รู้จัก "อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล" สัตว์ดึกดำบรรพ์ 2แสนปี! ขุดพบที่นครราชสีมา 

19 ต.ค. 2566 | 14:35 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ต.ค. 2566 | 15:08 น.
900

ฮือฮาไทยขุดพบซากดึกดำบรรพ์กว่า 2 แสนปี ได้ชื่อว่า "อัลลิเกเตอร์ มูลเอนซิส" หรือ "อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล" สัตว์ประเภทครึ่งบกครึ่งน้ำ คล้ายจระเข้ แต่ปากงุ้มทู่กว่า นักวิจัยเผยนี่อาจเป็นหลักฐานว่า ในยุคดึกดำบรรพ์ แม่น้ำมูลเคยเชื่อมโยงกับแม่น้ำแยงซีเกียงของจีนมาก่อน


ก่อนจะพูดถึง "อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล" (Alligator munensis) เราอาจเคยเห็น "อัลลิเกเตอร์" จากฉากในภาพยนตร์แนวๆ "โคตรไอ้เคี่ยม" ว่ามันเป็นพี่น้องของจระเข้ แต่ลักษณะที่แตกต่างชัดคือ อัลลิเกเตอร์ (alligator) มีจะงอยปากโค้งทู่เป็นรูปตัวยู ขณะที่จระเข้ (crocodile) มีจะงอยปากเรียวแหลมกว่าเป็นรูปตัววี โดยเมื่อปิดปากจระเข้จะเห็นฟันทั้งบนและล่าง ในขณะที่อัลลิเกเตอร์จะเห็นเฉพาะฟันบนหรือแทบไม่เห็นเลย

การค้นพบที่น่าตื่นตาตื่นใจ 

วันพุธที่ 18 ต.ค.2566 ประวัติศาสตร์โบราณคดีต้องบันทึกไว้ว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) ร่วมกับ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทือบิงเกน ประเทศเยอรมนี นำโดยดอกเตอร์กุสตาโว ดาร์ลิม (Dr.Gustavo Darlim) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยผลการศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ของ อัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก ที่มีชื่อว่า “อัลลิเกเตอร์ มูลเอนซิส (Alligator munensis) หรือ "อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล" ตามชื่อของถิ่นที่ค้นพบ คือบ้านสี่เหลี่ยม ตำบลใหม่ อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา

จุดที่ค้นพบลึกลงไปใต้ดินราว 2 เมตร (ขอบคุณภาพจากสำนักข่าวเนชั่น)  

ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของนายฐิติพันธ์ จูจันทร์โชติ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ในฐานะโฆษกกรม ระบุว่า ทางกรมฯได้รับแจ้งจากผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2548 ขอให้ไปตรวจสอบซากดึกดำบรรพ์ ซึ่งหลังจากที่ทีมสำรวจได้เข้าไปดำเนินการตรวจสอบเมื่อวันที่ 21 เมษายนปีเดียวกันนั้น พบว่าซากดึกดำบรรพ์ที่เก็บรักษาไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอโนนสูง ประกอบด้วย

  • ชิ้นส่วนกะโหลกสัตว์โบราณ 1 ชิ้น 
  • กรามสัตว์โบราณ 2 ชิ้น
  • และกระดูกสัตว์โบราณ 5 ชิ้น 

สถานที่ขุดพบเป็นบ่อเลี้ยงปลาของชาวบ้าน 

นายสมพร โนกลาง ชาวบ้าน บ้านสี่เหลี่ยม ตำบลใหม่ อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา เป็นเจ้าของที่ดินที่มีการขุดพบซากสัตว์ดึกดำบรรพ์นี้ โดยนายสมพรเล่าว่า ได้ขุดบ่อเลี้ยงปลา ขนาดความกว้าง 8 เมตร ยาว 8.4 เมตร ลึกประมาณ 2 เมตร พบซากกะโหลกอัลลิเกเตอร์ที่พบมีสภาพเกือบสมบูรณ์ในชั้นตะกอนทรายลึกลงไปจากผิวดินประมาณ 2 เมตร

พบซากกะโหลกอัลลิเกเตอร์ที่พบมีสภาพเกือบสมบูรณ์ในชั้นตะกอนทราย (ขอบคุณภาพจากสำนักข่าวเนชั่น) คาดว่าจะมีอายุในช่วงไม่เกินสมัยไพลสโตซีนตอนกลาง หรือประมาณ 230,000 ปีก่อน หรืออาจมีอายุอ่อนกว่านั้น พบว่านี่เป็นอัลลิเกเตอร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก ถูกศึกษาและตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Scientific Reports

ตัวอย่างที่บ้านนายสมพรเก็บมาได้มีจำนวน 3 กล่อง ส่วนใหญ่เป็นเศษกระดูกแตกหักจนไม่สามารถศึกษาได้ 

สายพันธุ์ใหม่ ไม่พบที่ใดมาก่อน

ทีมนักวิจัยได้ศึกษาตัวอย่างโดยเปรียบเทียบกับตัวอย่างที่เคยศึกษามาก่อนหน้านี้ 19 ตัวอย่าง ประกอบด้วยตัวอย่างชนิดที่สูญพันธุ์ไปแล้ว 4 ชนิด และตัวอย่างในปัจจุบัน อีก 2 ชนิด คือ

