ไฟไหม้รถบัส “กรมขนส่ง” จ่อรื้อกฎหมายใบอนุญาต-ตรวจสภาพรถ 1.3 หมื่นคัน

02 ต.ค. 2567 | 14:35 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ต.ค. 2567 | 14:40 น.

“คมนาคม” ถก กรมขนส่งทางบก ดัน 5 มาตรการเยียวยา เหตุไฟไหม้รถบัส สั่งตรวจสภาพรถ NGV จำนวน 1.3 หมื่นคัน ภายใน 2 เดือน คาดได้ข้อสรุปภายในเดือน พ.ย.นี้ เตรียมศึกษากฎหมายด้านจราจรใหม่ หวั่นซ้ำรอยเดิม

นายสุรพงษ์  ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมมาตรการ แนวทางป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและรายงานข้อมูลกรณีการเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้รถบัส ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 เวลาประมาณ 12.08 น. ได้เกิดเหตุรถโดยสารไม่ประจำทางหมายเลขทะเบียน 30-0423 สิงห์บุรี (รถโดยสารชั้นเดียว ปรับอากาศ) บรรทุกเด็กนักเรียนและครูจำนวน 45 ราย เดินทางออกจากจังหวัดอุทัยธานี

 ขณะเดียวกันเมื่อถึงจุดเกิดเหตุบริเวณถนนวิภาวดีรังสิต หน้าเซียร์รังสิต รถคันดังกล่าวได้เกิดเสียหลักไปเฉี่ยวชนกับรถเก๋ง และไถลเบียดกับแบริเออร์ที่อยู่กลางเกาะถนนวิภาวดี จากนั้นจึงเกิดเพลิงไหม้อย่างรุนแรงเสียหายทั้งคัน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 23 ราย บาดเจ็บ 3 ราย นั้น รถโดยสารคันที่เกิดเหตุเป็นรถโดยสารชั้นเดียวมาตรฐาน 1 (ข) ปรับอากาศ โดยล่าสุดกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้ยกเลิกการประกอบการของผู้ประกอบการรถคันที่เกิดเหตุทั้งหมดแล้ว

ไฟไหม้รถบัส “กรมขนส่ง” จ่อรื้อกฎหมายใบอนุญาต-ตรวจสภาพรถ 1.3 หมื่นคัน

“กระทรวงคมนาคมขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ วันนี้เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยกระดับมาตรฐานทุกมิติ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก และฝากถึงผู้ประกอบการขอให้ช่วยตรวจสอบรถ พนักงานขับรถ และผู้ประจำรถ ให้เข้มข้นยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียอีกต่อไป” นายสุรพงษ์ กล่าว

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า จากการประชุมในครั้งนี้ได้สั่งการให้กรมขนส่งฯ ออกมาตรการเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำรอยเดิม คาดว่าจะตรวจสภาพรถทั้งหมดแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน หรือภายในเดือนพ.ย.นี้   
 

สำหรับมาตรการเร่งด่วน ดังนี้ 1.ให้กรมขนส่งตรวจสอบสภาพรถประเภท NGV โดยใช้ถังแก๊ส CNG ทั้งหมด จำนวน 13,426 คัน แบ่งเป็น รถประจำทาง จำนวน 10,491 คัน และรถไม่ประจำทาง ประเภท 30 จำนวน 2,935 คัน หากพบว่ารถดังกล่าวไม่ผ่านการตรวจสภาพจะถูกยึดใบอนุญาตรถทันที 

2.ให้กรมขนส่งออกกฎระเบียบของรถไม่ประจำทางประเภท 30 โดยกำหนดให้มีพนักงานประจำรถเช่นเดียวกับรถโดยสารประจำทาง ซึ่งต้องได้รับการอบรมและผ่านการทดสอบหลักสูตรการเผชิญเหตุและการช่วยเหลือผู้โดยสาร (Crisis Management) 

