"วันครู" แตกต่างกับ "วันไหว้ครู" อย่างไร ที่มาและความสำคัญ

16 ม.ค. 2567 | 00:10 น.
21.0 k

เคยรู้สึกสับสนไหมว่า ระหว่าง "วันครู" กับ "วันไหว้ครู" ที่ชื่อคล้ายๆกันนั้น เป็นวันเดียวกันหรือเปล่า และถ้าไม่ใช่ สองวันนี้แตกต่างกันอย่างไร “ฐานเศรษฐกิจ” มีคำตอบให้ที่นี่

 

วันสำคัญเกี่ยวกับ อาชีพครู ที่มีเป็นประจำทุกปีนั้น มีสองวันคือ "วันครู" และ "วันไหว้ครู" แต่ทั้งสองวันนี้มีความหมาย ความสำคัญ และกิจกรรมที่เกิดขึ้น แตกต่างกัน อีกทั้งยังจัดขึ้นในช่วงเวลาต่างกันด้วย โดย"วันครู" มีกำหนดแน่นอนตายตัว ตรงกับวันที่ 16 มกราคมของทุกปี ส่วน"วันไหว้ครู" มักจัดขึ้นหลังเปิดภาคการศึกษาใหม่ หรือตรงกับพฤหัสบดีที่สองของเดือนมิถุนายน

ประวัติวันครูแห่งชาติ

วันครูแห่งชาติ หรือ Teachers’ Day ตรงกับวันที่ 16 มกราคมของทุกปี ซึ่งต่างจากวันครูโลก หรือ World Teachers' Day ที่ตรงกับวันที่ 5 ตุลาคม

วันครู เป็นวันที่มีวัตุประสงค์ มุ่งรำลึกถึงพระคุณของครูอาจารย์ ส่งเสริมความสามัคคีธรรมระหว่างครู สร้างความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน และส่งเสริมยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพครู นอกจากนี้ ยังเป็นวันที่ครูจะได้มาพบปะแลกเปลี่ยนเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์การเรียนการสอนเด็กๆ ในโรงเรียน รวมทั้งการพูดคุยถึงสวัสดิภาพของครูในปัจจุบันและอนาคตด้วย

"ควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพสักการะต่อครู" - จอมพล ป.พิบูลสงคราม

วันครูแห่งชาติของไทย จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 เป็นผลสืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ. 2488 ที่ระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า "คุรุสภา" เป็นนิติบุคคลที่รับผิดชอบเกี่ยวกับสถาบันวิชาชีพครู

ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี พ.ศ. 2499 จอมพล ป.พิบูล สงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ในเวลานั้น ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศ มีการเสนอว่า "ควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพสักการะต่อครู" จากแนวคิดดังกล่าว คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2499 ให้วันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็น "วันครู" โดยถือตามวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งได้แก่วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2488

สถานที่จัดงานวันครูครั้งแรก คือกรีฑาสถานแห่งชาติ (ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสนามศุภชลาศัย) ในจังหวัดพระนครและธนบุรี เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500

การจัดงานวันครูมักจะมีกิจกรรม 3 ประเภทหลัก คือ

1 กิจกรรมทางศาสนา

2 พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วยพิธีปฏิญาณตน การกล่าวคำรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์

3 กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู ส่วนมากเป็นการแข่งขันกีฬาหรือการจัดงานรื่นเริงในตอนเย็น นอกจากนั้น ยังมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานของครู และมอบรางวัลให้กับครูที่มีผลงานดีเด่นด้วย

 

" กล้วยไม้มีดอกช้า ฉันใด การศึกษาเป็นไป เช่นนั้น แต่ออกดอกคราวใด งามเด่น งานสั่งสอนปลูกปั้น เสร็จแล้วแสนงาม" - หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล

สัญลักษณ์วันครู

ดอกกล้วยไม้ ถูกประกาศให้เป็นดอกไม้ประจำวันครู ในปี พ.ศ. 2539 โดยคณะกรรรมการจัดงานวันครูได้เล็งเห็นว่า "การเจริญเติบโตของพืชชนิดนี้ต้องให้ความสำคัญในการดูแลเอาใจใส่เป็นเวลานาน เพื่อให้ได้ผลิดอกสวยงาม เช่นเดียวกับการใช้เวลาอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ทั้งวิชาความรู้และนิสัย เพื่อให้เติบโตเป็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติ"

คำปฏิญาณตนของครู ประกอบพิธีในวันครู

  • ข้าจะบำเพ็ญตน ให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู
  • ข้าจะตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ
  • ข้าจะรักษาชื่อเสียงของคณะครู และบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม

คำขวัญวันครูประจำปีพ.ศ. 2567 โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คือ “ครูวางฐานคิด ส่งเสริมศิษย์สร้างสรรค์”

หมายถึง “ครู” คือผู้นำความรู้ทั้งจากทั้งในตำรา และจากประสบการณ์ที่สั่งสมมาถ่ายทอดให้กับศิษย์ งานของครูในโลกยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ จึงไม่ใช่แค่การสอนหนังสือให้ความรู้ตามตำรา แต่ครูยังต้องใส่ใจสอนวิธีคิด และวิธีจัดการกับข้อมูลที่มีอยู่อย่างหลากหลาย เพื่อให้ศิษย์สามารถจัดระเบียบความคิดได้ รวมถึงเติบโตขึ้นเป็นคนที่มีความสามารถในการแสวงหาความรู้ได้ด้วยตัวเองอย่างมีคุณภาพ

 

