กูรูคาดกำไรสุทธิกลุ่มแบงก์ไตรมาส 4/67 แตะ 4.8 หมื่นล้าน โต 12%

08 ม.ค. 2568 | 08:00 น.

โบรกลงเสียงไตรมาส 4/67 กลุ่มแบงก์กำไรสุทธิโตดีกว่าปีก่อน คาดแตะระดับ 4.8 หมื่นล้าน โต 12% สำหรับปี 68 พร้อมประเมินกำไรรวมจะอยู่ที่ 2.21 แสนล้าน โต 4.7% หลัง NIM หดตัว สินเชื่อโตได้จำกัด ชู KBANK KTB BBL SCB เด่น

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทางฝ่ายคาดว่ากำไรของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) ในไตรมาส 4/67 จะเพิ่มขึ้น 20% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน แต่ลดลง 7% จากไตรมาสก่อน

โดยคาดจะได้เห็นคุณภาพสินทรัพย์ของกลุ่มธนาคารปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 4/67 และปี 68 ทั้งนี้ ต้นทุนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก Capex ที่สูงตามฤดูกาลในไตรมาสสุดท้ายของปี 67 แบงก์ขนาดใหญ่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจำกัดจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย

ขณะเดียวกันมาตรการบรรเทาหนี้ครัวเรือนคาดว่าจะส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อกลุ่มธนาคาร อย่างไรก็ตาม กลุ่มแบงก์มองว่ายังคงเป็นกลุ่มหุ้นปลอดภัยที่มีอัตราการจ่ายปันผลในระดับที่ค่อยข้างสูง ทางฝ่ายมองหุ้นเด่นกลุ่มแบงก์ แนะนำ KBANK KTB และ SCB

กลุ่มแบงก์ทำกำไร 4.8 หมื่นล้าน

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า คาดกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารในไตรมาส 4/67 จะอยู่ที่ 48,182 ล้านบาท โต 12.9% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน แต่ลดลง 12% จากไตรมาสก่อน หลังค่าใช้จ่ายดำเนินงานเร่งตัวขึ้นมาก และคาดรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิจะได้รับผลกระทบจาก NIM ที่เริ่มชะลอตัวลง และ 3.4% จากไตรมาสก่อน แม้รายได้ดอกเบี้ยปรับลง มอง SCB และ KTB กำไรแข็งแรงกว่าธนาคารอื่น

ขณะที่ปี 68 ประเมินว่ากำไรรวมจะอยู่ที่ 221,245 ล้านบาท โต 4.7% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน หลัง NIM ปรับตัวลง และสินเชื่อโตได้จำกัด แม้คาดการเติบโตของกำไรจะจำกัดมากขึ้นตามทิศทางของดอกเบี้ยนโยบาย แต่ผลดำเนินงานยังสามารถโตได้จากการลดค่าใช้จ่ายดำเนินงานและการทยอยลดการตั้งสำรองลง อีกทั้งเป็นกลุ่มที่มีความโดดเด่นในเรื่องของเงินปันผล จึงคงคำแนะนำลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคารที่ "เท่ากับตลาด"

โดยหุ้น Top Pick แนะนำ KBANK เพราะคาดการตั้งสำรองจะลดระดับลงต่อเนื่องไปจนถึงปี 68 และเป็นธนาคารเดียวที่ได้อานิสงค์บวกจากการปรับใช้ TFRS17 ในธุรกิจประกันชีวิต (KBANK ถือหุ้นใน MTL 51%) และคาดให้ปันผลครึ่งหลังปี 67 หุ้นละ 5.6 บาท คิดเป็น Div. Yield 3.6% ราคาเป้าหมายที่ 175 บาท และ SCB ราคาเป้าหมายที่ 130 บาท โดยคาดกำไรสุทธิไตรมาส 4/67 เเข็งเเรงกว่าธนาคารอื่น และคาดให้ปันผลครึ่งหลังปี 67 หุ้นละ 7 บาท คิดเป็น Div. Yield 5.9%

