“เศรษฐา” สั่งด่วนที่สุด 4 กระทรวง ปราบแก๊งล่าสัตว์ ค้าสัตว์ป่า ริมชายแดน

21 ต.ค. 2566 | 07:43 น.

นายกฯ “เศรษฐา” สั่งด่วนที่สุด มอบหมายให้ 4 กระทรวง พร้อมทั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งปราบปรามแก๊งล่าสัตว์ ค้าสัตว์ป่า ริมชายแดน หลังพบบ่อย เช็คสถิติน่าตกใจ พบคดีเพียบ เจอซากสัตว์กว่า 19,308 ก.ก.

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร.0505/ว(ล) 22305 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2566 ส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับมอบหมายตามข้อสั่งการของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ร่วมกันป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดกฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามแนวชายแดน โดยการล่า และการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ระบุว่า ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 นายกรัฐมนตรี เสนอว่า ได้รับข้อร้องเรียนว่า มีกลุ่มบุคคลได้กระทำความผิดกฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการล่า และการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายในพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย - มาเลเซียอยู่บ่อยครั้ง 

ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครอง ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย รวมทั้งป้องกันปัญหาการรุกล้ำเขตแดนของต่างประเทศ จึงขอมอบหมายให้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เร่งดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อติดตาม ดูแล และแก้ไขปัญหา การกระทำผิดกฎหมายดังกล่าวข้างต้นโดยด่วน ทั้งนี้ ให้บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างเคร่งครัด รวมทั้ง ให้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานของประเทศเพื่อนบ้านตามความจำเป็นและเหมาะสมด้วย ซึ่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วลงมติเห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สรุปการรายงานสถิติคดีเกี่ยวกับการป่าไม้และสัตว์ป่า ของ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (1 ตุลาคม 2565 - 30 กันยายน 2566) พบว่า มีคดีรวมกันกว่า 2,125 คดี มีผู้ต้องหา 1,068 ราย โดยในจำนวนนี้เป็นคดีเกี่ยวกับสัตว์ป่าถึง 515 คดี สูงที่สุดเป็นอันดับที่สอง รองลงมาจากคดีบุกรุกพื้นที่

โดยคดีเกี่ยวกับสัตว์ป่า และซากสัตว์ที่ตรวจยึดได้นั้น เป็นสัตว์ป่าที่มีชีวิตอยู่รวม 2,215 ตัว ประกอบด้วย 

  • จระเข้ ตะกวด เหี้ย 106 ตัว 
  • กระรอก 8 ตัว
  • ชะมด อีเห็น 1 ตัว 
  • ไก่ป่า 3 ตัว
  • ลิง ชะนี 216 ตัว 
  • นกชนิดต่าง ๆ 944 ตัว
  • กระจง 3 ตัว
  • ปูต่าง ๆ 149 ตัว
  • กิ้งก่า 75 ตัว
  • กบต่าง ๆ 34 ตัว
  • งู 214 ตัว
  • เต่า ตะพาบน้ำ 277 ตัว 
  • สัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ 185 ตัว

ส่วนจำนวนซากสัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ มีรวมกัน 1,512 ซาก น้ำหนักรวมกันกว่า 19,308 กิโลกรัม ประกอบด้วย 

  • ซากวัวแดง 2 ซาก
  • ซากเสือ 1 ซาก 
  • ซากจระเข้ ตะกวด เหี้ย 97 ซาก
  • ซากหมี 2 ซาก 
  • ซากหมูป่า 9 ซาก
  • ซากเลียงผา 4 ซาก 
  • ซากเก้ง 7 ซาก
  • ซากกระทิง 3 ซาก
  • ซากกวาง 3 ซาก
  • ซากบ่าง ค่าง 34 ซาก
  • ซากกระจง 40 ซาก
  • ซากกระรอก กระแต 470 ซาก
  • ซากกบ 233 ซาก
  • ซากเม่น 6 ซาก 
  • ซากชะมด อีเห็น 15 ซาก
  • ซากไก่ป่า ไก่ฟ้า 52 ซาก 
  • ซากลิง ชะนี 22 ซาก
  • ซากนกต่าง ๆ 146 ซาก
  • ซากปลาต่าง ๆ 16,087 กิโลกรัม
  • ซากช้าง 6 ซาก 
  • งาช้าง 4 กิ่ง/ชิ้น
  • ซากค้างคาว 2 ซาก 
  • ซากสัตว์ป่าอื่นๆ 358 ซาก จำนวน 3,221.80 กิโลกรัม