เปิดประวัติ "ผ้าขาวม้า" เตรียมผงาดขึ้นแท่นเป็นมรดกโลก 

01 มี.ค. 2566 | 03:15 น.
619

เปิดเส้นทางกว่า 1,000 ปีของ "ผ้าขาวม้าไทย" ก่อนเสนอยูเนสโกขึ้นทะเบียนเป็นตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของโลกล่าสุด

คนไทยรู้จักและใช้ประโยชน์จาก "ผ้าขาวม้า" กันมาช้านาน ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติได้เห็นชอบให้เสนอ ผ้าขาวม้า : ผ้าเอนกประสงค์ในวิถีชีวิตไทย (Pha Khoa Ma : Multifunctional cloths in Thai life) ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก

"ฐานเศรษฐกิจ" พาไปพลิกประวัติย้อนดูเส้นทางพัฒนาการของ "ผ้าขาวม้า" ในประเทศไทยกัน เชื่อว่าหลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ผ้าลายตาหมากรุก หรือ ลายตารางสี่เหลี่ยมนี้มีที่มาที่น่าสนใจไม่น้อย 

ที่มาของคำว่า ผ้าขาวม้า 

ผ้าขาวม้า ไม่ใช่คำไทยแท้แต่เป็นภาษาเปอร์เซียที่มีคำเต็มว่า "กามาร์บันด์" (Kamar band) 

  • "กามาร์" หมายถึง เอว หรือ ท่อนล่างของร่างกาย
  • "บันด์"    แปลว่า พัน รัด หรือ คาด

เมื่อนำสองคำมารวมกันจึงหมายถึง เข็มขัด ผ้าพัน หรือ คาดสะเอว นอกจากนี้คำว่า "กามาร์บันด์" ยังปรากฎอยู่ในภาษาอื่น ๆ อีก เช่น

ภาษามลายู ที่มีคำว่า "กามาร์บัน" (Kamarban) 

ภาษาฮินดี้ มีคำว่า "กามาร์บันด์" (Kamar band)

ภาษาอังกฤษ มีคำว่า "คัมเมอร์บันด์" (Commer band) หมายถึง ผ้ารัดเอวในชุดทัคซิโด้ (Tuxedo) ซึ่งเป็นชุดสำหรับออกงานราตรีสโมสร 

คนไทยรู้จักใช้ผ้าขาวม้ามาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 16 ตรงกับยุคสมัยเชียงแสนที่ผู้หญิงมักนุ่งผ้าถุง ส่วนผู้ชายเริ่มใช้ ผ้าเคียนเอว (ผ้าขาวม้า) ซึ่งได้วัฒนธรรมมาจากไทยใหญ่ (ไทยใหญ่ใช้โพกศีรษะ) ส่วนไทยเรายังมุ่นมวยผมอยู่

เมื่อเห็นประโยชน์ของผ้าจึงนำมาใช้บ้างแต่เปลี่ยนมาเป็นผ้าเคียนเอวเมื่อเดินทางไกลจึงนำมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกซึ่งให้ประโยชน์มาก เช่น ใช้ห่ออาวุธและเก็บสัมภาระในการเดินทาง ปูที่นอน นุ่งอาบน้ำ ใช้เช็ดร่างกาย เมื่อไทยใหญ่เห็นประโยชน์ของการใช้ผ้าจึงนำมาเคียนเอวตาม

ทั้งนี้ คำว่า "เคียน" เป็นคำไทย มีความหมายตามพจนานุกรม หมายถึง การพัน ผูก พาด โพก คาด คลุม เมื่อนำมารวมกับคำว่า "ผ้า" และส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น เอว จึงมีความหมายว่า เป็นผ้าสำหรับคาดเอวซึ่งคนไทยโบราณจะรู้จัก "ผ้าเคียนเอว" มากกว่า "ผ้าขาวม้า" เนื่องจากใช้เรียกกันมาแต่โบราณ ส่วนคำว่า "ผ้าขาวม้า" มานิยมใช้เรียกกันในภายหลัง

