7 เรื่องราวที่ควรรู้เกี่ยวกับ วันครูแห่งชาติ 2566

16 ม.ค. 2566 | 03:50 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ม.ค. 2566 | 13:52 น.
1.7 k

วันครูแห่งชาติ 2566 เวียนมาบรรจบครบอีกปีแล้ว ความสำคัญของวันนี้มีความหมายอย่างยิ่งต่อการศึกษาของประเทศไทย ฐานเศรษฐกิจรวบรวม 7 ข้อควรรู้ของวันครูมาให้รับทราบกันว่ามีอะไรบ้าง

วันครูแห่งชาติ หรือ วันครูแห่งประเทศไทย เวียนมาบรรจบอีกปีแล้ว ในวันที่ 16 มกราคม 2566 ถือเป็นหนึ่งวันสำคัญที่แสดงให้เห็นความสำคัญของครู และอาชีพครู ในฐานะที่เป็นผู้เสียสละประกอบคุณงามความดี เพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชน โดยเฉพาะการถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ลูกศิษย์

อย่างไรก็ตามเพื่อให้เห็นเรื่องวันสำคัญของวันครูแห่งชาติ ฐานเศรษฐกิจได้รวบรวม ข้อควรรู้ของวันครูมาให้รับทราบกันว่ามีอะไรบ้าง

1.จุดเริ่มต้นของวันครู

เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2499 กำหนดให้วันที่ 16 มกราคม ของทุกปีเป็น “วันครูแห่งประเทศไทย” เพื่อเป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครู โดยคุรุสภาเป็นหน่วยงานหลักในการจัดงาน เช่น ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคี ความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน 

โดยการจัดงานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2500 จนถึงปัจจุบันในปีนี้ จัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 67 โดยสถานที่จัดงานวันครูครั้งแรกของจังหวัดพระนครและธนบุรี คือ กรีฑาสถานแห่งชาติ

 

ภาพประกอบข่าว 7 เรื่องราวที่ควรรู้เกี่ยวกับ วันครูแห่งชาติ 2566

2.ดอกไม้ประจำวันครู

เมื่อปี 2539 คณะกรรมการจัดงานวันครู ได้มีมติกำหนดให้ “ดอกกล้วยไม้” เป็นดอกประจำวันครู โดยพิจารณาเห็นว่า ธรรมชาติของดอกกล้วยไม้มีลักษณะคล้ายคลึงกับงานจัดการศึกษาและสภาพชีวิตครู 

3.คำขวัญวันครู 2566

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบสารวันครูและคำขวัญเนื่องในโอกาสวันครู ครั้งที่ 67 พ.ศ.2566 ความว่า “ครูดี ศิษย์ดี มีอนาคต”

4.เพลงเกี่ยวกับวันครู

เพลงที่ได้รับการเปิดมากที่สุดในวันครู หนึ่งในนั้นคือเพลง "พระคุณที่สาม" ขับร้องโดย คำร้อง-ทำนอง สุเทพ โชคสกุล 

5.จำนวนครูในประเทศไทย

ปัจจุบันข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการ แจ้งว่า ประเทศไทยมีจำนวนข้าราชการในระบบประมาณ 3.5 แสนคน คิดเป็นสัดส่วนครู 1 คนต่อนักเรียน 19 คน 

 

ภาพประกอบข่าว 7 เรื่องราวที่ควรรู้เกี่ยวกับ วันครูแห่งชาติ 2566

6.ค่าตอบแทนของครูไทย

โครงสร้างเงินเดือนข้าราชการครูต่ำสุดเดือนละ 15,050 บาท (ครูผู้ช่วย) สูงสุด 76,800 บาท ยังไม่รวมเงินประจำตำแหน่งและเงินพิเศษอื่นๆ

7.ปัญหาสะสมหนี้สินครูไทย

จากข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการพบว่ามีครูและข้าราชการบำนาญเป็นหนี้สหกรณ์และสถาบันการเงินกว่า 900,000 คน มีภาระหนี้รวมประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท