ผู้ว่าฯเชียงใหม่ สั่งการทุกอำเภอ เข้มปฏิบัติการ "เดินเข้าหาไฟ"

10 ม.ค. 2567 | 08:33 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ม.ค. 2567 | 09:33 น.

พ่อเมืองเชียงใหม่ เรียกประชุมทุกอำเภอ-เทศบาลทุกแห่ง เร่งปฏิบัติการ “เดินเข้าหาไฟ” ทั้งในพื้นที่เกษตร-ชุมชนเมือง นำเชื้อเพลิงออกนอกพื้นที่ลดปัญหาการเผาในเขตเมือง

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานประชุมร่วมกับนายอำเภอทั้ง 25 อำเภอ และเทศบาลทุกแห่งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อกำชับและทำความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในปี 2567 โดยมี นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

โดยจังหวัดเชียงใหม่ได้ออกประกาศให้วันที่ 1 มกราคม -30 เมษายน 2567 เป็นห้วงเวลาของการควบคุมการเผาหรือควบคุมการใช้ไฟในพื้นที่โล่งทุกชนิด แต่หากมีความจำเป็นต้องเผาจะต้องขออนุญาตบริหารจัดการเชื้อเพลิงผ่านแอพพลิเคชั่น FireD เท่านั้น ซึ่งขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนขออนุญาตบริหารจัดการเชื้อเพลิงทั้งหมด 1,124 จุด คิดเป็นพื้นที่ทั้งหมด 140,569 ไร่ ทั้งนี้จะมีการพิจารณาอีกครั้งว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความจำเป็นต้องเผาจริงหรือไม่ โดยศูนย์บัญชาการอำเภอจะเป็นผู้อนุญาตและดูแลควบคุมการใช้ไฟ

สำหรับนโยบาย “เดินเข้าหาไฟ ลดการเผา” คือ การเปลี่ยนพื้นที่เผาไหม้ให้ปลอดการเผา โดยใช้วิธีการอื่นเข้ามาบริหารจัดการเชื้อเพลิงแทน อาทิ การไถกลบตอซัง หรือการเปลี่ยนเศษซากวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล ตามนโยบายของรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการจัดการพื้นที่เกษตรกรรม โดยเปลี่ยนจากพื้นที่ที่กำลังจะลุกเป็นไฟ เป็นพื้นที่ไถกลบ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่พร้อมจัดหารถไถและสนับสนุนค่าน้ำมันให้กับพี่น้องประชาชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หันมาให้ใช้วิธีการไถกลบแทนการเผา เพื่อลด PM 2.5 และมีอากาศที่สะอาดบริสุทธิ์

ผู้ว่าฯเชียงใหม่ สั่งการทุกอำเภอ เข้มปฏิบัติการ "เดินเข้าหาไฟ"

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้สั่งการไปยังอำเภอทั้ง 25 อำเภอ ขอให้ลงพื้นที่ตรวจสอบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความจำเป็นต้องเผาจริงหรือไม่ โดยเฉพาะพื้นที่เกษตร หากพบว่าสามารถบริหารจัดการเชื้อเพลิงได้โดยไม่จำเป็นต้องเผา ขอให้ทำความเข้าใจร่วมกับชาวบ้าน เสนอแนวทางจัดการตามนโยบายของจังหวัด

อาทิ การไถกลบ หรือการขนเศษวัสดุทางการเกษตรออกนอกพื้นที่ เพื่อนำไปแปรรูปเป็นพลังงานชีวมวล เป็นการเดินเข้าหาไฟ เปลี่ยนพื้นที่เผาไหม้เป็นพื้นที่ปลอดการเผา ซึ่งหากชาวบ้านขาดแคลนทุนทรัพย์ในการจัดการจังหวัดพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือและสนับสนุน โดยที่ผ่านมาได้รับกระแสตอบรับจากชาวบ้านเป็นอย่างดีทำให้หลายอำเภอสามารถลดจำนวนพื้นที่เผาไหม้ได้เป็นจำนวนมาก