คนไทยใช้ผ้าขาวม้าตั้งแต่สมัยอยุธยา

สำหรับหลักฐานที่แสดงว่า คนไทยเริ่มใช้ผ้าขาวม้าในสมัยเชียงแสนนั้น มีปรากฎให้เห็นจากภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดภูมินทร์ จ.น่าน

นอกจากนี้เมื่อดูการแต่งกายของชายหญิงไทยในสมัยอยุธยา ภาพเขียนในสมุดภาพ "ไตรภูมิสมัยอยุธยา" ราวต้นศตวรรษที่ 22 จะเห็นได้ว่า ชาวอโยธยานิยมใช้ผ้าขาวม้าพาดบ่า คาดพุง หรือนุ่งโจงกระเบนแล้วใช้ผ้าขาวม้าคล้องคอตลบห้อยชายทั้งสองข้างไว้ด้านหลัง

สมัยรัตนโกสินทร์ชาวไทยทั้งชาย - หญิงนิยมใช้ผ้าขาวม้ามาทำประโยชน์กันมากยิ่งขึ้นโดยไม่จำกัดแต่เพียงเพศชายอย่างเดียวเหมือนในอดีตและไม่จำกัดเฉพาะทำเป็นเครื่องตกแต่งร่างกายอย่างเดียว

เอกลัษณ์ของ "ผ้าขาวม้า" 

"ผ้าขาวม้า" เป็นอาภรณ์อเนกประสงค์มีลักษณะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนใหญ่ทอมาจากฝ้ายแต่บางครั้งอาจทอจากเส้นไหม ในบางท้องถิ่นนิยมทอจากเส้นด้ายดิบและเส้นป่านนิยมทอสลับสีกันเป็นลายตาหมากรุกหรือเป็นลายทาง โดยมากผลิตในแถบภาคเหนือหรือภาคอีสาน

มีขนาดความกว้าง - ยาวแตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่จะกว้างประมาณ 3 คืบ ยาว 5 คืบ อายุของการใช้งานจะประมาณ 1 - 3 ปี ซึ่งราคาก็จะแตกต่างกันออกไปตามวัสดุที่ใช้ ถ้าเป็นผ้าไหมเนื้อดีจะมีราคาแพงมักนิยมใช้แตะพาดบ่าหรือพาดไหล่ 

หากดูจากประวัติผ้าขาวม้าอาจจะไม่ใช่ผ้าของคนไทยจากระยะเวลาที่ยาวนานกว่า 900 ปีที่ผ่านมา ผ้าขาวม้าเป็นผ้าที่อำนวยความสะดวกให้กับคนไทยมาหลายศตวรรษและมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทยมากมายหลายอย่างด้วยกัน

ตัวอย่างประโยชน์ของผ้าขาวม้า

  • ใช้นุ่งอาบน้ำ 
  • ทำความสะอาดร่างกาย
  • ใช้ซับเหงื่อ/ใช้เช็ดตัวแทนผ้าเช็ดตัว
  • โพกศีรษะกันแดด บังฝน บังลม
  • ปูรองนั่ง
  • ผูกทำเปล
  • ห่ม - คลุม ร่างกาย
  • ใช้นุ่งอยู่บ้านแทนกางเกง
  • คาดเอว
  • ใช้ห่อของแทนย่าม
  • ปัดฝุ่น - แมลง - ยุง
  • ใช้ทำความสะอาดสิ่งของ - เครื่องใช้
  • ใช้แทนผ้าพันแผล     
  • ทำผ้ากันเปื้อน/คลุมโต๊ะ
  • ผ้าอนามัยสำหรับคุณผู้หญิง/ทำผ้าอ้อมสำหรับเด็ก
  • อุปกรณ์การเล่นของเด็ก เป็นต้น 

ที่มา สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง , วิกิพีเดีย และมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร