ทำไม'ควายน้ำทะเลน้อย’ขึ้นแท่นมรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของไทย

12 พ.ย. 2565 | 11:56 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ย. 2565 | 19:14 น.
1.6 k

ทำไม'ควายน้ำทะเลน้อย’ จ.พัทลุง ภูมิปัญญามากกว่า 250 ปี ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของไทย

การเลี้ยงควายปลักในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จ.พัทลุง เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมามากกว่า 250 ปีแล้ว การที่พื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของไทย

 

ทำไม\'ควายน้ำทะเลน้อย’ขึ้นแท่นมรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของไทย

 

วันนี้ (12 พฤศจิกายน) รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทราบว่า
'ควายน้ำทะเลน้อย’ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของไทย

'ควายน้ำทะเลน้อย’ เป็นภูมิปัญญาการเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยของจังหวัดพัทลุง ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ให้เป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทย (Globally Important Agricultural Heritage Systems: GIAHS)  

 

เกณฑ์การพิจารณาการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร ประกอบด้วย 

 

  • ความมั่นคงทางอาหาร ชีวิตความเป็นอยู่ดี

 

  • ความหลากหลายทางชีวภาพเกษตร

 

  • ระบบความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น มีมาแต่ดั้งเดิม

 

  • วัฒนธรรม ระบบคุณค่า และองค์กรทางสังคม

 

  • ลักษณะภูมิทัศน์และภูมิทัศน์ทางทะเล

 

การเลี้ยงควายปลักในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมามากกว่า 250 ปีแล้ว

 

การที่พื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้น จะช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้ดีขึ้น ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจในท้องถิ่นเติบโต ส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาความสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพเอาไว้ได้

 

“นายกรัฐมนตรีมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของไทย ที่เป็นมรดกตกทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษได้รับการยอมรับ และได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การสหประชาชาติ สะท้อนให้เห็นว่ามรดกและภูมิปัญญาของไทยนั้นทรงคุณค่า" 

 

ทำไม\'ควายน้ำทะเลน้อย’ขึ้นแท่นมรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของไทย

 

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรียังขอบคุณไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ดำเนินงานตอบรับตามแนวนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการพัฒนามรดกภูมิปัญญาของไทยจนได้รับรางวัลนี้ รวมทั้งขอบคุณประชาชนทุกคนที่ได้ร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาอันดีงามของไทยเอาไว้เรื่อยมา


สำหรับเหตุผลที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และจังหวัดพัทลุง ได้เลือกควายปลัก (ควายน้ำ ทะเลน้อย) นั้นมาจาก การสำรวจบัญชีการขึ้นทะเบียนมรดกเกษตรโลก ปรากฏว่าใน 52 ชนิดของสัตว์และพืชที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมาตั้งแต่ปี 2558 ไม่มีประเทศไหนเลยที่ยื่นขอนำควายปลัก (ควายน้ำ) มาขึ้นทะเบียนมรดกเกษตรโลก 


ทั้งยังพบอีกว่า ประเทศอื่นๆ ไม่มีควายน้ำเหมือนอย่างที่จังหวัดพัทลุง แม้จะดำน้ำได้แต่ดำได้ไม่อึดทนนานเหมือนควายปลัก (ควายน้ำ) ของไทย ที่ดำนานถึงเกือบ 20 วินาที

 

ปัจจุบันควายที่เกษตรกรเลี้ยงในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย เป็นของเกษตรกรใน ต.ทะเลน้อย ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง และของเกษตรกร ต.บ้านขาว อ.ระโนด จ.สงขลา ที่มีพื้นที่ติดต่อกันมากกว่า 3,500 ตัว