ขณะเดียวกันในเขตพื้นที่ของชุมชนเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้กำชับให้เทศบาลทุกแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ จัดหารถเก็บขยะให้เพียงพอและทั่วถึงต่อความต้องการของพี่น้องประชาชน และให้จัดหารถเพิ่มเติมสำหรับเก็บเศษซากวัสดุอื่นๆ นอกเหนือจากขยะ อาทิ กิ่งไม้ ใบไม้ ยางรถยนต์ และอื่นๆ เป็นการดึงเชื้อเพลิงออกจากชุมชนเพื่อลดสาเหตุการเผาในเขตเมือง
 

นายภิญโญ พัวศรีพันธุ์ นายอำเภอสันกำแพง กล่าวว่า อ.สันกำแพงตั้งเป้ารณรงค์ให้เกษตรกร ปรับเปลี่ยนจากวิธีเผามาเป็นไถกลบให้ได้มากที่สุด โดยตั้งเป้าไว้ประมาณ 8,510 ไร่ และแจ้ง ประชาสัมพันธ์เกษตรกรให้ทราบว่า หากท่านติดขัดปัญหาในเรื่องของค่าใช้จ่าย น้ำมันในการไถกลบ ทางจังหวัดเชียงใหม่ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมที่จะช่วยเหลือท่าน ตามเหตุผลและความจำเป็น ซึ่งเกษตรกรต่างยินดีและ พร้อมให้ความร่วมมือจังหวัดเชียงใหม่ ในการแก้ไขปัญหาหมอกควัน นอกจากนี้ ยังได้รณรงค์ ให้ชาวบ้าน นำเศษใบไม้ มาทำเป็นปุ๋ยหมัก หรือกำจัดเศษใบไม้ โดยรณรงค์ให้แต่ละบ้าน ทำเสวียนเพื่อใส่เศษใบไม้ เพื่อให้ เศษใบไม้นั้นย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีในการลดการเผา

ด้าน นายชลิต ทิพย์คำ นายอำเภอแม่ออน เปิดเผยว่า ในปีนี้อำเภอแม่ออนได้ขออนุญาตบริหารจัดการเชื้อเพลิงทั้งหมด 115 จุด รวม 27,000 ไร่ ซึ่งทางอำเภอได้มีการทำความเข้าใจกับประชาชนถึงหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และนโยบาย “เดินเข้าหาไฟ ลดการเผา” ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้ให้แนวทางไว้ จนทำให้ขณะนี้อำเภอแม่ออนมีพื้นที่ที่ขออนุญาตบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่ไม่จำเป็น ลดน้อยลงเหลือเพียง 15,000 ไร่ ส่วนการไถกลบตอซังแทนการเผาในพื้นที่เกษตร ขณะนี้ก็ได้เตรียมดำเนินการ 1,000 ไร่ ในพื้นที่ตำบลแม่ทา

      นายเจริญ พิมพ์ขาล เกษตรจังหวัดเชียงใหม่  
 

นายจักรินทร์  สิรินทรภูมิ นายอำเภอดอยสะเก็ด กล่าวว่า ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บัญชาการป้องกัน แก้ไขปัญหาไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)อำเภอดอยสะเก็ด ได้ลงพื้นที่พบปะผู้นำชุมชน ตัวแทนเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนต้นผึ้งในพื้นที่ตำบลแม่โป่ง เพื่อขอความร่วมมือในการลดการบริหารจัดการเชื้อเพลิง โดยวิธีทางเลือกอื่น เช่น การไถกลบตอชังแทนการเผา ,การขนย้ายซากพืชที่เป็นชีวมวลออกจากแปลง เพื่อหยุดการเผาและมีการนำเศษวัสดุธรรมชาติมาขึ้นรูปผลิตภาชนะจากใบตองตึง เพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร

นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่ ประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนศูนย์รับซื้อวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตร และกำหนดราคา ปริมาณ คุณภาพ เพื่อลดการเผาเศษวัตถุเหลือใช้ทางการเกษตรในจังหวัด ได้เสนอโครงการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า โดยใช้วัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตรทำเป็นเชื้อเพลิงและเชื้อเพลิงอัดแท่งใช้ในอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้าชุมชนจังหวัดเชียงใหม่

รวมถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตามแนวทางของ Chiang Mai Model โดยการนำลำต้นข้าวโพด กิ่งก้านต้นลำไย ชานอ้อยและใบอ้อย ไม้ผล พืชพลังงาน และเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร รวบรวมส่งไปยังศูนย์รับซื้อแทนการเผา เพื่อให้ศูนย์นำไปแปรรูปและสร้างประโยชน์ได้อีกหลายด้าน อาทิ แปรรูปเป็นอาหารสัตว์ แปรรูปเป็นปุ๋ยชีวภาพ แปรรูปเป็นถ่านชาโคล หรือแปรรูปให้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานไฟฟ้า เป็นต้น  

จากการประชุมพบว่า ตัวเลขของข้อมูลเศษวัตถุดิบเหลือใช้จากการทำเกษตรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างฝ่ายวิชาการและฝ่ายราชการยังไม่สัมพันธ์กัน ดังนั้นจึงกำชับให้ทั้ง 2 ฝ่าย บูรณาการสำรวจและสรุปข้อมูลพื้นที่และปริมาณเศษวัสดุทางการเกษตรร่วมกัน ทั้งในส่วนที่ยังอยู่ในแปลงและที่เป็นเศษวัสดุเหลือใช้ เพื่อที่จะได้มีการคำนวนและวางแผนแนวทางการบริหารจัดการและแก้ไข้ปัญหาได้ตรงจุด และเมื่อข้อมูลเรียบร้อยจะนำไปเสนอในที่ประชุมใหญ่ในลำดับต่อไป

ผู้ว่าฯเชียงใหม่ สั่งการทุกอำเภอ เข้มปฏิบัติการ "เดินเข้าหาไฟ"

ด้านนายเจริญ พิมพ์ขาล เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่ติดตามการสร้างมูลค่าเพิ่ม เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เตรียมจุดสาธิตการเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรของในพื้นที่ อำเภอแม่ริม อำเภอเมืองเชียงใหม่ 2 จุดดำเนิน โดยจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่การปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรประมาณ 500,000 ไร่เกษตรกร 75,000 ครัวเรือน สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ส่งเสริมให้เกษตรกรจัดการวัสดุเหลือทางการเกษตรดังนี้ เกษตรกรทั้ง 2 พื้นที่  

จุดที่1 พื้นที่ปลูกข้าวอำเภอแม่ริม ในอำเภอแม่ริม มีประมาณ 13,266 ไร่ โดยจุดที่ดำเนินการคือตำบลแม่สา อำเภอแม่ริม ในพื้นที่เกษตรกร ณ ค่ายรบพิเศษ 5  ได้รับการสนับสนุนเครื่องจักรในการอัดฟาง แก่เกษตรกร โดยดำเนินการในพื้นที่ต้นแบบจำนวน 30 ไร่ เพื่อใช้ในการปลูกปลูกพืชผัก และเสี้ยงสัตว์

จุดที่ 2 อำเภอเมืองเชียงใหม่ มีพื้นที่ปลูกข้าว1,460 ไร่ โดยจุดที่ดำเนินการ คือเลขที่ 135  หมู่ 4 บ้านร้องอ้อ ต.สันผีเสื้อ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่เกษตรกร ชื่อนายไพบูลย์ บุญชละ พื้นที่ปลูกข้าวจำนวน 30 ไร่ 
       
เทศบาลตำบลสันผีเสื้อบริหารจัดการสนับสนุนให้เกษตรกรเปลี่ยนเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในเรื่องการอัดฟาง โดยสนับสนุน เครื่องจักร แรงงาน โดยให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวแจ้งความจำนงค์ ในการอัดฟางในตอนขึ้นทะเบียน และเกษตรสมทบในเรื่องเชือกที่ใช้มัดฟางจำนวน 10 บาท ผ่านกลุ่มเกษตรกรทำนาสันผีเสื้อ  ฟางก้อนที่ได้เกษตรกรนำไปใช้
เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชผัก ที่เหลือจึงจำหน่ายราคาก้อนละประมาณ  40-45 บาท