เปิดข้อมูลวงใน ข้อพิพาท ส.ป.ก. - เขาใหญ่ จบไม่ง่าย

08 มี.ค. 2567 | 06:24 น.
อัปเดตล่าสุด :08 มี.ค. 2567 | 10:04 น.

ข้อพิพาทระหว่าง ส.ป.ก. กับ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แม้ลง MOU ร่วมกันไปแล้ว แต่จบไม่ง่าย เปิดข้อมูลวงในการประชุม กมธ. ชัยวัฒน์ลั่น ลุยคดีถึงที่สุด

ข้อพิพาทระหว่าง ส.ป.ก และอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แม้จะมีการลง MOU ร่วมกันระหว่าง 2 หน่วยงานไปแล้วเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 ก็ตาม แต่จากการให้สัมภาษณ์ของ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ ที่ระบุว่า "เรื่องนี้จะจบอย่างหล่อๆไม่ได้ ต้องมีคนผิด" ยิ่งสะท้อนว่าข้อพิพาทที่เกิดขึ้นแล้วนี้ ยังต้องติดตามต่อไป

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยกมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ ได้ประชุมร่วมกันโดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจง เพื่อติดตามปัญหาเขตปฏิรูปทับซ้อนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

เปิดข้อมูลวงใน ข้อพิพาท ส.ป.ก. - เขาใหญ่ จบไม่ง่าย

ฐานเศรษฐกิจ สัมภาษณ์พิเศษ นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สส.จังหวัดภูเก็ต พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะ กมธ.การที่ดิน ถึงวงในจากการประชุมร่วมกันได้ข้อมูลว่า ทาง กมธ.ได้มีการเชิญทาง สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรทั้ง 2 รอบ แต่ไม่ได้มีการเข้ามาชี้แจง หรือส่งเอกสารชี้แจงใดๆเข้ามายัง กมธ. ทั้งสิ้น

จึงทำให้ กมธ. มีข้อมูลจากทาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมแผนที่ทหารเท่านั้น ซึ่งในการประชุมครั้งที่ 2 ได้มีหน่วยเข้าร่วมประชุมเพิ่มเติมคือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ คณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าร่วมด้วย

ทางคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ระบุถึงรายละเอียดที่ทางเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. เข้าชี้แจงกับทางคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า หน่วยงาน ส.ป.ก. มีกำลังเจ้าหน้าที่ และงบประมาณที่ไม่เพียงพอ จึงทำให้การประกาศเขต ส.ป.ก. จะประกาศแบบครอบคลุมทั้งอำเภอ

แล้วจึงค่อยตัดออกเฉพาะพื้นที่ที่มีความทับบซ้อน กับพื้นที่ของเอกชน หรือของหน่วยงานอื่นๆ ดังนั้นนี่จึงเป็นสาเหตุของการเกิดปัญหาความทับซ้อนของพื้นที่อีกหลายแห่ง อีกทั้งยังมีข้อมูลว่า ผู้ที่ได้รับพื้นที่จัดสรรอีก 58 แปลง ไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งตามหลักเกณฑ์แล้วไม่สามารถได้รับการจัดสรรพื้นที่ ส.ป.ก. ดังกล่าวได้

เปิดข้อมูลวงใน ข้อพิพาท ส.ป.ก. - เขาใหญ่ จบไม่ง่าย

นอกจากนี้ พ.ร.บ. ส.ป.ก. ที่มีการแก้ไขในปี 2564 ได้มีการตัดผู้ว่าราชการจังหวัดออกจากการเป็นคณะกรรมการจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก. จึงมีเพียงเจ้าหน้าที่ ของสำนักงาน ส.ป.ก. ในเขตพื้นที่เป็นผู้ประกาศเขตพื้นที่จัดสรรให้กับราษฎร จึงทำให้ผู้ว่าฯ ไม่ได้รับทราบและไม่สามารถทักท้วงได้

