ครูบาศรีวิชัย เป็นใคร ผู้ได้รับการเสนอชื่อบุคคลสำคัญ ยูเนสโก

18 มี.ค. 2566 | 19:39 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มี.ค. 2566 | 19:52 น.

ทำความรู้จัก ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ผู้ได้รับการเสนอชื่อบุคคลสำคัญ ยูเนสโก พระผู้ได้รับการยกย่อง สร้างความเจริญรุ่งเรือง และสืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่

ครูบาศรีวิชัย หรือ พระสีวิไชย พระมหาเถระ นักตนบุญแห่งล้านนา (นักบุญแห่งล้านนา) พระผู้ที่นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงวัฒนธรรม เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดทำแผนและรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อเสนอชื่อ ครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นบุคคลสำคัญของโลก ต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก

เสนอชื่อ ครูบาศรีวิชัย บุคคลสำคัญ ยูเนสโก้

ครูบาศรีวิชัย เป็นใคร

ครูบาศรีวิชัย หรือ พระสีวิไชย พระมหาเถระ เดิมชื่อ “เฟือน” หรือ “อินท์เฟือน” เกิดเมื่อวันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2421 ที่บ้านปาง ตำบลแม่ตืน (ปัจจุบันคือตำบลศรีวิชัย) อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน อุปสมบท พ.ศ. 2442 รวม 39 พรรษา ณ วัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน เป็นพระผู้ที่คนจำนวนมากต่างเชื่อว่าท่านคือ “เจ้าตนบุญแห่งล้านนา” เป็นนักบวชที่มีคุณสมบัติพิเศษ ผู้ที่มาสร้างความเจริญรุ่งเรือง และสืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่

ความหมายของ “ครูบา”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิลักษณ์ ศรีป่าซาง ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา วรรณกรรมและวรรณศิลป์ ได้ให้ความหมายของ “ครูบา” ไว้ว่า เป็นการเรียกขานพระเถระที่เคารพนับถือ ที่มีอายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป ไม่ใช่คำที่กำหนดขึ้นเพื่อเรียกขานตัวเอง ภายใต้เงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1. เป็นพระสงฆ์ที่มีพรรษามาก ทั้งอายุการบวช 2. ต้องปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตลอดอายุการบวช 3. สร้างสิ่งดีงามกับพระศาสนา ส่วนพระสงฆ์ที่มิได้มีพรรษาตามข้อ 1 นั้นก็ไม่นิยมเรียกครูบา

ในปัจจุบัน ปรากฏคตินิยมแบบ “ครูบา” กับกลุ่มพระสงฆ์ที่มีพรรษาน้อย ลักษณะการประพฤติปฏิบัติตนของครูบาหนุ่มเหล่านี้ มักจะมีลักษณะแบบเดียวกันกับครูบาศรีวิชัย คือ นุ่งห่มผ้าสีที่ต่างจากพระสงฆ์นิกายหลัก มีผ้ามัดอก สวมลูกประคำ ใช้พัดขนนกยูง หรือพัดใบลาน มีไม้เท้า และมีแนวคิดแบบล้านนานิยม บางท่านฉันหมากให้คล้ายกับครูบาศรีวิชัย ทั้ง ๆ ที่อายุยังน้อยและก็ไม่เป็นที่นิยมกันแล้วในสังคมปัจจุบัน

ครูบาศรีวิชัย

บทบาท และความสำคัญของ ครูบาศรีวิชัย

ดร. โสภา ชานะมูล ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในสาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยวทรัพยากรวัฒนธรรม ได้กล่าวถึง บทบาท และความสำคัญของ “ครูบาศรีวิชัย” ในฐานะ “เจ้าตนบุญแห่งล้านนา”(นักบุญแห่งล้านนา) ว่า คติความเชื่อเรื่อง “ตนบุญ” กับปรากฏการณ์ “ผู้มีบุญ” ในล้านนานั้น มักจะมีความสัมพันธ์กับคำทำนายในพุทธศาสนา เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องศาสนา 5,000 ปี ซึ่งมักปรากฏตามตำนานวัด ตำนานเมืองของล้านนาเกือบทุกแบบ

ในภาวะยุคเข็ญก็มักจะปรากฏ “ตนบุญ” มาช่วยปราบยุคเข็ญช่วยเหลือประชาชน มักจะเรียกในชื่อต่างๆ กัน เช่น ตนบุญเจ้า ,ตนวิเศษ ,เจ้าตนบุญใหญ่องค์ประเสริฐ หรือ พระยาธรรมิกราช (พญาธรรม) เป็นต้น คนล้านนามีความศรัทธา “ครูบาศรีวิชัย” ในฐานะ “ตนบุญ” แสดงให้เห็นว่าในสังคมล้านนายังคงมีแนวคิด และพื้นฐานทางสังคมที่ผูกพันกับจารีตอย่างเหนียวแน่น

เมื่อความเปลี่ยนแปลงเข้ามาแทรก จึงก่อให้เกิดปัญหาในการปรับตัวบางอย่างกับชาวบ้านอยู่พอสมควร โดยช่วงที่มีการตราพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ขึ้น นับตั้งแต่ พ.ศ. 2450 เป็นต้นมา นโยบายรวมคณะสงฆ์ล้านนาเข้าอยู่ภายใต้การดูแลของคณะสงฆ์ส่วนกลาง ทำให้สงฆ์ทั้งหมดต้องเข้ามาอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ และแบบแผนใหม่ที่เป็นสากลเหมือนกันทั้งหมด ซึ่งนโยบายและกฎเกณฑ์และแบบแผนใหม่ ส่งผลกระทบและขัดต่อจารีตเดิมที่ผูกพันอยู่กับวิถีของคนในสังคมล้านนา

ช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มีเหตุการณ์ความไม่พอใจของกลุ่มคณะสงฆ์ผู้ปกครองเชียงใหม่ ในกรณีที่ครูบาศรีวิชัยดำเนินการสร้างถนนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพโดยไม่ปรึกษาพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ในฝ่ายปกครอง ขณะเดียวกันมีพระสงฆ์ในเชียงใหม่กว่า 50 วัด ลาออกจากการปกครองของคณะสงฆ์ไปขึ้นกับครูบาศรีวิชัย จนมาถึง พ.ศ. 2479  ครูบาศรีวิชัยจึงยอมรับต่อคณะสงฆ์ฝ่ายปกครองว่าจะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์ทุกประการ