมไปถึงความรู้สึกผ่านคอของไอละออง สิ่งสําคัญคือต้องเลือกน้ำยาที่มีระดับนิโคตินเพียงพอที่จะสามารถลดอาการจากการถอนนิโคตินและความต้องการสูบบุหรี่ ข้อมูลระบุว่า กว่า 2 ใน 3 ของผู้ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าพร้อมกับการสนับสนุนจากบริการการช่วยเลิกบุหรี่ในระดับท้องถิ่นประสบความสําเร็จในการเลิกสูบบุหรี่
     

การเปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้า เป็นเพียงการเปลี่ยนจากการเสพติดสิ่งอันตรายหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นอันตรายเหมือนกัน

  • ข้อเท็จจริง:  แม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะมีสารเสพติดเช่นเดียวกับบุหรี่ แต่การใช้บุหรี่ไฟฟ้านั้นอันตรายน้อยกว่ามาก การสูบบุหรี่ให้นิโคตินโดยการเผาใบยาสูบ ซึ่งสร้างสารพิษที่เป็นอันตรายมากมายที่อาจทําให้เกิดโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง โรคปอด โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง ขณะที่บุหรี่ไฟฟ้าให้นิโคตินผ่านการให้ความร้อนกับน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเทียบกันแล้วอันตรายน้อยกว่ามาก บุหรี่ไฟฟ้าทําให้ผู้ใช้ได้รับสารพิษในระดับที่น้อยกว่าอันตรายจากการสูบบุหรี่ เมื่อผู้สูบบุหรี่พร้อมและมั่นใจว่าจะไม่กลับไปสูบบุหรี่ ก็สามารถค่อยๆ ลดความเข้มข้นของระดับนิโคตินในน้ำยาได้ รวมถึงปรับลดความถี่ในการใช้บุหรี่ไฟฟ้าจนกว่าจะสามารถหยุดการใช้นิโคตินได้โดยสมบูรณ์

คนใช้บุหรี่ไฟฟ้าถี่กว่าบุหรี่ ซึ่งแปลว่ามันแย่กว่าการสูบบุหรี่

  • ข้อเท็จจริง: เป็นเรื่องปกติที่คนจะใช้บุหรี่ไฟฟ้าถี่กว่าความถี่ที่เคยชินตอนสูบบุหรี่ และสิ่งนี้ไม่ได้เป็นอันตรายมากกว่า เมื่อเทียบกับหนึ่งครั้งของการสูบควันจากบุหรี่ การหายใจนำไอละอองจากบุหรี่ไฟฟ้าเข้าไปนั้นมีความเสี่ยงน้อยกว่ามาก ลักษณะการนำส่งนิโคตินไปยังสมองจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่มวนนั้นมีลักษณะที่แตกต่างกัน หากเป็นการสูบบุหรี่ นิโคตินจะถูกนำส่งภายในระยะเวลาที่สั้น ขณะที่บุหรี่ไฟฟ้าจะใช้เวลานานกว่าในการนำส่งนิโคตินไปสู่สมอง และทำให้ผู้ใช้เหมือนกับกำลังค่อยๆ จิบ บุหรี่ไฟฟ้าในความถี่ที่สูงกว่า 

บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้รับการควบคุมและเราไม่รู้ว่ามีอะไรอยู่ในนั้น

  • ข้อเท็จจริง: ในสหราชอาณาจักร ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าได้รับการควบคุมภายใต้กฎหมายอย่างเข้มงวดเพื่อความปลอดภัยและการรับรองคุณภาพ ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่จำหน่ายจะต้องทำการจดแจ้งไปยังหน่วยงานกํากับดูแลยาและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ (MHRA) พร้อมระบุข้อมูลโดยละเอียดรวมถึงรายการส่วนผสมทั้งหมด

บุหรี่ไฟฟ้าทําให้เกิดโรคปอดป็อปคอร์น

  • ข้อเท็จจริง: บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ก่อให้เกิดโรคปอดป็อปคอร์น ซึ่งเป็นชื่อสามัญของโรคหายากที่เรียกว่า Bronchiolitis Obliterans โรคนี้พบในกลุ่มคนงานในโรงงานที่สัมผัสกับสารเคมี Diacetyl ที่ใช้ในการปรุงรสข้าวโพดคั่ว โดย Diacetyl มีอยู่ในควันบุหรี่ แต่เป็นส่วนผสมที่ถูกห้ามในบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาที่ควบคุมโดยกฎหมายของสหราชอาณาจักร

การสัมผัสกับไอละอองจากบุหรี่ไฟฟ้านั้นเป็นอันตรายต่อคนรอบข้าง

  • ข้อเท็จจริง: จนถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อคนรอบข้าง แม้ว่าควันบุหรี่มือสองจากบุหรี่จะก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อผู้อื่น แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อคนรอบข้าง และความเสี่ยงอื่นๆ ก็คาดว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก แต่เพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อน เป็นการดีที่สุดที่จะไม่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าขณะที่มีเด็กและเยาวชนอยู่ใกล้ๆ เนื่องจากเด็กเล็กมักลอกเลียนแบบสิ่งที่ผู้ใหญ่ทํา รวมถึงควรพิจารณาและคำนึงถึงผู้อื่นเสมอเมื่อใช้บุหรี่ไฟฟ้าในบริเวณที่มีผู้อื่นอยู่ด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะสุขภาพ เช่น โรคหอบหืด ที่อาจไวต่อไอละอองของบุหรี่ไฟฟ้าเป็นพิเศษ

บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้งสามารถให้นิโคตินได้มากเทียบเท่าบุหรี่ถึง 40 หรือ 50 มวน

  • ข้อเท็จจริง: บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้งที่ได้มาตรฐานของสหราชอาณาจักรนั้นให้นิโคตินในปริมาณที่ใกล้เคียงกับบุหรี่ 20 มวน บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้งที่ควบคุมโดยกฎหมายสหราชอาณาจักรนั้น สามารถมีระดับนิโคตินได้สูงสุดที่ 20 มก./มล. โดยประกอบด้วยของเหลว 2 มล. และนิโคติน 40 มก. ซึ่งทำให้สามารถนำส่งนิโคตินให้แก่ผู้ใช้ได้โดยเฉลี่ยประมาณ 20 มก. ขณะที่บุหรี่ 20 มวนหรือหนึ่งซองนั้นมีนิโคติน 200 ถึง 300 มก. และผู้สูบจะได้รับนิโคตินโดยเฉลี่ยเพียง 20 ถึง 30 มก.