ต่อมาเมื่อมีการร้องเรื่องพื้นที่ทับซ้อนก็จะทำให้เกิดความยุ่งยากในกระบวนการปฏิบัติงาน ของเจ้าหน้าที่เอง แต่ยิ่งไปกว่านั้นคือประชาชนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และไม่มีความรู้ความเข้าใจในด้านกฎหมาย ก็จะได้รับความเสียหายจากการที่สิทธิ์โดนแย่งไปจากการประกาศพื้นที่จัดสรร ส.ป.ก. ให้กับเกษตรกร

ส่วนประเด็นของ one map ทางกรมอุทยานฯ ต้องการให้ทำตามนโยบาย one map เพื่อลดความขัดแย้งในเชิงพื้นที่ ซึ่งในพื้นที่ที่มีปัญหานั้นได้มีการทำ one map เรียบร้อยแล้ว เป็นการร่วมสำรวจแนวเขตพร้อมกันแล้ว แต่ทาง ส.ป.ก. ยังไมมีการยืนยันและยอมรับแนวเขต one map ดังกล่าว 

คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือนต่อจากนี้ในการได้ข้อสรุป โดยต่อจากนี้จะมีทางสํานักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) จะมาทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลาง ระหว่าง ส.ป.ก. กับหน่วยงานอื่นที่มีพื้นที่ทับซ้อน 

ส่วนกรณีที่นายชัยวัฒน์เคยระบุไว้ว่า "จบแบบหล่อๆไม่ได้ เรื่องนี้ต้องมีผู้ผิด" จะต้องผ่านการประกาศเขตพื้นที่ ซึ่งได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเสียก่อน จึงจะสามารถระบุตัวผู้ผิดได้ ซึ่งที่ผ่านมาต่างฝ่ายต่างถือกฎหมายคนละฉบับ และสามารถแบ่งปันแนวเขตของตัวเองได้โดยไม่ต้องถามพื้นที่ข้างเคียง

ซึ่งคดีความที่ดำเนินซึ่งกันและกันไปแล้วนั้น นายชัยวัฒน์ ยืนยันต่อ ที่ประชุม กมธ. ว่า ทุกคดีจะร้องกับ ป.ป.ช.  แล้วจะส่งเอกสารพยานหลักฐานทั้งหมดที่มี ให้กับ กมธ. การที่ดิน และ กมธ. ความมั่นคงด้วย เพื่อดำเนินคดีถึงขั้นสูงสุด

ทั้งนี้ พื้นที่พิพาท ระหว่าง ส.ป.ก. และ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทาง กมธ. และเลขาธิการ ส.ป.ก. ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบ พบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นป่าจริงๆ พื้นที่บางแปลงที่ประกาศมีลักษณะเป็นภูเขาทั้งลูก ซึ่งไม่น่าจะเหมาะสมในการทำเกษตรกรรมได้โดยสิ้นเชิง  ทางเลขาธิการ ส.ป.ก.  ก็ยังชี้แจงว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้พื้นที่ลักษณะถูกประกาศเป็นแปลงเกษตร อีกทั้งบริเวณที่เป็นแนวกันชนดังกล่าวยังมีช้างป่า ที่อาจลงมาเหยียบย่ำแปลงเกษตรของประชาชน หรือทำอันตรายแก่ประชาชนได้

การทำงานของ กมธ. ก็เพื่อหาข้อยุติในกรณีข้อพิพาท ทั้งในส่วนของ การทำแผนที่ซึ่งหน่วยงานราชการควรต้องใช้ร่วมกัน เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างหน่วยงาน และกระบวนการจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก. ที่ต้องกลับไปพิจารณาว่าผู้ได้รับการจัดสรรเป็นเกษตรกรตัวจริงหรือไม่ และได้รับการจัดสรรพื้นที่ที่เหมาะสมกับการทำเกษตรหรือไม่ ทาง กมธ. มีข้อสังเกตว่า ก่อนจะมีการประกาศเขตพื้นที่ ส.ป.ก. ทางเจ้าหน้าที่ควรมีการเดินรังวัดให้ละเอียดเสียก่อน เพื่อลดความขัดแย้งในพื้นที่และป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น