เปิดประวัติ -ที่มา "ดอกกล้วยไม้" สัญลักษณ์ประจำ วันครูแห่งชาติ 2566  

11 ม.ค. 2566 | 15:50 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ม.ค. 2566 | 22:50 น.
1.9 k

เปิดที่มา-ประวัติความสำคัญ "วันครูแห่งชาติ" พร้อมความหมายของ "ดอกกล้วยไม้" สัญลักษณ์ประจำวันครูแห่งชาติ 16 ม.ค. 2566  

วันที่ 16 มกราคมของทุกปี ทราบกันดีว่าเป็น วันครูแห่งชาติ ซึ่งเป็นวันที่มีความสำคัญอีกวันหนึ่งเพราะครูเปรียบได้กับพ่อแม่คนที่ 2 ของเด็กทุกคน เป็นบุคคลที่มีความสำคัญในการให้การศึกษาเรียนรู้ วันครู จึงถูกกำหนดขึ้นเพื่อเป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครู


กล้วยไม้ ดอกไม้ประจำวันครู

สำหรับดอกไม้วันครู คือ ดอกกล้วยไม้ โดยคณะกรรมการจัดงานวันครู พ.ศ. 2539 พิจารณาเห็นว่า คุณลักษณะของดอกกล้วยไม้ มีลักษณะและความหมายคล้ายคลึงกับสภาพชีวิตครู

 

กล่าวคือ กล้วยไม้แต่ละช่อกว่าจะผลิดอกออกผล ต้องใช้เวลานานและต้องการดูแลเอาใจใส่อย่างมาก เช่นเดียวกับ ครูแต่ละคนที่กว่าจะอบรมสั่งสอนเคี่ยวเข็ญศิษย์ให้มีความรู้ ความสามารถ มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตได้นั้น ก็ต้องใช้เวลาอย่างมากเช่นกัน

 

นอกจากนี้ กล้วยไม้ ยังเป็นพืชที่ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ เปรียบเสมือนครูที่อยู่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทยที่ต้องอดทนต่อสู้ อุทิศตนเพื่อการศึกษาของชาติ โดย ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล บุคคลผู้มีคุณูปการอันยิ่งใหญ่ต่อการศึกษาไทย ได้เขียนโคลงถึงการศึกษาเอาไว้บทหนึ่งว่า

 

"กล้วยไม้มีดอกช้า  ฉันใด

การศึกษาเป็นไป  เช่นนั้น

แต่ดอกออกคราวไร  งามเด่น

งานสั่งสอนปลูกปั้น  เสร็จแล้วแสนงาม"
 


ในปี 2566 วันครู  ตรงกับวันจันทร์ที่ 16 มกราคม กำหนดขึ้นเพื่อให้ลูกศิษย์ได้ระลึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ที่ได้อบรมสั่งสอนวิชาต่าง ๆ ให้ พาไปดูประวัติ ความหมาย ความเป็นมาเกี่ยวกับวันครูแห่งชาติ กัน 

ประวัติ -ความเป็นมา วันครู 

วันครู จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 สืบเนื่องจากการประกาศพระราชบัญญัติครู ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อปี พ.ศ. 2488 ที่ระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการ เรียกว่า คุรุสภา เป็นนิติบุคคล ให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา มีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครู

 

พร้อมทั้งทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษาและวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการ ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู พร้อมจัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัวให้ได้รับความช่วยเหลือตามสมควร 


ทุกปีคุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปีเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามปัญหาข้อข้องใจต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภา โดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบข้อสงสัย สถานที่ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาใช้หอประชุมคุรุสภาแทน 

ทั้งนี้ ในปี 2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติศักดิ์ในขณะนั้น ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศ สรุปใจความได้ดังนี้

 

เนื่องจากเป็นผู้ที่มีบุญคุณ เป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเรา จึงคิดว่า ควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพสักการะ เช่นเดียวกับเมื่อถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณมาทำบุญ ทำทาน ซึ่งผู้ที่สำคัญรองลงไปก็คือ ครูผู้เสียสละทั้งหลายเหล่านี้นี่เอง จึงเสนอให้มีวันครู เพื่อเป็นวันที่ได้ระลึกถึงบุญคุณของครูด้วย 

 

ประกอบกับในช่วงเวลานั้น ความเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่น ๆ ต่างเรียกร้องให้มีวันครู เพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชน 


กระทั่ง คณะมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2499 ให้วันที่ 16 มกราคม ของทุกปี เป็น วันครู โดยถือเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครู ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2488 เป็น วันครู และให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าวด้วย