มี.ค.นี้ “เจ้าท่า” เปิดให้บริการ “ท่าเรือท่าเตียน” รูปแบบใหม่

20 ก.พ. 2567 | 16:49 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.พ. 2567 | 16:55 น.
745

“กรมเจ้าท่า” กางแผนพัฒนา 29 ท่าเรือกรุงเทพฯ เตรียมเปิดให้บริการ ท่าเตียนรูปแบบใหม่ เริ่ม มี.ค. นี้ ดันจุดเชื่อมต่อแหล่งท่องเที่ยวสำคัญรอบพื้นที่

นายกริชเพชร  ชัยช่วย  อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า สำหรับแผนพัฒนาท่าเรือท่าเตียนในแม่น้ำเจ้าพระยา งบประมาณ 39.047 ล้านบาท พร้อมเปิดใช้ในเดือนมีนาคมนี้ โดยกรมฯได้ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณท่าเรือ ท่าเตียน และพื้นที่ด้านหน้าอาคารสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิมออกทั้งหมด แล้วดำเนินการก่อสร้างท่าเรือใหม่ เพื่อใช้สำหรับการคมนาคมทางน้ำ ทั้งเรือข้ามฟากและเรือโดยสาร อีกทั้งใช้เป็นแหล่งพักผ่อน และชมวิวทิวทัศน์แม่น้ำเจ้าพระยา

มี.ค.นี้  “เจ้าท่า” เปิดให้บริการ “ท่าเรือท่าเตียน” รูปแบบใหม่

ส่วนการออกแบบท่าเรือให้กลมกลืนกับ อาคารบริเวณใกล้เคียงโดยต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า ซึ่งท่าเรือฯ มีสิ่งอำนวยความสะดวกและพื้นที่ให้บริการ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ลานโล่ง รวม 1,320 ตารางเมตร มีอาคารพักคอย จำนวน  2 หลัง  พร้อมทางลาดสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ  เก้าอี้รองรับสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ ที่จอดรถวีลแชร์และการประชาสัมพันธ์ด้วยระบบภาพและเสียง สำหรับโป๊ะเทียบเรือ มีจำนวน 4 ลูก ประกอบด้วย ท่าเรือข้ามฟาก จำนวน 2 ลูก  และท่าเรือโดยสาร จำนวน 2 ลูก 
 

ที่ผ่านมาท่าเรือท่าเตียนมีความสำคัญตั้งแต่ในอดีต เป็นท่าเรือสำคัญของพระนคร  ในฐานะตลาดการค้าขนาดใหญ่ เป็นจุดขนส่งอาหาร ผัก ผลไม้ และเป็นท่าเรือโดยสารอีกด้วย ปัจจุบันความสำคัญท่าเรือท่าเตียน  มีจุดเชื่อมต่อกับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญมากมาย อาทิ พระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว วัดโพธิ์ วัดอรุณฯ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งทางน้ำและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ที่มีความสำคัญอย่างมาก 

มี.ค.นี้  “เจ้าท่า” เปิดให้บริการ “ท่าเรือท่าเตียน” รูปแบบใหม่

ทั้งนี้ด้วยตำแหน่งที่ตั้งของท่าเตียนในปัจจุบัน  มีอยู่ตรงข้ามกับพระปรางค์วัดอรุณฯ จะทำให้เป็นอีกหนึ่งท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เป็น landmark ให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาเช็คอิน และถ่ายภาพ มุมฝั่งตรงข้าม ที่เห็นพระปรางค์วัดอรุณฯ ที่สวยงามยามพระอาทิตย์ตก ซึ่งท่าเรือท่าเตียน  มีความสำคัญสำหรับการเดินทางคมนาคมทางน้ำ รองรับเรือต่าง ๆ ดังนี้ 1. เรือข้ามฝากท่าเตียน ฝั่งท่าวัดอรุณ ธนบุรี 2. เรือโดยสารสาธารณะ (เรือด่วนเจ้าพระยา เรือไฟฟ้า ) 3. เรือทัวร์ และเรือทั่วไป

นายกริชเพชร  กล่าวต่อว่า ขณะที่แผนพัฒนาท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นสถานีเรือ 29 ท่า อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยแบ่งเป็นท่าเรือที่ปรับปรุงแล้วเสร็จ จำนวน 9 ท่า ได้แก่ท่ากรมเจ้าท่า, ท่าสะพานพุทธ, ท่าเรือนนทบุรี, ท่าเรือพายัพ, ท่าบางโพ, ท่าช้าง, ท่าราชินี, ท่าเตียน, ท่าสาทร 

มี.ค.นี้  “เจ้าท่า” เปิดให้บริการ “ท่าเรือท่าเตียน” รูปแบบใหม่

ด้านท่าเรือที่อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุง จำนวน 5 ท่า ได้แก่  1. ท่าพระปิ่นเกล้า ผลงาน 60 % คาดว่าจะแล้วเสร็จ เม.ย. 67 2. ท่าพระราม 5  ผลงาน 45 % คาดว่าจะแล้วเสร็จ พ.ค. 67 3. ท่าปากเกร็ด ผลงาน 20 % คาดว่าจะแล้วเสร็จ ส.ค. 67 4. ท่าพระราม 7 ผลงาน 42 % คาดว่าจะแล้วเสร็จ พ.ย. 675. ท่าเกียกกาย ผลงาน 24 % คาดว่าจะแล้วเสร็จ ธ.ค. 67

มี.ค.นี้  “เจ้าท่า” เปิดให้บริการ “ท่าเรือท่าเตียน” รูปแบบใหม่

นอกจากนี้ตำแหน่งก่อสร้างเป็นบริเวณเดียวกับตำแหน่งก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานคร  เพื่อให้การก่อสร้างทั้ง 2 โครงการไม่กีดขวางกันจึงมอบให้ กรุงเทพมหานคร ดำเนินการต่อ โดยในปี 2568 วางแผนจะพัฒนาปรับปรุงเพิ่มอีกจำนวน 4 ท่า ได้แก่ ท่าโอเรียนเต็ล, ท่าเทเวศร์, ท่าสะพานกรุงธน (ซังฮี้) และท่าเขียวไข่กา และในปี 2569 วางแผนจะพัฒนาปรับปรุงเพิ่มอีกจำนวน 11 ท่า ได้แก่ ท่าราชวงศ์, ท่าวัดเทพากร, ท่าพิบูลสงคราม 2, ท่าวัดเทพนารี, ท่าวัดตึก, ท่ารถไฟ, ท่าพิบูลสงคราม, ท่าสี่พระยา, ท่าวัดเขมา, ท่าพรานนก และท่าวัดสร้อยทอง