ประวัติวันไหว้ครู

คนส่วนใหญ่มักคุ้นเคยกับ "วันไหว้ครู" เพราะมีกิจกรรมสำคัญที่นักเรียนไทยทุกคนคุ้นเคยกันดี นี่คือโอกาสที่นักเรียนจะได้แสดงความคิดสร้างสรรค์และฝึกการทำงานกลุ่มด้วยการช่วยกันจัดหา "ดอกไม้ไหว้ครู" และวัสดุอื่นๆ มาจัดพานที่เรียกว่า “พานไหว้ครู” เพื่อนำมาประกอบพิธีไหว้ครู และมักจะมีการจัดประกวดแข่งขันพานไหว้ครูระหว่างห้องเรียน และชั้นเรียนต่างๆด้วย

ทั้งนี้ วันไหว้ครู ไม่มีกำหนดวันที่ในแต่ละปี แต่มักจัดในช่วงหลังเปิดภาคการศึกษาใหม่ หรือ วันพฤหัสบดีที่สองของเดือนมิถุนายน ซึ่งตรงกับช่วงเปิดภาคเรียนปีการศึกษาที่ 1 ของโรงเรียนในสังกัดการศึกษาขั้นพื้นฐานกระทรวงศึกษาธิการ

วัตถุประสงค์ของวันไหว้ครูก็เพื่อให้เป็นวันที่ลูกศิษย์พร้อมใจกันทำพิธีไหว้หรือบูชาครู เพื่อระลึกถึงพระคุณของครูผู้ให้การอบรมสั่งสอน มักจะจัดในช่วงหลังเปิดเทอมเพื่อให้ลูกศิษย์ได้นำดอกไม้หรือจัดพานเพื่อบูชาครูก่อนเริ่มการเรียนการสอนในปีนั้นๆ

การไหว้ครู เป็นธรรมเนียมปฏิบัติให้ลูกศิษย์ได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อครูผู้สอนวิชาความรู้ เปรียบเสมือนเรือที่พายไปส่งผู้โดยสารให้ขึ้นฝั่ง ครูคือผู้ที่ปรารถนาดีต่อนักเรียน และเป็นอาชีพที่ได้รับการยกย่องจากสังคม ถือเป็นแบบอย่างอันดีแก่เยาวชน ซึ่งจะกลายเป็นคนรุ่นใหม่ที่ขึ้นมาพัฒนาประเทศต่อไป

สำหรับ กิจกรรมวันไหว้ครู นั้น ช่วงเช้าคุณครูมักร่วมกันทำบุญใส่บาตร ช่วงสายๆ จะเป็นพิธีไหว้ครู บางสถานศึกษาจัดงานรับประทานอาหารร่วมกับคุณครูที่เกษียณอายุแล้วในมื้อกลางวันหรือมื้อค่ำ

 

พานไหว้ครู (ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1)

กิจกรรมที่เรียกได้ว่าเป็นไฮไลท์ของวันไหว้ครู คือพิธีการไหว้ครู และการส่งตัวแทนเด็กนักเรียนมาถือพานไหว้ครูมอบแด่คุณครู โดย บทสวดไหว้ครู มีดังนี้

(ผู้นำสวดกล่าว) ปาเจราจริยาโหนติ คุณุตตรานุสาสกา

(นักเรียนสวดพร้อมกัน ทำนองสรภัญญะ)

 ข้าขอประณตน้อมสักการ บูรพาคณาจารย์

ผู้กอรปประโยชน์ศึกษา

ทั้งท่านผู้ประสาทวิชา อบรมจริยา

แก่ข้าในกาลปัจจุบัน

ข้าขอเคารพอภิวันท์ ระลึกคุณอนันต์

ด้วยใจนิยมบูชา

ขอเดชกตเวทิตา อีกวิริยะพา

ปัญญาให้เกิดแตกฉาน

ศึกษาสาเร็จทุกประการ อายุยืนนาน

อยู่ในศีลธรรมอันดี

ให้ได้เป็นเกียรติเป็นศรี ประโยชน์ทวี

แก่ชาติและประเทศไทยเทอญฯ

(ผู้นำสวด) ปัญญาวุฒิกเร เต เต ทินโนวาเท นมามิหัง

พานไหว้ครู

พานไหว้ครู มักจะประกอบด้วย 4 ดอกไม้ไหว้ครู หลักๆ ที่มีความหมายลึกซึ้ง คือ

  1. หญ้าแพรก หมายถึง ความเจริญงอกงาม เปรียบเสมือนปัญญาของนักเรียน
  2. ดอกมะเขือ หมายถึง ความอ่อนน้อม พร้อมจะเรียนรู้วิชาต่างๆ จากครู
  3. ดอกเข็ม หมายถึง สติปัญญาที่แหลมคมเหมือนดอกเข็ม และวิชาความรู้อันมีรสหวานเหมือนน้ำหวานของดอกเข็ม
  4. ข้าวตอก หมายถึง ระเบียบวินัย การรู้จักควบคุมตนเอง เพราะถ้าไม่รู้จักควบคุมตัวเองจะเป็นเพียงข้าวเปลือกที่ถูกคั่ว แต่เป็นข้าวตอกไม่ได้ นอกจากนี้ ยังมีอีกความหมายคือข้าวตอกสื่อถึง ความรู้ที่แตกฉาน เพิ่มพูนอย่างรวดเร็ว เหมือนลักษณะของข้าวสาร เปรียบได้กับการที่ครู “คั่ว” นักเรียนคนใดคนหนึ่ง  โดย“คั่ว”คือการเคี่ยวเข็ญ ว่ากล่าวตักเตือน อบรมสั่งสอนนั่นเอง วิชาความรู้ของนักเรียนจึงจะ “แตกฉาน”สามารถนำมาใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันได้