นักวิชาการชี้กฎระเบียบไทยยังก้าวไม่ทันนวัตกรรมในสังคม

02 ต.ค. 2565 | 14:04 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ต.ค. 2565 | 21:05 น.

นักวิชาการชี้กฎระเบียบไทยยังก้าวไม่ทันนวัตกรรมในสังคม ผศ. ดร. สุทธิกร กิ่งแก้ว ชี้โควิด 19 ก่อให้เกิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก

ผศ. ดร. สุทธิกร กิ่งแก้ว ที่ปรึกษาสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต เปิดเผยว่า ในปัจจุบันมีการคิดค้นนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ มากมาย เพื่อต่อยอดมาเป็นเครื่องมือสำหรับช่วยอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต เพิ่มคุณภาพชีวิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นกลไกในการขับเคลื่อนประเทศ 

 

โดยในช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 2-3 ปีที่ผ่านมาวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ก็ได้ก่อให้เกิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก ซึ่งช่วยให้ประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศยังคงอยู่รอดมาได้ในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยากลำบากได้ 

 

แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่นวัตกรรมหลายอย่างที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทยขณะนี้ บ้างก็ยังไม่ถูกกฎหมาย บ้างก็ยังคลุมเครือไม่มีกฎระเบียบรองรับ สาเหตุก็เพราะนวัตกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าการปรับปรุงพัฒนากฎระเบียบในประเทศนั่นเอง 

 

ตัวอย่างหนึ่งคือนวัตกรรมด้านที่พัก ที่ทำให้เจ้าของที่พักอาศัยสามารถติดต่อสื่อสารและหาลูกค้าได้โดยตรงผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น แอพพลิเคชั่น Airbnb ที่คิดค้นพัฒนาธุรกิจที่ให้คนทั่วไปสามารถนำที่อยู่อาศัยที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาปล่อยให้นักท่องเที่ยวเช่าอยู่อาศัยได้ โดยมีกรณีศึกษาในต่างประเทศที่ชี้ว่า Airbnb ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ชนบท 

ซึ่งมองว่าเป็นโอกาสกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่น และช่วยให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมีโอกาสเรียนรู้และเข้าถึงวิถีชีวิตที่แท้จริงของคนในท้องถิ่น สามารถใช้ให้เป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยในอนาคตต่อไปด้วย แต่น่าเสียดายที่ไทยยังไม่มีข้อฎหมายที่ระบุหรือการรับรอง Airbnb อย่างชัดเจน

 

นั่นคือ “ไม่มีกฎหมาย” ทั้งในเชิง "อนุญาต" หรือ "ห้าม" ปล่อยเช่ารายวันหรือรายสัปดาห์ระบุไว้อย่างชัดเจน แต่ก็ยังมีข้อกฎหมายฉบับอื่นระบุบังคับการปล่อยเช่าระยะสั้น ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นเงื่อนไขการห้ามทางอ้อม และหากมีผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่พักอาศัยนั้น ๆ ตัดสินใจจะปล่อยเช่าระยะสั้นเกิน 4 ห้อง 

 

กฎระเบียบไทยที่ยังก้าวไม่ทันนวัตกรรมในสังคม

 

ผู้ให้เช่าเหล่านั้นจะถูกนับว่าเข้าข่ายประกอบกิจการโรงแรมและถือว่าขัดต่อกฎหมายว่าด้วยโรงแรม พ.ศ. 2547 ได้ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคประการหนึ่งที่สำคัญของการพัฒนาธุรกิจการให้เช่าที่พักในรูปแบบ Airbnb ซึ่งอาจทำให้ไทยไม่สามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสผ่านโมเดลการให้บริการที่พักรูปแบบใหม่นี้ได้มากเท่าที่ควร เสียโอกาสในการดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ๆ และโอกาสในการกระจายรายได้สู่ชนบทด้วย
    

สำหรับด้านสิ่งแวดล้อม รัฐบาลในหลายประเทศพยายามให้ผู้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อการประหยัดการใช้พลังงาน ลดมลภาวะในเมืองใหญ่ที่มีการจนาจรแออัด และเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่สำหรับในประเทศไทยนั้น การให้ความสนใจในเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นมาได้ไม่นานมานี้เอง 

แม้รัฐบาลไทยได้ประกาศมาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า แต่พัฒนาการด้านการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้ายังเห็นไม่ชัดเจนนัก ซึ่งจากรายงานผลการศึกษาเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า ของคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ก็ได้เสนอให้รัฐดำเนินการปรับปรุงและแก้ไขกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ และมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง อาทิ เรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของอุปกรณ์ การรีไซเคิลแบตเตอรี่ ข้อบังคับเกี่ยวกับสถานีอัดประจุ เป็นต้น ให้เหมาะสมกับพัฒนาของการผลิตและการใช้รถไฟฟ้ายิ่งขึ้น
    

สำหรับสุขภาพอนามัย คนไทยบางส่วนนิยมสูบบุหรี่ ทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจากโรคร้ายแรงต่างๆ จากการสูบบุหรี่ ซึ่งในต่างประเทศมีการเปลี่ยนมาใช้นวัตกรรมใหม่คือ บุหรี่ไฟฟ้าแทนการสูบบุหรี่กันมากขึ้น และรัฐบาลในบางประเทศ เช่น อังกฤษ นิวซีแลนด์ ถึงกับมีมาตรฐานสนับสนุนให้ผู้สูบบุหรี่เปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทน เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้ามีกลไกการทำงานที่ไม่มีกระบวนการเผาไหม้

 

ซึ่งต่างจากบุหรี่ธรรมดาที่ต้องจุดไฟเผายาสูบในมวนบุหรี่ ทำให้ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทนการสูบบุหรี่ลดการได้รับสารที่เป็นอันตรายจากการเผาไหม้บางตัว เช่น น้ำมันดินหรือทาร์ (Tar) และคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งและโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ 

 

อย่างไรก็ตามในประเทศไทยก็ยังไม่อนุญาตให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ทั้งที่หาซื้อได้ง่ายบนออนไลน์ ทำให้ไทยเสียโอกาสในการลดปัญหาสุขภาพจากการสูบบุหรี่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

 

ตัวอย่างอีกด้านหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลในการผลักดันให้มีการปรับกฎหมายให้รองรับนวัตกรรมในภาคธุรกิจขนส่ง ซึ่งให้บริการทั้งในรูปแบบของการขนส่งอาหาร สินค้า การขนส่งผู้โดยสาร และเอกสารต่าง ๆ ผ่านการพัฒนาธุรกิจขนส่งในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือ อย่างเช่น GRAB LINEMAN และ Food Panda เป็นต้น 

 

โดยในแอพพลิเคชั่น GRAB มีผู้ให้บริการ GRAB ที่เป็นรถยนต์ และ GRAB ที่เป็นรถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเป็นการนำยานพาหนะส่วนตัวมาขับรับ-ส่งผู้โดยสารผ่านการเรียกใช้บริการจากแอพพลิเคชั่น บริการดังกล่าวเป็นช่วยให้เกิดการแก้ไขปัญหาหลายอย่างในสังคม อาทิ 

 

การลดการปฏิเสธผู้โดยสารของรถแท็กซี่ การที่แท็กซี่ไม่กดมิเตอร์ หรือแม้กระทั่งการที่ที่พักอาศัยอยู่ห่างไกลแหล่งชุมชนซึ่งผู้โดยสารอาจจะไม่สะดวกออกมาเรียกใช้บริการแท็กซี่สาธารณะ ผู้โดยสารก็สามารถเรียกผ่านแอพพลิเคชั่นได้ เป็นต้น 

 

โดยรัฐบาลมีการออกกฎหมายเพื่อรองรับการประกอบธุรกิจดังกล่าวตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้วและถือว่ามีความคืบหน้าในการดำเนินการปรับกฎหมายให้สอดรับกับนวัตกรรมมากที่สุด แม้ปัจจุบันจะยังมีผู้ให้บริการที่ผ่านการรับรองจากกรมขนส่งเพียง 3 ราย ในขณะที่ผู้ให้บริการ GRAB ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อให้ผ่านการรับรองของภาครัฐ โดยอาจมีสาเหตุจากเนื้อหาของกฎหมายบางส่วนที่ยังไม่สอดรับกับการประกอบธุรกิจนวัตกรรม ทำให้ต้องมีการปรับรูปแบบการให้บริการให้สอดรับกับกฎหมายต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร 


จากกรณีที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดจะพบว่าประเทศไทยเรามีข้อจำกัดด้านกฎหมายมากมายที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการประยุกต์ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม แม้เราจะมีความพยายามในการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายในบางเรื่อง แต่ก็เป็นส่วนน้อย โดยส่วนใหญ่แล้วประเทศไทยยังคงพัฒนาได้ไม่รวดเร็วมากพอเมื่อเทียบกับประเทศชั้นนำของโลกในการปรับกฎระเบียบให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมและเทคโนโลยี 

 

การพัฒนาทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศไทยที่ผ่านมาจึงเป็นไปอย่างเชื่องช้า ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ มากมายจากการขาดโอกาสในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ถูกคิดค้นในโลกเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับในสังคมไทย และเป็นพื้นฐานรองรับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว