เมื่อโลกร้อนทำให้เกิด "วิกฤติอาหาร" ป่วนโลก

26 ม.ค. 2566 | 08:35 น.

เมื่อโลกร้อนทำให้เกิด "วิกฤติอาหาร" ป่วนโลก ชวนย้ำเตือนความสำคัญของปัญหานี้ที่มาจากเหตุการณ์ต่างๆ ตั้งเเต่ปีที่ผ่านมาที่ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องจับตา

วิกฤติอาหารโลก เป็นประเด็นที่น่าจับตา Global Report on Food Crises 2022 ชี้ให้เห็นว่าประชากรเกือบ 193 ล้านคนใน 53 ประเทศ กำลังเผชิญกับปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหารเฉียบพลัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2021 เกือบ 40 ล้านคน นี่อาจเรียกได้ว่าเข้าขั้นวิกฤต และเป็นสัญญาณเตือนภัยที่กำลังจะตามมา

ขณะที่ ธนาคารโลกหรือ เวิลด์แบงก์ คาดการณ์ว่า ปี 2565 วิกฤตอาหารโลก (Global Food Crisis) จะเกิดปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์นั่นคือ จึงประกาศแผนรับมือวิกฤติความมมั่นคงด้านอาหารโลก อัดฉีดงบประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลาร์เข้าสู่โครงการในปัจจุบันและโครงการใหม่

 

 

สาเหตุของวิกฤตอาหารโลก

ผลพวงจากสงครามรัสเซีย ยูเครน การสู้รบทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ราคาปุ๋ยแพงขึ้น ทำให้สินค้าเกษตรแพงตามไปด้วย

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ทำให้จำนวนผลผลิตทางการเกษตรแต่ละประเทศลดลง แนวโน้มนี้เกิดขึ้นก่อนสงคราม และแนวโน้มอุณหภูมิของโลกที่เพิ่มขึ้นต่อไปจะยิ่งส่งผลกระทบที่รุนแรงขึ้น

หลายประเทศมีนโยบายสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Protectionism) จำกัดหรือห้ามการส่งออกแล้วกว่า 30 ประเทศ เพื่อสำรองวัตถุดิบอาหารและพลังงานไว้  โดยข้อมูลก่อนหน้านี้ ระบุว่า อินโดนีเซียจำกัดส่งออกน้ำมันปาล์มจนถึง 31 ธันวาคม 65 มาเลเซียจำกัดส่งออกเนื้อสัตว์ปีกและไก่ จำนวน 3.6 ล้านตัวต่อเดือน อินเดียระงับการส่งออกข้าวสาลีเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่พฤษภาคมที่ผ่านมา ยูเครน ระงับการส่งออกข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวฟ่าง น้ำตาล ถึง 31 ธันวาคม 65 ตุรกีระงับการส่งออกเนื้อวัว เนื้อแกะ เนื้อแพะ เนย และน้ำมันประกอบอาหารจนถึง 31 ธันวาคม 65 อาร์เจนตินาระงับการส่งออกน้ำมันถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง ไปจนถึง 31 ธันวาคม 65

 

คำถามที่ตามมาคือ การบริหารจัดการของทั่วโลก ทำอย่างไร 

ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าแนวโน้มดัชนีราคาอาหารยังคงทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องถึงปี 2567 เครือข่ายทั่วโลกกำลังพยายามส่งเสริมระบบเกษตรและอาหารที่ตอบโจทย์สังคม สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ เพื่อเลี้ยงดูผู้คนกว่า 8,500 ล้านคน ในปี 2573 นั่นหมายถึงจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบเกษตรและอาหารของโลกถึงจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 

ประเทศไทยแม้จะได้รับอานิสงค์ สะท้อนจากตัวเลขส่งออกไทยปี 2565 ล่าสุดกระทรวงพานิชย์ ระบุว่า ขยายตัว 5.5% มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 287,067.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่เป้าหมายการส่งออกปี 2566 คาดการณ์ไว้ที่ 1-2% เเละเตรียมเดินหน้าบุกตลาดตะวันออกกลาง เอเชียใต้ จีน

เเละเมื่อย้อนกลับไปดูข้อมูลของ The Economist Intelligence Unit  พบว่า ดัชนีความมั่นคงทางด้านอาหาร (Global Food Security Index: GFSI) ในปี 2021 พบว่า ไทยอยู่ในลำดับที่ 51 ของโลกจากทั้งหมด 113 ประเทศ นั่นอาจเป็นเพราะประชาชนหาซื้ออาหารได้ง่าย และทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตอาหารมีความยืดหยุ่น อยู่ในลำดับที่ 40 และ 50 ของโลก

แต่ก็ยังมีจุดอ่อน คือ ความพร้อมและความพอเพียงด้านอาหาร  และคุณภาพและความปลอดภัย อยู่ในระดับที่ 59 และ 73 ของโลก ไทยยังขาดการสนับสนุนการขยายการเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งอาจทำให้อุปทานอาหารเกิดการชะงัก อาหารไทยต้องความหลากหลายทางโภชนาการมากขึ้น เพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล