19 มิถุนายน 2567 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยกรณีพบเด็กนักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.ร้อยเอ็ด ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่เป็นกลุ่มก้อนว่า ได้รับรายงานจาก ดร.นพ.สุรเดชช ชวะเดช นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ดว่า เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.67 พบเด็กนักเรียนป่วยด้วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่พร้อมกันจำนวน 20 ราย
ในวันนี้จึงส่งทีมปฏิบัติการสอบสวนโรค จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ลงพื้นที่สอบสวนโรคและค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม และพบว่า ช่วงวันที่ 17-18 มิถุนายน 2567 มีเด็กนักเรียนที่มีอาการป่วยขาดเรียนอีก 35 ราย จาก 2 ห้องเรียน ผู้ปกครองได้พาไปรักษาที่คลินิกเอกชน แพทย์แจ้งว่า ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ และมีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสุวรรณภูมิ ตรวจด้วย Test kit พบไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A จำนวน 8 ราย
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ดเร่งดำเนินการ ดังนี้
1.ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป, เด็กอายุ 6 เดือน - 12 ปี, ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง, ผู้ที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป, ผู้ป่วยธาลัสซีเมียและผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง, ผู้ป่วยโรคอ้วน และผู้พิการทางสมอง
2.แนะนำประชาชนหากมีอาการไข้ ไอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ฯลฯ ควรรีบเข้ารับการรักษา
3.เน้นมาตรการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณคนหนาแน่น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อทางเดินหายใจ
4.จัด Big Cleaning Day ในโรงเรียน สถานที่ทำงาน โรงงาน เรือนจำ ฯลฯ เพื่อป้องกันปัจจัยเสี่ยงการแพร่กระจายโรค
ด้าน ดร.นพ.สุรเดชช กล่าวว่า ทีมปฏิบัติการสอบสวนโรคได้ดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคในโรงเรียนที่พบเด็กป่วยโดยให้คัดกรองนักเรียนทุกชั้นเรียน ค้นหา ครูและนักเรียนที่มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ เพื่อหาอุบัติการณ์เกิดโรค
พร้อมเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยที่ยังมีอาการเพื่อตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งอยู่ระหว่างส่งไปยังสถาบันบำราศนราดูร และสุ่มเก็บตัวอย่างเพื่อคัดกรองการติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 10 ราย ผลเป็นลบทุกราย รวมถึงสอบถามประวัติการรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ พบว่าเด็กนักเรียนไม่มีประวัติได้รับวัคซีน
คำแนะนำ
-ให้โรงเรียนจัดเตรียมจุดล้างมือโดยเฉพาะในห้องน้ำและโรงอาหาร
-อธิบายวิธีการล้างมือและกระตุ้นให้เด็กนักเรียนล้างมือด้วยน้ำและสบู่เป็นประจำหลังสัมผัสวัสดุสิ่งของต่าง ๆ
-ให้จัดการเรียนการสอนในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
-งดเปิดเครื่องปรับอากาศขณะอยู่ในช่วงการระบาดหรือมีเด็กป่วยจำนวนมาก
-ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ต้องสัมผัสร่วม เช่น ราวบันได เครื่องคอมพิวเตอร์ ตู้น้ำดื่ม เป็นประจำ ด้วยน้ำและสบู่ ผงซักฟอก หรือน้ำยาทำความสะอาดให้ถี่ขึ้น ทั้งช่วงก่อนเข้าเรียน พักกลางวัน และหลังเลิกเรียน
-ให้เด็กนักเรียนใช้แก้วน้ำ ช้อน ส้อมส่วนตัว และคัดกรองเด็กที่มีอาการป่วยทุกเช้า
-หากพบเด็กป่วย ให้แจ้งครูอนามัยเพื่อสอบถามข้อมูลการเจ็บป่วยและส่งรักษาที่โรงพยาบาล