3.ให้กรมขนส่งสั่งการไปยังกรมขนส่งจังหวัดทำหนังสือถึงสถานศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศ กรณีนำรถเช่าเหมาหรือรถโดยสารไม่ประจำทางไปใช้บริการ หากมีความจำเป็นต้องเดินทางทัศนศึกษาตามหลักสูตร ต้องดำเนินการประสานความร่วมมือกับกรมขนส่งฯจังหวัด ในการตรวจสภาพรถ ทั้งนี้ต้องได้รับใบอนุญาตมาตฐานความปลอดภัยจากกรมขนส่งฯก่อนออกเดินทางทุกคัน 

ไฟไหม้รถบัส “กรมขนส่ง” จ่อรื้อกฎหมายใบอนุญาต-ตรวจสภาพรถ 1.3 หมื่นคัน

4.สั่งการให้กรมขนส่ง ศึกษากฎหมายเก่าเกี่ยวกับการจราจร เช่น การทบทวนอายุการใช้งานรถก่อนออกเดินทาง ฯลฯ โดยกำหนดให้รถโดยสารไม่ประจำทาง ประเภท 30 มีการสาธิตวิธีการและแนะนำการเอาตัวรอดขณะเกิดเหตุบนรถโดยสารเหมือนการสาธิตในรูปแบบเดียวกับบนเครื่องบิน เนื่องจากในปัจจุบันไม่มีข้อบังคับในเรื่องดังกล่าว 

5.ยกระดับมาตรฐานการประกอบการขนส่งรถโดยสารไม่ประจำทาง ประเภท 30 ทั้งระบบ เช่น การประกอบการ การตรวจสภาพ การให้บริการ
 

นายจิรุตม์  วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า สำหรับการตรวจสอบสภาพรถและการตรวจสอบถังแก๊ส CNG นั้น ตามปกติกรมฯจะมีการตรวจสภาพรถ 2 ครั้งต่อปี โดยกำหนดให้ในรอบปีการชำระภาษีรถผู้ประกอบการต้องผ่านการตรวจสภาพจากวิศวกรผู้ดูแล 1 ครั้ง และเมื่อครบสิ้นปีการชำระภาษีรถต้องผ่านการตรวจสภาพรถจากกรมฯ อีก 1 ครั้ง เช่น รอยรั่วของก๊าซ,อายุการใช้งาน ตลอดจนการตรวจเช็คการเสียดสีของถังแก๊ส 

ไฟไหม้รถบัส “กรมขนส่ง” จ่อรื้อกฎหมายใบอนุญาต-ตรวจสภาพรถ 1.3 หมื่นคัน

ทั้งนี้ตามมติคณะกรรมการกรมขนส่งทางบกกลาง  ได้กำหนดอายุรถโดยสารประจำทาง ดังนี้  1.รถโดยสารประจำทาง ที่มีระยะทางไม่เกิน 300 กม. กำหนดให้มีอายุการใช้งานของเลขตัวถังที่ติดภายในรถ (คัสซีรถ) ไม่เกิน 40 ปี และรถโดยสารประจำทาง ที่มีระยะทางไม่เกิน 300-500 กม. กำหนดให้มีอายุการใช้งานของเลขตัวถังที่ติดภายในรถ (คัสซีรถ) ไม่เกิน 35 ปี 

ส่วนโดยสารประจำทาง ที่มีระยะทางเกิน 500 กม. กำหนดให้มีอายุการใช้งานของเลขตัวถังที่ติดภายในรถ (คัสซี) รถไม่เกิน 30 ปี ส่วนรถไม่ประจำทาง ประเภท 30 พบว่าปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดอายุการใช้งานของเลขตัวถังที่ติดภายในรถ (คัสซี) 

อย่างไรก็ตามในปี 2558 หากนำรถที่เอามาบรรจุมีอายุเกินกำหนดหรือไม่ถึง 10 ปี สามารถใช้งานของเลขตัวถังที่ติดภายในรถ (คัสซี) ได้อีก 10 ปี หรือสิ้นสุดที่ปี 2568