“มนพร” สั่ง เจ้าท่า ฟื้น 2 ท่าเรือคลองใหญ่-เกาะลอย ปั้นพื้นที่เชิงพาณิชย์

07 ต.ค. 2566 | 13:56 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ต.ค. 2566 | 14:56 น.

“มนพร” สั่งกรมเจ้าท่า เดินหน้าพัฒนา 2 ท่าเรือคลองใหญ่-เกาะลอย ฟื้นท่าเรือร้าง ปลุกพื้นที่เชิงพาณิชย์ เตรียมดึงเอกชนร่วมทุน หวังเพิ่มรายได้เข้าองค์กร

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตนได้มอบหมายให้กรมเจ้าท่า (จท.) รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับท่าเรือทั้งหมดของ จท. ทั่วประเทศที่ดูแลรับผิดชอบอยู่ในปัจจุบัน แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ หรือปล่อยให้เป็นท่าเรือร้าง โดยจะนำข้อมูลที่ จท. รวบรวมดังกล่าว มาจัดทำแผนพัฒนาและเพิ่มประโยชน์ให้กับท่าเรือเหล่านั้น สามารถเปิดใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและที่สำคัญ คือ การสร้างรายได้ให้กับองค์กร ลดภาระด้านงบประมาณของรัฐบาลให้สามารถนำไปดำเนินการโครงการอื่นๆ ได้

 

ทั้งนี้จากการรับรายงานและการลงพื้นที่ร่วมกับนายธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในช่วงก่อนหน้านี้ พบว่า เบื้องต้นเตรียมนำร่องพัฒนาท่าเรือที่ถูกปล่อยให้ทิ้งร้าง จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือคลองใหญ่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด และท่าเรือเกาะลอย จ.พระนครศรีอยุธยา โดยจะพัฒนาให้เกิดมีการใช้ประโยชน์มากขึ้น อาทิ การให้เอกชนเช่าและเข้ามาใช้บริการ หรือการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณดังกล่าว นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มในส่วนของการขนส่งทางน้ำ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
 

“หลังจากนี้กระทรวงคมนาคมจะต้องบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น อาทิ กระทรวงเกษตรฯ และกรมธนารักษ์ ตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อพัฒนาท่าเรือที่ถูกทิ้งร้างดังกล่าว ให้สามารถสนับสนุนและผลักดันการขนส่งทางน้ำ ทั้งในส่วนของผู้โดยสารและขนส่งสินค้ามากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันการขนส่งทางน้ำมีสัดส่วนเพียงแค่ 9% เท่านั้น ส่วนที่เหลือจะเป็นการขนส่งทางอากาศ 1% ขนส่งทางบก 80% และขนส่งทางราง 10%”

 

นางมนพร กล่าวต่อว่า ส่วนท่าเรือคลองใหญ่ถูกทิ้งร้างมานาน เนื่องจากติดปัญหาร่องน้ำตื้น เรือขนาดใหญ่ไม่สามารถเดินเรือเข้าท่าได้ เข้าได้เพียงแค่เรือประมง แต่ในบริเวณดังกล่าว พบว่า มีสะพานปลาของเอกชน 2-3 ท่า จึงมีแนวคิดจะพัฒนาท่าเรือคลองใหญ่ให้เอกชนเช่า เพื่อทำประโยชน์ดีกว่าปล่อยทิ้งร้าง ซึ่งเรื่องนี้ได้หารือกับ นายธรรมนัสแล้ว เบื้องต้นมอบหมายให้ ผอ.สะพานปลาไปร่วมดูงานด้วย เพื่อหาแนวทางให้เอกชนมาเช่า เช่นเดียวกับท่าเรือเกาะลอย ที่ปล่อยทิ้งร้างด้วย จากข้อมูล พบว่า ทั้ง 2 ท่าเรือ มีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท หลังจากนี้กรมฯ ต้องไปดูว่ามีท่าเรือที่ไหนบ้าง ที่สร้างแล้วยังไม่เกิดรายได้ ต้องแปลงสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้เป็นทุน และจะบูรณาการกับกรมธนารักษ์เพื่อจูงใจในเรื่องของค่าเช่า ด้วย
 

นางมนพร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม และ จท. จะหารือร่วมกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ตามนโยบายวีซ่าฟรีของรัฐบาลด้วย โดยในเบื้องต้นเตรียมประสานกับผู้ประกอบการธุรกิจเรือท่องเที่ยวในแม่น้ำเจ้าพระยากว่า 29 บริษัทฯ เพื่อร่วมจัดโปรโมชั่นหรือแพ็คเก็จส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำในเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยา และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวมากยิ่งขึ้น 

 

อย่างไรก็ตามในส่วนของ จท. นั้น จะต้องรับผิดชอบการพัฒนาท่าเรือแม่น้ำเจ้าพระยา รวม 29 แห่ง ให้พร้อมรองรับ และอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะด้านความปลอดภัย เช่น สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ห้องน้ำ ไฟฟ้าส่องสว่าง เป็นต้น ขณะที่ท่าเรือท่องเที่ยวใน จ.ภูเก็ต และ จ.กระบี่ ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก และมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปจำนวนมากนั้น จะต้องมีการดำเนินการพัฒนาด้านบริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกด้วยเช่นเดียวกัน