นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า ได้ดำเนินการส่งชุดตรวจการณ์ของกระทรวงฯ เข้าตรวจสอบบริษัทแห่งหนึ่งใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่ได้ขยายผลมาจากโฆษณาขายเหล็กเส้นบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในราคาถูกกว่าความเป็นจริง ซึ่งก็พบว่ามีการผลิตเหล็กเส้นที่ไม่ได้มาตรฐานตามข้อร้องเรียน
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ สมอ. ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเข้าตรวจสอบภายในโรงงาน และโกดังสินค้าสามารถยึดอายัดเหล็กเส้นที่ไม่ได้มาตรฐานน้ำหนักหมื่นกว่าตัน มูลค่ากว่า 200 ล้านบาท รวมถึงสั่งให้บริษัทเรียกคืนสินค้าที่จำหน่ายไปกลับคืนมา และดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดต่อไป
สำหรับสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเหล็กเส้นที่ไม่ได้มาตรฐานเหล่านี้ เป็นส่วนประกอบสำคัญทั้งเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต เหล็กข้ออ้อย ที่ใช้ในการหล่อเป็นตัวเสาหรือตัวคาน สำหรับงานก่อสร้างอาคาร, คอนโดมิเนียม, ถนนคอนกรีต และสะพาน ซึ่งล้วนแล้วแต่สุ่มเสี่ยงให้เกิดโศกนาฏกรรมร้ายแรงกับพี่น้องประชาชน จึงต้องเร่งจับกุมปราบปราม
และบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด รวมทั้งในส่วนของแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ปล่อยให้มีการโฆษณาขายสินค้าไม่ได้มาตรฐานก็จะถูกดำเนินคดีด้วย เพราะถือว่ามีความผิดในฐานะ ผู้โฆษณา และร่วมจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน มีโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“ขอความร่วมมือแพลตฟอร์มออนไลน์ช่วยกันตรวจสอบบัญชีผู้ใช้ที่ขายของบนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างเคร่งครัดทั้งนี้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆสามารถประสานมายัง สมอ.ในการเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อการตรวจสอบสินค้าไม่ได้มาตรฐาน โดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของ สมอ. รวมถึงให้คำแนะนำและบริการ เพื่อให้ผู้บริการต่างๆและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็วและเชื่อถือได้จาก สมอ.”
อย่างไรก็ดี จากการสอบสวนเบื้องต้นพบว่า บริษัทคนไทยที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี แห่งนี้ จดทะเบียนเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้องกับทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) แต่กลับผลิตสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน และแสดงเครื่องหมายมาตรฐานกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานเพื่อจำหน่าย
โดยทราบว่าได้รับการว่าจ้างจากกลุ่มทุนชาวจีน ชื่อ บริษัท เวล เอสทาบลิช จำกัด โดย นายเย้ โยวหลิน ให้ผลิตเหล็กไม่ได้มาตรฐานเพื่อจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งโทษฐานกระทำความผิดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และฝ่าฝืนมาตรา 35 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และฝ่าฝืนมาตรา 36 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“ภารกิจดังกล่าวบูรณาการความร่วมมือจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าตรวจสอบโรงงานในเรื่องของการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายโรงงาน และกฎหมายการนิคมฯ หรือไม่ และจากการตรวจสอบพบว่า โรงงานแห่งนี้มีการประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีความผิดตามมาตรา 8 พ.ร.บ. โรงงาน จึงต้องดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด”