ไฟไหม้รถบัส “สุริยะ” ลุยตั้งกองทุนเยียวยา-ประกันภัยรถ 2.4 ล้านต่อราย

02 ต.ค. 2567 | 15:08 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ต.ค. 2567 | 15:17 น.

“สุริยะ” สั่งตั้งกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย เยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต-ผู้ได้รับบาดเจ็บ วงเงิน 2.4 ล้านบาทต่อราย สั่งพักใช้ใบอนุญาตผู้ประกอบการรถ จ่อเรียกรถโดยสารสาธารณะติดตั้งเชื้อเพลิง CNG ตรวจสภาพรถทุกคัน

นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากข้อสั่งการของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้ตนสั่งการให้คณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย ประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณา

สำหรับการประชุมครั้งนี้เพื่อให้ความช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์รถโดยสารไม่ประจำทาง 30-0423 สิงห์บุรี (รถโดยสารชั้นเดียว ปรับอากาศ) มีผู้โดยสารเป็นนักเรียนจำนวน 39 คน และครูจำนวน 6 คน เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต หน้าเซียร์รังสิต ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 

ทั้งนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 23 ราย (รอการยืนยันอัตลักษณ์) (นักเรียน 20 ราย ครู 3 ราย), บาดเจ็บ (Admit) ได้แก่ นักเรียน 3 ราย และกลับบ้าน ได้แก่ นักเรียน 16 ราย และครู 3 ราย รวม 19 ราย จากเหตุดังกล่าวนั้นรัฐบาลจะดูแลค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และเยียวยา พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และหาแนวทางป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำขึ้นอีก

“ผมขอแสดงความเสียใจต่อบิดา มารดา ครอบครัวและญาติของเด็กนักเรียนและครูที่เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บทุกคน พร้อมทั้งขอเป็นกำลังใจให้ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ได้หายเจ็บป่วยโดยเร็ว” นายสุริยะ กล่าว

สำหรับการเยียวยาต่อครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิต และบาดเจ็บนั้น จากการหารือร่วมกับคณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี เบื้องต้นผู้เสียชีวิตจะได้รับการเยียวยา รวม 2,400,000 บาท ประกอบด้วย กระทรวงยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ 
 

ส่วนกรณีเสียชีวิต 200,000 บาท, กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี กรณีเสียชีวิต 1,000,000 บาท, กระทรวงศึกษาธิการ กรณีเสียชีวิต 180,000 บาท, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กองทุนคุ้มครองเด็ก มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ เยียวยา 10,000 บาท กรณีเสียชีวิต 10,000 บาท

นอกจากนี้รถโดยสารคันดังกล่าว ได้ทำประกันภาคบังคับ (พ.ร.บ.) บริษัท วิริยะประกันภัย จากัด (มหาชน) ซึ่งผู้เสียชีวิต จะได้รับค่าเสียหาย รายละ 500,000 บาท, ผู้ได้รับบาดเจ็บ จะได้รับค่ารักษาพยาบาลรายละไม่เกิน 80,000 บาท/ราย (รวมแล้วไม่เกิน 10 ล้านบาท/ครั้ง) 

ขณะเดียวกันยังมีประกันภัยภาคสมัครใจโดย บริษัท มิตรแท้ประกันภัย จำกัด (มหาชน) นั้น ผู้เสียชีวิต หรือ ผู้ได้รับบาดเจ็บ จะได้รายละไม่เกิน 500,000 บาท/ราย (รวมแล้วไม่เกิน 10 ล้านบาท/ครั้ง) ส่วนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะมีกองทุนเพื่อเยียวยาเพิ่มเติมอีกต่อไป

ไฟไหม้รถบัส “สุริยะ” ลุยตั้งกองทุนเยียวยา-ประกันภัยรถ 2.4 ล้านต่อราย

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ จากการรายงานของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ระบุว่า รถคันเกิดเหตุเป็นรถโดยสารชั้นเดียว ยางล้อหน้าทั้งซ้ายและขวาไม่พบร่องรอยการระเบิด ประตูฉุกเฉินด้านหลังขวาสามารถใช้งานได้ มีอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยครบ ได้แก่ ประตูฉุกเฉิน ทางออกฉุกเฉิน ถังดับเพลิง ค้อนทุบกระจก

ด้านทีมสอบสวนอุบัติเหตุกรมการขนส่งทางบกจะร่วมกับกองพิสูจน์หลักฐานทำการลงพื้นที่ตรวจสอบเชิงลึกในวันนี้ (2 ตุลาคม 2567) โดยใช้เครื่องมือในการตัด ถ่าง ยกรถ ถอดล้อ เพื่อตรวจสอบการติดตั้งก๊าซ CNG ระบบห้ามล้อ ระบบบังคับเลี้ยว เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดเพลิงไหม้
 

ส่วนมาตรการการบังคับใช้กฎหมายในส่วนของผู้ประกอบการขนส่งและผู้ขับรถ โดย ขบ.ได้สั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบการขนส่งของนางสาวปาณิสรา ชินบุตร ในทันที และหากตรวจสอบพบว่าสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุเกิดจากความบกพร่องผู้ประกอบการขนส่ง จะทำการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่งต่อไป 

ขณะเดียวกันยังได้สั่งพักใช้ใบอนุญาตขับรถของนายสมาน จันทร์พุฒ ในทันที และหากตรวจสอบพบว่าสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุเกิดจากผู้ขับรถจะทำการเพิกถอนใบอนุญาตขับรถต่อไป อีกทั้งสั่งยกเลิกการขึ้นทะเบียนเป็นบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง (TSM) ของนางกนิษฐา ชินบุตร พร้อมทั้งตรวจสอบการดำเนินงานของสถานติดตั้งตรวจและทดสอบรถที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง บริษัท ออลเทอร์เนทีฟ รีซอส เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด หากพบว่ามีความผิดจะเพิกถอนหนังสือรับรองฯ ต่อไป

สำหรับมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำนั้น ขบ. เตรียมเรียกรถโดยสารสาธารณะที่ติดตั้งเชื้อเพลิง CNG ทั้งหมด เข้ารับการตรวจสภาพระบบเชื้อเพลิง CNG ซ้ำ ณ สำนักงานขนส่งทั่วประเทศ รวมถึงกำหนดมาตรฐานการใช้รถโดยสารสาธารณะไปทัศนศึกษา กล่าวคือ การเลือกใช้ผู้ประกอบการขนส่งและยานพาหนะที่เหมาะสมกับการใช้งาน โดยสำนักงานขนส่งจังหวัดจะให้ความร่วมมือในการพิจารณาคัดเลือก 

ด้านมาตรการในการเดินทางสำหรับเด็กนักเรียนให้เกิดความปลอดภัย เช่น สัดส่วนครูต่อนักเรียนในการเดินทาง แนะนำการใช้อุปกรณ์นิรภัย (เข็มขัดนิรภัย ค้อนทุบกระจก ทางออกฉุกเฉิน ถังดับเพลิง เป็นต้น) 

ทั้งนี้การปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน จะต้องมีการวางแผนการเดินทางโดยบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง TSM ได้แก่ การเลือกเส้นทาง การกำหนดจุดพัก การตรวจสภาพความพร้อมของรถและผู้ขับรถ พร้อมด้วยบูรณาการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ จัดทำคู่มือและให้สำนักงานขนส่งจังหวัดให้คำแนะนำ แก่โรงเรียนต่าง ๆ