  • อัลลิเกเตอร์อเมริกา (Alligator mississippiensis)
  • และอัลลิเกเตอร์จีน (Alligator sinensis)

พบว่าซากดึกดำบรรพ์อัลลิเกเตอร์ที่พบ ณ อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ของประเทศไทย เป็น สายพันธุ์ใหม่ของโลก  ได้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า อัลลิเกเตอร์ มูลเอนซิส (Alligator munensis) หรืออัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล ตามแหล่งค้นพบที่ใกล้กับแม่น้ำมูล

ปัจจุบัน มีอัลลิเกเตอร์หลงเหลืออยู่เพียง 2 สายพันธุ์เท่านั้นคือ อัลลิเกเตอร์อเมริกา (Alligator mississippiensis) พบเฉพาะบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกาและอัลลิเกเตอร์จีน (Alligator sinensis) พบเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำแยงซี ประเทศจีน ถือว่าเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างมาก

นักวิจัยกล่าวว่า ข้อมูลด้านการอพยพย้ายถิ่นที่อยู่ของอัลลิเกเตอร์ระหว่างเอเชียและอเมริกา ยังคงเป็นปริศนาว่าเกิดขึ้นเมื่อใด และมีเส้นทางการอพยพเป็นอย่าง
ข้อสันนิษฐานจากการค้นพบในไทย

การค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของอัลลิเกเตอร์ในภูมิภาคเอเชีย รวมถึง "อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล" ในประเทศไทย แสดงให้เห็นว่า ถิ่นที่อยู่ของอัลลิเกเตอร์ในอดีตนั้นเคยกว้างขวางกว่าในปัจจุบันมาก โดยลักษณะเด่น เมื่อเทียบกับอัลลิเกเตอร์ชนิดอื่นคือ มีจะงอยปากกว้างและสั้นกว่า มีกะโหลกสูงกว่า มีตำแหน่งรูจมูกอยู่ห่างจากปลายจะงอยปาก มีการลดจำนวนเบ้าฟันลงและมีเบ้าฟันขนาดใหญ่ขึ้น บ่งบอกว่ามีฟันขนาดใหญ่ใช้สำหรับกินอาหารที่มีเปลือกแข็ง เช่น หอยน้ำจืดชนิดต่าง ๆ จากขนาดกะโหลกคาดว่า มีขนาดทั้งตัวยาวประมาณ 1 - 2 เมตร

อัลลิเกเตอร์จีน (Alligator sinensis) นอกจากนี้ ยังพบว่า ลักษณะกะโหลกของอัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูล ใกล้เคียงกับอัลลิเกเตอร์จีนในปัจจุบัน (Alligator sinensis) แสดงให้เห็นว่า อัลลิเกเตอร์ ทั้งสองชนิดอาจมีบรรพบุรุษร่วมกันระหว่างลุ่มน้ำแยงซีและลุ่มน้ำแม่โขง-เจ้าพระยา

"การเกิดธรณีแปรสัณฐานทำให้เกิดการยกตัวของที่ราบสูงธิเบต ส่งผลให้เกิดการแยกประชากรอัลลิเกเตอร์ทั้งสองชนิดออกจากกัน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้อัลลิเกเตอร์แม่น้ำมูลเกิดการสูญพันธุ์ไปก่อน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว 

ร่องรอยการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ในไทย

ประเทศไทยมีผลงานการศึกษาวิจัยจากกรมทรัพยากรธรณีค้นพบซากดึกดำบรรพ์ชนิดใหม่ทั้งของไทยและของโลก จำนวนทั้งสิ้น 691 ชนิด แบ่งเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง 407 ชนิด สัตว์มีกระดูกสันหลัง 158 ชนิด พืช 69 ชนิด ร่องรอย 1 ชนิด และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก 56 ชนิด อาทิ  

  1. ซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์สายพันธุ์ไทย 13 ชนิด เช่น ชนิดใหม่ล่าสุด มินิโมเคอร์เซอร์ภูน้อยเอนซิส ค้นพบที่ภูน้อยจ.กาฬสินธุ์ อายุ 150 ล้านปีก่อน
  2. ซากดึกดำบรรพ์ปลา โคราชเอเมีย ภัทราชันไน ค้นพบที่บ้านโกรกเดือนห้า จังหวัดนครราชสีมา อายุ 115 ล้านปีก่อน
  3. ซากดึกดำบรรพ์เอปโคราชขนาดใหญ่ โคราชพิเธคัส แม็กนัส ค้นพบที่บ่อทรายโคราชจังหวัดนครราชสีมา อายุ 9 ล้านปีก่อน
  4. ซากดึกดำบรรพ์สนห้าใบ ไพนัส หนองหญ้าปล้องเอนซิส ค้นพบที่หนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี อายุ 25 ล้านปีก่อน
  5. ซากดึกดำบรรพ์อัลลิเกเตอร์ มูลเอนซิส ค้นพบที่โนนสูง จังหวัดนครราชสีมา อายุ 200,000 ปีก่อน