ไตรมาส 4/67 สินเชื่อโต 1.5%

บล.เคจีไอ เปิดมุมมองต่อหุ้นกลุ่มแบงก์ว่า เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงตามฤดูกาล และมีการบันทึกการด้อยค่าของสินทรัพย์ในไตรมาสสุดท้ายของปี จึงคาดว่ากำไรจะลดลงมากถึงประมาณ 20% จากไตรมาสก่อน โดยเฉพาะสามธนาคารใหญ่ ได้แก่ BBL, KBANK และ KTB

แต่เมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน กำไรน่าจะทรงตัวในไตรมาส 4/67 โดยคาดว่าสินเชื่อจะเร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อน จากอุปสงค์ตามฤดูกาลของสินเชื่อธุรกิจ, NIM จะลดลง และคชจ. (credit cost) จะทรงตัวในระดับสูง โดยคาดว่า KBANK และ KTB จะมีกำไร FVTPL สูงจากการลงทุนในตราสารหนี้

ขณะที่ BBL และ TTB ส่งสัญญาณว่าต้นทุนเงินฝากเริ่มจะลดลงเพราะเงินฝากที่มีต้นทุนสูงทยอยครบกำหนด และถูกแทนที่ด้วยเงินฝากที่มีต้นทุนลดลง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ช่วยให้ธนาคารสามารถบริหารต้นทุนเงินฝากให้ลดลงได้ และเกือบจะสามารถชดเชย yield ที่ถูกกดดันจากการลดดอกเบี้ยนโยบายได้

คาดว่า NIM ของ BBL และ TTB จะลดลงประมาณ 5bps จากไตรมาสก่อน ในขณะที่คาดว่า NIM ของ KKP จะลดลงอย่างมากเนื่องจากมีสัดส่วนสินเชื่อ yield ต่ำเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ แม้ว่าธนาคารส่วนใหญ่จะยังขยายสินเชื่อได้จากไตรมาสก่อนในไตรมาส 4/67 แต่แนวโน้มปี 67 ยังซบเซา และสินเชื่อน่าจะแทบไม่โตเลยเพราะธนาคารต่างๆ ใช้กลยุทธ์การปล่อยกู้แบบระมัดระวังมาตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกปี 67

ทางฝ่ายใช้สมมติฐานว่าสินเชื่อในไตรมาส 4/67 จะขยายตัว 1-1.5% จากไตรมาสก่อน แต่คาดว่าสินเชื่อเต็มปีของ BBL จะทรงตัว, ของ SCB, KTB KBANK และ TTB จะลดลง 7%, ของ KKP จะลดลง 6% และ ของ TISCO จะลดลง 3% สะท้อนถึงสินเชื่อ H/P ที่ลดลงอย่างมากตามยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ตกฮวบ

ซึ่งการเติบโตของสินเชื่อที่ระดับนี้ต่ำกว่าเป้าเต็มปีของธนาคารที่ 3-5% แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราคาดว่า credit cost จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในไตรมาส 4/67 เพราะธนาคารต่างๆ ตั้งใจจะบริหารจัดการกำไร โดยคาดว่า KBANK, KTB, SCB, TTB และ TISCO จะเพิ่ม credit cost แต่ BBL จะคงไว้ที่ระดับสูง

นอกจากแรงกดดันทางด้านของ NIM และ credit cost แล้ว ยังคาดว่าธนาคารส่วนใหญ่จะได้อานิสงส์จากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลงอย่างมาก ซึ่งจะช่วยหนุนกำไร FVTPL ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายธนาคาร พบว่าฐานเงินทุนของ KBANK, KTB และ SCB เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วงเดือนต.ค.-พ.ย. 67

ที่จะทำให้ธนาคารสามารถสร้างสมดุลของกำไรได้ดีขึ้น ทางฝ่ายชอบ BBL มากกว่าตัวอื่นๆ เพราะ credit cost ไม่เพิ่มขึ้น ในขณะที่อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่สูงจะเป็นธีมหลักของ SCB, TTB และ TISCO ส่วนในกรณีของ KBANK และ BBL อาจจะจ่ายปันผลมากกว่าที่ตลาดคาดเอาไว้

ดอกเบี้ยขาลง กด NIM แคบตาม

บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส เผยในบทวิเคราะห์ว่า คาดการปล่อยสินเชื่อไตรมาส 4/67 ดีขึ้น จากข้อมูลของ ธปท. ระบุว่าสินเชื่อไตรมาส 3/67 หดตัว -2.0% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน เพราะมีการชำระคืนหนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อภาครัฐและสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่

คาดว่าการปล่อยสินเชื่อไตรมาส 4/67 จะดีขึ้น เพราะเป็นช่วงที่ภาคธุรกิจต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น และโครงการรัฐใช้เงินลงทุนสูงขึ้น สำหรับสินเชื่อในช่วง 10 เดือนแรกของปี 67 ของ 7 ธนาคารที่เราวิเคราะห์หดตัว 2.3% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน ส่วนทั้งปี 67 คาดว่าจะลดลง 0.9% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน

ในด้านคุณภาพสินทรัพย์ด้อยลง แต่อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ทั้งนี้ NPL ทั้งระบบเพิ่มขึ้นเป็น 5.53 แสนล้านบาทในสิ้น ไตรมาส 3/67 คิดเป็น NPL ratio ที่ 2.97% ของสินเชื่อรวม โดยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของ NPL ภาคธุรกิจและภาคการบริโภค รวมถึงสินเชื่อหดตัว สินเชื่อจัดชั้น stage 2 เพิ่มขึ้นเป็น 6.86% ของสินเชื่อรวม

ซึ่งเป็นผลมาจากความเข้มงวดในการจัดชั้นหนี้ที่มากขึ้นของธนาคาร และ NPL สินเชื่อบ้านเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่า NPL จะยังคงเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ เนื่องจากธนาคารระมัดระวังการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงด้าน NPL

หนี้ครัวเรือนต่อ GDP สิ้นไตรมาส 2/67 ลดเป็น 89.6% โดยหลักมาจากสินเชื่อหดตัว และ GDP เติบโต อย่างไรก็ดี หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง และต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อภาคครัวเรือนใกล้ชิดต่อไป สำหรับหนี้ภาคธุรกิจต่อจีดีพีลดลงจากการชำระคืนหนี้

ในแง่ของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในปี 68 มีแนวโน้มลดลง แต่บางส่วนได้รับการชดเชยจาก Credit cost ที่ต่ำลง ทั้งนี้ การที่อัตราดอกเบี้ยอาจจะลดลงไม่มาก ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ เป็นเรื่องที่ดีกับ NIM แต่มาตรการแก้หนี้ครัวเรือน ทำให้รายได้ดอกเบี้ยลดลง และ NIM แคบลง ทั้งนี้ ธนาคารจะได้รับการชดเชยด้วย Credit cost ที่ลดลงเมื่อหนี้ที่เข้าโครงการขยับชั้นดีขึ้นและ/หรือกลายเป็นหนี้ปกติ

ดังนั้น จึงคงให้น้ำหนักลงทุนกลุ่มธนาคารพาณิชย์เป็น Neutral โดย KTB แนะนำซื้อ ให้ราคาพื้นฐาน 25 บาท เพราะมีผลดำเนินงานแข็งแกร่ง คุณภาพสินทรัพย์อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และมีแนวโน้มเติบโตดี, TTB แนะนำซื้อ ให้ราคาพื้นฐาน 2.12 บาท จากคุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้น จ่ายปันผลสูง และกำไรสุทธิบรรทัดสุดท้ายเติบโตดี จากมีผลขาดทุนในการปิด TBANK มาช่วยลดหย่อนภาษี

และ BBL แนะนำซื้อ ให้ราคาพื้นฐาน 196 บาท ตามคุณภาพสินทรัพย์อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ Valuation ถูก โดยราคาหุ้นมี P/BV ต่ำเพียง 0.5 เท่า และได้อานิสงค์จากการลงทุนที่ฟื้นตัว เพราะมีฐานลูกค้าธุรกิจใหญ่จำนวนมาก

ทั้งนี้ คาดว่าการปล่อยสินเชื่อในไตรมาส 4/67 จะเร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อรายใหญ่ แต่สินเชื่อ SME ขนาดกลาง-เล็ก และรายย่อยยังคงซบเซา ธนาคารพาณิชย์คงระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า อย่างไรก็ดี Valuation หุ้นกลุ่มแบงก์ถูก โดยมี P/BV ต่ำกว่า 1 เท่า และให้ Dividend Yield สูง