สังคายนาที่ดิน ส.ป.ก.40 ล้านไร่ ล็อกเป้าพื้นที่สีแดงเสี่ยงเปลี่ยนมือ

05 มี.ค. 2567 | 16:19 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มี.ค. 2567 | 19:24 น.
4.4 k

วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. พลิกวิกฤตความขัดแย้งระหว่างกระทรวงเกษตรฯกับกระทรวงทรัพย์ฯ ปมพื้นที่ทับซ้อน สปก.-อุทยานแห่งชาติ สังคยานาที่ดิน ส.ป.ก.40 ล้านไร่ สแกนทุกพื้นที่ทั่วประเทศ-ยืนยันตัวตนเกษตรกรตัวจริงหรือตัวปลอม

KEY

POINTS

  • วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข ทิ้งทวนเก้าอี้ เลขาธิการ ส.ป.ก.ก่อนเกษียณ กันยายน 67 สังคายนา ที่ดิน ส.ป.ก.40 ล้านไร่
  • สแกนพื้นที่ 2.5 ล้านไร่ - ยืนยันตัวตนเกษตรกรตัวจริง ทุกปี ล็อกเป้า "พื้นที่สีแดง" เสี่ยงเปลี่ยนมือสูง
  • จ่อฟันข้าราชการ ส.ป.ก.ทุกระดับ ออกเอกสารสิทธิมิชอบ เปิดอก เอื้อนายทุนหรือไม่ - ยืนยันไม่ซ้ำรอย "สปก.4-10" ล้มรัฐบาล 

ปมพื้นที่ทับซ้อนที่ดิน ส.ป.ก. ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มี “คนกันเอง” ในพรรคพลังประชารัฐ เป็นรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง “จบแบบไม่จบ” ร้อนถึง “เศรษฐา ทวีสิน” ต้องเปิดทำเนียบฯ หย่าศึก

บทสรุปล่าสุดที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 “วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข” เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ร่างหนังสือ ที่ กษ 1240/ว 1171 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ให้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวเขตการจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร

กรณีเป็นที่ดินที่ไม่เคยจัดให้แก่บุคคลใดตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยมีปฏิรูปที่ดินจังหวัด เป็นประธานคณะทำงาน กับอีก 9 หน่วยงาน เป็นคณะทำงาน 

โดยมีอำนาจ-หน้าที่พิจารณาตรวจสอบแนวเขตการถือครองทำประโยชน์ที่ดินที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดจะออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยให้พิจารณาว่า

“ทับซ้อนหรือรุกล้ำแนวเขตที่ดิน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง”

โดยเลขาธิการ ส.ป.ก.จะนำคำสั่งแต่งตั้ง “คณะทำงานพิจารณาแนวเขตการจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร” เข้าที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเห็นชอบในวันที่ 8 มีนาคมนี้ 

จัดที่ดินประณีต-สังคมไม่เคลือบแคลง

“เลขาธิการ ส.ป.ก.” บอกว่า หลังจากนี้ไป ส.ป.ก. จะระมัดระวังในการจัดที่ดินมากขึ้น ประณีตมากขึ้น เพื่อไม่ให้สังคมเคลือบแคลงในการจัดที่ดินของ ส.ป.ก. การจัดที่ดินแปลงที่ไม่ใช่ จัดผิด ตนตั้งกรรมการสอบเจ้าหน้าที่ทุกคน ทุกระดับแน่นอน  

“การจัดที่ดินจากนี้ต่อไปปฏิรูปที่ดินจังหวัดทุกจังหวัด ต้องเอาแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศมาด้วย เวลาจะเซ็นต้องดูแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ ถึงจะเซ็นได้”

“เลขาธิการ ส.ป.ก.” ท้าวความถึงการจัดที่ดิน ส.ป.ก.ในอดีต ว่า เดิม ส.ป.ก.จัดซื้อที่ดินเอกชนให้กับเกษตรกร “เช่า” หรือ “เช่าซื้อ” จำนวน 5 แสนไร่ ต่อมารัฐบาลเมื่อปี 36 ต้องการให้เกษตรกรมีที่ดิน จึงโอนที่ดินของหน่วยงานรัฐ เช่น กรมป่าไม้ จำนวน 54 ล้านไร่ โดยกันพื้นที่ออกเป็นที่ดิน ส.ป.ก. ตาม “เอ็มโอยูปี 38” เหลือจัดให้เกษตรกรจำนวน 40 ล้านไร่    

สแกนรายพื้นที่-ยืนยันตัวตน 40 ล้านไร่  

ปัจจุบัน ส.ป.ก.ตรวจสอบเกษตรกร สแกนเป็นรายพื้นที่ทุกปี ปีละ 2.5 ล้านไร่ จากทั้งหมด 40 ล้านไร่ คิดเป็นเกษตรกร 2.9 – 3 ล้านครัวเรือน หรือ เกษตรกร 10 ล้านราย ซึ่งที่ผ่ามาส.ป.ก.จะมีคำสั่งให้สิ้นสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินทุกปี 

“เลขาธิการ ส.ป.ก.” แจกแจงการตรวจสอบที่ดิน ส.ป.ก. ว่า เป็นเกษตรกรตัวจริง-เสียงจริงหรือไม่ ว่า แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ หนึ่ง ส.ป.ก.จะส่งหนังสือให้เกษตรกรเพื่อให้ส่งหนังสือกลับมาเพื่อ "ยืนยันตัวตน" แสดงตัวให้เห็นว่ายังทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก.เพื่อเกษตรกรรมอยู่หรือไม่   

สอง ตรวจสอบโดยใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศในการสแกนทั้งหมด หาก ส.ป.ก.พบว่า พื้นที่ใดน่าสงสัย จะส่งอาสาสมัครลงพื้นที่ เพื่อเก็บข้อมูล และ สาม นำข้อมูลจากบุคคลใดที่พบเห็นความผิดปกติและแจ้งกลับมายัง ส.ป.ก.เพื่อลงไปตรวจสอบ 

สำหรับที่ดิน สปก.ที่เป็น “พื้นที่เป้าหมาย” จำนวน 40 ล้านไร่ ถูกจัดระดับตามสี-ความเสี่ยง โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นสีเขียว-สีเหลืองและสีแดง พื้นที่ใดเป็น “สีแดง” หรือมีความเสี่ยงในการเปลี่ยนมือ “ต้องเข้าไปตรวจสอบก่อน”   

โดยดูจากดัชนีชี้วัดความเสี่ยง จากคุณภาพชีวิต-ฐานะของเกษตรกร และลักษณะทางกายภาพของที่ดิน ส.ป.ก. เช่น คุณภาพดิน-น้ำ ระบบคมนาคมขนส่ง การประกอบอาชีพมีแนวโน้มจะขาดทุนหรือไม่ รวมถึง “พื้นที่สวย” ทำเลทอง เช่น วังน้ำเขียว ภูเก็ต เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ โคราช  

เกษตรกรไปต่อไม่ไหว ต้องอยู่รอด

ถามเลขาธิการ ส.ป.ก. ว่า ยืนยันได้หรือไม่ว่า ที่ดิน ส.ป.ก.จะไม่ตกไปอยู่ใน “มือนายทุน” เขา เปิดอกอย่างพี่-น้อง อย่างตรงไปตรงมา ว่า 
วันที่ ส.ป.ก.รับที่ดินมาเป็น ป่าเสื่อมโทรม น้ำแล้ง ดินเลว คือ มอตโต้ประจำ ส.ป.ก. เกษตรกรที่เข้ามาอยู่ทำกินค่อนข้างลำบาก ดังนั้น การทำงานของ ส.ป.ก.อีกหนึ่งมิติ คือ การพัฒนาที่ดิน เร่งทำแหล่งน้ำ เพื่อให้ ส.ป.ก.สมบูรณ์และเกษตรกรอยู่ได้ 

“วันหนึ่งเกษตรกรได้ที่ดิน ส.ป.ก.ไปแล้ว ไปต่อไม่ไหว แต่จำเป็นต้องมีชีวิตรอด มีคนที่มีความแข็งแรงกว่า แต่ไม่ใช่มาแล้วจะไปทำโรงแรม ทำรีสอร์ท ถ้าตรวจสอบแล้ว 3 ปี ไม่ได้ทำเกษตร ส.ป.ก.ยึดคืน”  

ก่อนไปถึงบทสรุปเส้นแบ่งพื้นที่ทับซ้อน ต้องผ่านคณะกรรมการ one map คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ก่อนเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ การยอมรับ "แผนที่กลาง" ต้องออกมาเป็น “พระราชกฤษฎีกาแนบท้าย” มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายจึง "สะเด็ดน้ำ"   

“ตราบใดที่ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาแนวท้ายขีดเส้น ตีกันได้ตลอด เพราะต่างคนต่างถือแผนที่คนละฉบับ วันหนึ่งก็ต้องมานั่งโต๊ะกลมคุยกัน ข้าราชการทะเลาะกันแล้วชาวบ้านจะเข้าข้างใครและจะอยู่อย่างไร” 

หาจุดสมดุล สงบศึกส.ป.ก.- อุทยานฯ 

“เลขาธิการ ส.ป.ก.” กล่าวอย่างเข้าใจปัญหาว่า เมื่อกระทรวงเกษตรฯ โดยสำนักงาน ส.ป.ก. กับกระทรวงทรัพย์ฯ ที่มีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็น “หัวหมู่ทะลวงฟัน” ยืนอยู่กันคนละมุม-คนละปรัชญา ระหว่าง “แสวงหา” กับ “อนุรักษ์” จึงต้องหาจุดสมดุล-ตรงกลาง

“ไม่มีใครผิดใครถูก ต้องคุยกัน ตรงกลางคือ ความชัดเจนของแนวเขต รั้วรอบขอบชิด one map ออกมาจะได้จบโดยเร็ว”

ก่อนที่ “วิณะโรจน์” จะเกษียณอายุราชการ-ลุกจากเก้าอี้ “เลขาธิการ สปก.คนที่ 20” ในเดือนกันยายน 67 นี้ เขาเห็นด้วยที่จะถือจังหวะ “สังคยานา” ที่ดินส.ป.ก.ใหม่

“ต้องยอมรับความจริงว่า ทุกหน่วยงานมีข้าราชการที่มีปัญหา ใครทำแบบนี้ ถือว่าไม่รัก ส.ป.ก. ผมตัดหัวทิ้งหมด ผมไล่ออกได้ ผมไล่ออก แต่ถ้าไม่ได้โกงก็ต้องเตือน ต้องภาคทัณฑ์ ถือว่าทำถูก แต่ทำไม่ครบ แต่ถ้าคนไหนทุจริต ผมไล่ออก”

ไม่ซ้ำรอย สปก.4-01 

ปมพื้นที่ทับซ้อนที่ดิน ส.ป.ก.กับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ถูกนำไปเปรียบเทียบกับการออกเอกสารสิทธิที่ดิน ส.ป.ก. จังหวัดภูเก็ต ให้กับตะกูลเศรษฐี-นักการเมืองดัง หรือ  “สปก.4-01” เป็นสาเหตุที่ทำให้ “รัฐบาลชวน 1” ต้องประกาศ “ยุบสภา” ก่อนลงมติญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเพียง 1 ชั่วโมง อาจจะ “ซ้ำรอย” หรือไม่ 

“ไม่เหมือนแน่นอน วันนี้เป็นความผิดของเจ้าหน้าที่ที่จัดที่ดินให้เกษตรกรบางรายโดยมิชอบและไม่เป็นไปตามระเบียบที่ ส.ป.ก.กำหนด เทียบกับกรณีที่ภูเก็ต หรือ ส.ป.ก.4-10”เลขาธิการ ส.ป.ก.ทิ้งท้ายเสียงหนักแน่น