ส่องวิธีจัดการ PM 2.5 ทั่วโลก เเล้วย้อนดูปฎิบัติการสกัดฝุ่นของไทย

27 ม.ค. 2566 | 07:46 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ม.ค. 2566 | 08:35 น.
609

ส่องวิธีจัดการ PM 2.5 ทั่วโลก เเล้วย้อนดูปฎิบัติการสกัดฝุ่นของไทย หลังจากมีการออกมาเตือนค่าฝุ่นสูงในพื้นที่ กทม.

หลายเมืองใหญ่ทั่วโลก ต่างเผชิญกับ ปัญหา PM 2.5 อยู่แทบทุกปี แต่ถ้าย้อนไปเมื่อปี 2561 และ 2562 กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเผชิญกับปัญหา PM 2.5 ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพในหลายพื้นที่ ปี 2566 ก็เช่นกัน

ล่าสุด มีคำเตือนค่าฝุ่น PM2.5 กลับมาพุ่งสูง กทม.จึงเตรียมรับมือ เพราะ ค่าฝุ่น PM2.5 จะเกินมาตรฐานอีกครั้งในวันที่ 27 ม.ค.66 และจะเกิดพื้นที่สีส้มทั่วกรุงเทพฯอีกครั้งในวันที่ 1 ก.พ.66 ซึ่งปัญหานี้จะอยู่ไปจนถึงเดือนเมษายน  ด้านอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ปีนี้มีความแห้งแล้งมากกว่าปีที่ผ่านมา นี่เป็นปัจจัยส่งเสริมทำให้ PM2.5 อาจจะรุนแรงขึ้น ซึ่งจากสถิติที่ผ่านพบว่าเดือนที่มักจะมีความรุนแรงของ PM2.5 มากที่สุดคือเดือนกุมภาพันธ์

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ช่วงวันที่ 31 ม.ค.66 ถึง 1 ก.พ.66 สถานการณ์มีโอกาสรุนแรงเหมือนวันที่ 24 ม.ค.66 ซึ่งไม่สามารถควบคุมปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยาได้ แต่สิ่งที่สามารถควบคุมได้คือ แหล่งกำเนิด เช่น การจราจร ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในพื้นที่กรุงเทพ โรงงานอุตสาหกรรม ภาคครัวเรือน การเผาในที่โล่ง เราจึงได้เห็นการออกมาร่วมด้วยช่วยกันควบคุม โดยมีบริษัทเอกชนตอบรับ Work From Home ลดฝุ่น 11 บริษัท 

แน่นอนว่าหลายประเทศทั่วโลกก็ประสบปัญหาฝุ่นพิษไม่แพ้กัน ฐานเศรษฐกิจ พาไปดูบทเรียนและมาตรการรับมือจากทั่วโลกที่น่าสนใจ

จีน เป็นประเทศที่ลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี 2556 ที่เกิดวิกฤติฝุ่นพิษในจีนสูงเกินมาตรฐานของ WHO ถึง 40 เท่า สภาแห่งรัฐของจีน ได้ประกาศแผนป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศที่เข้มงวดที่สุดเท่าที่เคยมีมา ผลของการใช้มาตรการเหล่านี้ทำให้ความเข้มข้นของ 5 ในปี 2560 ลดลงถึง 25% ถือเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหามลพิษฝุ่น 

อังกฤษ มีปัญหาในการเผาไร่และนาหลังฤดูเก็บเกี่ยว อังกฤษ รัฐบาลเพิ่งประกาศยุทธศาสตร์อากาศสะอาด (Clean Air Strategy) เมื่อปี 2561 กำหนดเป้าหมายใหม่ที่ชัดเจนเพื่อลดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ปัจจุบันเมืองกว่า 40 แห่งในสหราชอาณาจักร มีค่าพีเอ็ม 2.5 ในระดับเดียวกับที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด หรือสูงกว่า รัฐบาลอังกฤษตั้งเป้าว่าจะเป็น แกนนำโลก ในการควบคุม PM 2.5

เกาหลีใต้  ใช้มาตรการฉุกเฉินแก้ปัญหามลพิษในกรุงโซล จัดให้บริการขนส่งมวลชนฟรีในช่วงเวลาเร่งด่วน เพื่อช่วยลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล การจำกัดการใช้รถยนต์รุ่นเก่า การจำกัดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลของลูกจ้างรัฐ การปิดลานจอดรถตามหน่วยงานรัฐ 360 แห่ง และการลดการก่อสร้างของโครงการที่ได้รับงบประมาณจากภาครัฐ

ปี 2018 กระทรวงสิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ประกาศใช้โครงการนำร่อง ใช้โดรนติดกล้องบินตรวจตราพื้นที่แถบชานกรุงโซล ตรวจสอบว่าโรงงานอุตสาหกรรมว่ามีการลักลอบปล่อยควันเสียที่มาของฝุ่นละอองขนาดเล็กและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือไม่ 

ประเทศไทย ที่ผ่านมา รัฐบาลมีการกำหนดค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในปี 2538, 2547, 2550, 2552 และ 2553 แต่ก็มีการเรียกร้องให้แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างจริงจังในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ถูกวิพากวิจารณ์ว่ายังไม่มีรูปธรรมจากรัฐบาล นอกจากการแก้ไขปัญหาที่ถูกมองว่าเป็นเพียงปลายเหตุ เช่น ฉีดน้ำขึ้นไปในอากาศหรือฉีดน้ำรดถนน ทำฝนเทียมลดฝุ่น บังคับไม่ให้จุดไฟเผาไร่ข้าวโพดและไร่อ้อยในพื้นที่ต่างๆ รณรงค์ให้ประชาชนงดจุดธูป รณรงค์ให้งดรับประทานหมูกระทะและการตรวจจับควันดำจากรถยนต์ 

ปี 2566 รัฐบาลเตรียมแผน “รับมือฝุ่น PM2.5”  ด้วยหลักการ 3 พื้นที่ คือ พื้นที่เมือง พื้นที่ป่า และพื้นที่เกษตรกรรม 

พื้นที่เมือง : มีแหล่งกำเนิดมาจากการจราจรและโรงงานอุตสาหกรรม 

  1. ขอความร่วมมือให้บำรุงรักษาเครื่องยนต์ทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน
  2. เพิ่มความเข้มงวดตรวจวัดควันดำและขยายพื้นที่ตรวจวัดควันดำเพื่อควบคุมตั้งแต่ต้นทาง
  3. ตรวจกำกับโรงงานอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มในการปล่อยมลพิษสูง จำนวน 896 โรงงาน เช่น โรงงานที่ใช้หม้อน้ำ โรงงานที่ใช้ถ่านหิน โรงงานหลอมเหล็ก เป็นต้น
  4. ควบคุมสถานประกอบการ เช่น กิจการผสมซีเมนต์ กิจการหลอมโลหะ อู่พ่นสีรถยนต์ กิจกรรมผลิตธูป เป็นต้น

พื้นที่เกษตร : มีแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองมาจากการเผาเศษวัสดุการเกษตร 

  1. ส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร 
  2. สร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา โดยกำหนดเป้าหมายใน 62 จังหวัด เกษตรกรจำนวน 17,640 คน และตั้งเป้าหมายในการลดจำนวนจุดความร้อนร้อยละ 10%

พื้นที่ป่า : แหล่งกำเนิดฝุ่นละอองที่สำคัญมาจากไฟป่า 

  1. รณรงค์ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ ป้องกันไฟป่า การบริหารจัดการเชื้อเพลิงด้วยวิธีชิงเก็บลดเผา ไม่น้อยกว่า 3,000 ตัน
  2. บูรณาการกับทุกภาคส่วน ส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า
  3. การประยุกต์ใช้ระบบพยากรณ์ระดับชั้นอันตรายของไฟ (Fire Danger Rating System: FDRS) และดับไฟป่า
  4. กำหนดเป้าหมายตัวชี้วัดให้ลดจำนวนจุดความร้อนละ 20% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง

 7 มาตรการ

  1. เร่งรัดการประชาสัมพันธ์เชิงรุก - แจ้งเตือนล่วงหน้า 7 วันทุกพื้นที่
  2. ยกระดับมาตรการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองและแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง
  3. ยกระดับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร 
  4. กำกับดูแลการในทุกระดับอย่างเข้มงวด ติดตามผลการดำเนินการ และประเมินสถานการณ์ต่อเนื่อง
  5. ลดจุดความร้อน ป้องกันและควบคุมการเกิดไฟในทุกพื้นที่ และพัฒนาระบบพยากรณ์ความรุนแรงและอันตรายของไฟ (Fire Danger Rating System : FDRS)
  6. ผลักดันกลไกระหว่างประเทศ เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนมีประสิทธิภาพสูงสุด
  7. ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนและป้องกันแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละออง