ฮอนด้า นิสสัน มิตซูบิชิ รวมกันรุ่ง หรือฉุดกันร่วง

02 ม.ค. 2568 | 11:49 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ม.ค. 2568 | 11:59 น.
956

จับตากลุ่มพันธมิตรใหม่ ฮอนด้า นิสสัน มิตซูบิชิ ที่กำลังเดินหน้าตามแผนควบรวมธุรกิจ คาดดีลนี้น่าจะมีรัฐบาลญี่ปุ่นผลักดันอยู่เบื้องหลัง ท่ามกลางสภาพแวดล้อมการแข่งขันในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เปลี่ยนไป และมีค่ายรถจีนเป็นตัวแปรสำคัญ

ตามที่ ฮอนด้า มอเตอร์ และ นิสสัน มอเตอร์ เตรียมรวมธุรกิจ และดึงมิตซูบิชิ มอเตอร์ส มาร่วมด้วย ผ่านรูปแบบการตั้ง บริษัทโฮลดิ้ง ซึ่งการเซ็นบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ที่ผ่านมา เป็นการเปิดทางให้เริ่มเจรจา ศึกษารายละเอียดต่างๆ ร่วมกัน

ฮอนด้า นิสสัน มิตซูบิชิ รวมกันรุ่ง หรือฉุดกันร่วง

ทั้งสองบริษัท เลือกการรวมธุรกิจโดยการตั้งบริษัทโฮลดิ้งขึ้นมา ซึ่งต่อไปจะเป็นบริษัทแม่ของฮอนด้า มอเตอร์ และนิสสัน มอเตอร์ ตั้งเป้าจบดีลกันในเดือนมิถุนายน ปี 2568 และเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์โตเกียว เดือนสิงหาคม 2569 โดยต้องจับตาสัดส่วน และราคาการแลกหุ้น จะเป็นอย่างไร

 

สำหรับการรวมธุรกิจนี้ มีเป้าหมายเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันระดับโลก และหากเป็นจริงได้ ทั้งสองบริษัทจะสามารถจัดการทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพในหลายด้าน เช่น องค์ความรู้ ทรัพยากรบุคคล และเทคโนโลยี เพื่อสร้างความร่วมมือในเชิงลึก

 

ด้วยความที่ฮอนด้า มีมูลค่าการตลาดมากกว่า นิสสัน ประมาณ 40,000 ล้านดอลลาร์ และ 10,000 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ ทำให้ฮอนด้าจะเป็นผู้นำในดีลธุรกิจนี้

 

จากยอดขายรวมทั่วโลกในปี 2566 ฮอนด้า ทำได้ประมาณ 4 ล้านคัน นิสสัน 3.37 ล้านคัน บวกกับมิตซูบิชิ อีก 1 ล้านคัน หากรักษายอดขายในระดับนี้ต่อไป เมื่อรวมธุรกิจกันแล้วจะกลายเป็นกลุ่มพันธมิตรอันดับสามของโลก แซงหน้า ฮุนได-เกีย เป็นรองเพียงโตโยต้า และโฟล์คสวาเกน

ฮอนด้า นิสสัน มิตซูบิชิ รวมกันรุ่ง หรือฉุดกันร่วง

ในระยะยาวกลุ่มธุรกิจนี้ ตั้งเป้าหมายทำผลกำไรสูงถึง 6.5 แสนล้านบาท และแม้จะมีโฮลดิ้งคัมพานีเป็นบริษัทแม่ แต่ทั้ง ฮอนด้า นิสสัน มิตซูบิชิ จะมีอิสระในการบริหารจัดการแบรนด์ของตนเองอย่างเต็มที่ แต่จะได้ประโยชน์จากการลดต้นทุนในการพัฒนารถหนึ่งคัน และเพิ่มกำไรจากการใช้พื้นฐานการพัฒนาเดียวกัน ทั้งรถ ICE HEV PHEV และ BEV

โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า EV ที่จีนพัฒนาไปไกลและทำต้นทุนได้ต่ำ ดังนั้นฮอนด้า และนิสสัน จำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาและการประสานต้นทุน ในรถยนต์เจเนอเรชันใหม่ ทั้งเชิงโครงสร้าง รวมถึง software-defined vehicles (SDVs) ที่จะเป็นหัวใจสำคัญของรถยนต์ยุคใหม่

 

ตลอดจนปรับปรุงประสิทธิภาพของการดำเนินงาน สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ด้วยการวิธีการจัดซื้อ ผสานฟังก์ชันการเงิน และการขายของทั้งสองบริษัท เพิ่มโซลูชั่นการขับเคลื่อนที่หลากหลาย รวมถึงบริการทางการเงินใหม่ๆ

มาโกโตะ อูชิดะ - โทชิฮิโระ มิเบะ

นายโทชิฮิโระ มิเบะ ผู้อำนวยการ ประธานกรรมการบริหาร และตัวแทนเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ฮอนด้าและนิสสันเริ่มพูดคุยและหารือกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อชี้แจงความเป็นไปได้ของการรวมธุรกิจภายในสิ้นเดือนมกราคม 2568 สอดคล้องกับการพิจารณาของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส

 

“เราคาดหวังว่า การรวมทรัพยากรและจุดแข็งของฮอนด้าและนิสสันเข้าด้วยกัน ทั้งเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่ได้พัฒนาขึ้นมา จะช่วยให้เราสามารถเอาชนะความท้าทายต่างๆ ด้านการขับเคลื่อนในระดับโลกได้อย่างรวดเร็ว ถ้ามิตซูบิชิ มอเตอร์สร่วมมือกับเรา การผนึกกำลังทั้ง 3 บริษัท จะช่วยให้เราสามารถก้าวขึ้นเป็นบริษัทชั้นนำในการสร้างคุณค่าใหม่ทางด้านการขับเคลื่อนและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่านการรวมธุรกิจได้”

 

นายมาโกโตะ อูชิดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นิสสัน มอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า การที่ทั้งสองบริษัทผนึกกำลังกันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์ และพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ที่สร้างคุณค่าได้มากยิ่งขึ้น

 

“โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์ และบริการอันเปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของแต่ละบริษัท เพื่อตอบสนองความต้องการที่แตกต่างและหลากหลายของลูกค้า ที่ไม่มีบริษัทใดสามารถทำได้เพียงลำพัง” นายอูชิดะ สรุป

...จับตาจุดเริ่มต้นของดีลใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์โลก ซึ่งยังมีความท้าทายอีกมากในการรวมธุรกิจนี้ ขณะเดียวกันหลายฝ่ายยังมองว่า นี่เป็นดีลภาคบังคับจากรัฐบาลญี่ปุ่นที่ต้องการให้ฮอนด้า เข้าไปอุ้มนิสสัน ที่สถานการณ์ร่อแร่

 

ทว่าในยุคที่อุตสาหกรรมยานยนต์ อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ โดยมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด ซึ่งการรวมตัวกันของ 3 พันธมิตรญี่ปุ่น ยังไม่มีใครกล้าฟันธงว่า จะรุ่งหรือฉุดกันร่วง แต่ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ต้องตัดสินใจทำในช่วงที่สภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนไป