ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana โดยมีข้อความว่า
เนื่องจากมีผู้สนใจเกี่ยวกับนวัตกรรมสเปรย์พ่นจมูกป้องกันโควิด-19 เป็นวงกว้าง
หลายๆท่านยังสับสนว่าสเปรย์ทำงานอย่างไร และมีข้อจำกัดอย่างไร ขออนุญาตสื่อสารข้อมูลทางวิชาการเท่าที่ผมมีข้อมูล
ส่วนข้อมูลทางคลินิก เกี่ยวกับผลการทดสอบในอาสาสมัคร สามารถดูข้อมูลได้จาก Preprint ที่กำลังเผยแพร่ใน medRXiv อีก 2-3 วันข้างหน้านี้
โดยหลักการในขวดของสเปรย์จะมีองค์ประกอบหลักๆอยู่ 2 ส่วน คือ 1. hypromellose (HPMC) และ 2. แอนติบอดีชนิด human monoclonal antibody 2 โคลน ชื่อว่า 1D1 และ 3D2 ผสมกันอยู่
โดย HPMC จะเป็นสารที่ทำหน้าที่เคลือบเยื่อบุ เพื่อป้องกันการจับของอนุภาคไวรัสกับผิวเซลล์ คล้ายๆกับปราการด่านแรกให้ไวรัสเข้าหาเซลล์ได้ยากขึ้น
แต่ลำพัง HPMC อย่างเดียวคงป้องกันการเข้าถึงเซลล์ของไวรัสไม่ได้ เพราะถ้าไวรัสเพียงไม่กี่อนุภาคเล็ดลอดเข้าถึงเซลล์ได้ การติดเชื้อและเพิ่มจำนวนของไวรัสก็จะเกิดขึ้นทันที
ดังนั้น HPMC จะเป็นเหมือนตะแกรงกรองไวรัสให้มีจำนวนน้อยลง ก่อนเข้าโจมตีเซลล์ในจมูก
หน้าที่ของการจับไวรัสที่ผ่าน HPMC มาได้จะเป็นแอนติบอดี 2 ชนิดที่อยู่ในสเปรย์
โดยแอนติบอดีนี้มาจาก B cell ที่แยกมาจากผู้ป่วยโควิดที่หายแล้ว และมี B cell ที่สร้างแอนติบอดีที่สามารถจับกับส่วนของหนามสไปค์ที่สำคัญได้ดี สามารถยับยั้งการติดเชื้อไวรัสได้
โดยตำแหน่งที่แอนติบอดีนี้ไปจับเป็นตำแหน่งที่พบว่าไวรัสมีการกลายพันธุ์น้อย ตั้งแต่ Wuhan จนถึง โอมิครอน BA.2 ยังสามารถถูกจับและยับยั้งโดยแอนติบอดีได้ดีมาก
ส่วน BA.5 ถึงแม้จะจับได้น้อยลง แต่ปริมาณของแอนติบอดีที่อยู่ในสเปรย์ก็ยังสูงมากพอที่จะจับและยับยั้งไวรัสได้อยู่
โดยเฉพาะไวรัสที่ผ่าน HPMC เข้ามามีน้อยอยู่แล้ว แอนติบอดีก็จะทำงานได้ง่ายขึ้น โดยหลักการดังกล่าว แอนติบอดีจึงยับยั้งการติดเชื้อหากเสี่ยงได้รับเข้ามาได้ในระดับหนึ่ง
สำหรับข้อจำกัดของการใช้งานคือ HPMC กับ แอนติบอดี จะอยู่ในจมูกเราไม่นาน ข้อมูลคือจะเริ่มถูกกลไกของร่างกายกำจัดออกไปเรื่อยๆและจะหมดประสิทธิภาพการป้องกันที่ 6 ชั่วโมงหลังฉีด
ดังนั้นการพ่นสเปรย์จึงแนะนำให้ใช้ก่อนมีความเสี่ยงติดเชื้อจะดีที่สุด เพราะ โอกาสหลุดจะมีสูงหากรับเชื้อหลังพ่นนานเกินไป
ประเด็นสำคัญที่อยากเน้นคือ นวัตกรรมนี้ออกแบบมาเพื่อการป้องกันการติดเชื้อ "ไม่ใช่การรักษา" ในกรณีผู้ป่วยที่ติดโควิดแล้วปริมาณไวรัสในร่างกายจะมีมากเกินกว่าที่แอนติบอดีจากการฉีดพ่นจะป้องกันยับยั้งได้ จำเป็นต้องใช้แอนติบอดีจากธรรมชาติที่ร่างกายสร้างขึ้นจากวัคซีนเท่านั้น
การใช้สเปรย์ฉีดพ่นในกรณีที่ร่างกายเรามีเชื้อไวรัสอยู่แล้ว จะมีความเสี่ยงให้ไวรัสในร่างกายเราเปลี่ยนแปลงจนหนีแอนติบอดีจากสเปรย์ฉีดพ่นได้
ซึ่งไม่แนะนำให้ใช้นวัตกรรมดังกล่าว เพราะถ้ามีสายพันธุ์ที่หนีสเปรย์ได้จากการใช้ผิดวิธี จะส่งผลให้นวัตกรรมนี้ลดประสิทธิภาพการป้องกันลง