นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับการจัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายคมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทยเพื่อวางแผนการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม และเร่งขับเคลื่อนการดำเนินโครงการในปีงบประมาณ 2568 นั้น
ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมได้วางแผนการดำเนินโครงการด้านคมนาคม ในปี 2568 จำนวนทั้งสิ้น 223 โครงการ วงเงินลงทุน 136,492.43 ล้านบาท เป็นโครงการต่อเนื่อง 107 โครงการ วงเงินลงทุน 53,622.78 ล้านบาท และโครงการใหม่ 116 โครงการ วงเงินลงทุน 82,869.65 ล้านบาท โดยแบ่งตามรูปแบบการขนส่งเพื่อให้เห็นทิศทางภาพความสำเร็จการดำเนินงาน เป็น 5 มิติ ดังนี้
1. มิติพัฒนาการขนส่งทางถนน เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร ยกระดับความปลอดภัย และเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายถนน และพัฒนาการขนส่งระหว่างเมือง 50 โครงการ แบ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง 15 โครงการ และโครงการใหม่ 35 โครงการ เช่น โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ - ลำลูกกา) และขยายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง M5 ทางยกระดับอุตราภิมุข (โทลล์เวย์)
นอกจากนี้รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมต่อถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร M9 ช่วงถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ให้ครบทุกเส้นทาง เพื่อเป็นวงแหวนที่สมบูรณ์ โครงการแก้ไขปัญหาจราจรเมืองหลักในภูมิภาค จ.ภูเก็ต (ระยะที่ 1 ช่วงกะทู้ - ป่าตอง) และ จ.เชียงใหม่ (บริเวณแยกสันกลาง แยกต้นเปาพัฒนา แยกซุปเปอร์ไฮเวย์ แยกกองทราย แยกสะเมิง)
2. มิติพัฒนาการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญโดยส่งเสริมพัฒนาการขนส่งสาธารณะที่สะดวก ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปี 2568 มีโครงการที่สำคัญ 41 โครงการ เป็นโครงการต่อเนื่อง 17 โครงการ เช่น การส่งเสริมการเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนเสริม (Feeder) ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
การจัดหาเมล์ปรับอากาศพลังงานไฟฟ้า 1,520 คัน และรถโดยสารระหว่างจังหวัดพลังงานไฟฟ้า 54 คัน การพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) เพื่อยกระดับการให้บริการ มีสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงศึกษาแนวทางการดำเนินมาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนในเขตพื้นที่จราจรหนาแน่นในพื้นที่กรุงเทพฯ และเพิ่มศักยภาพการขนส่งสินค้าทางบก
3. มิติการพัฒนาการขนส่งทางราง ได้ให้ความสำคัญในการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เปลี่ยนการขนส่งจากถนนมาสู่ทางรางและน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า และลดต้นทุนโลจิสติกส์ โดยในปี 2568 มีโครงการที่สำคัญ 69 โครงการ เป็นโครงการต่อเนื่อง 36 โครงการ เช่น
การผลักดันกฎหมายร่าง พ.ร.บ. การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และร่าง พ.ร.บ. การขนส่งทางรางฯ รวมถึงการจัดทำกฎหมายลำดับรองภายใต้ร่าง พ.ร.บ. และการเดินหน้านโยบายลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ทุกสาย เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชน รวมถึงโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง 3 เส้นทางเพื่อเติมเต็มโครงข่ายรถไฟฟ้าให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
4. มิติการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ ในปี 2568 มีโครงการที่สำคัญ 26 โครงการ เป็นโครงการต่อเนื่อง 20 โครงการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการพัฒนาการขนส่ง เปิดประตูการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว สร้างการเป็น Hub เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางในทุกมิติ เช่น โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 การพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ และการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ขณะเดียวกันรวมถึงการผลักดันกฎหมายร่าง พ.ร.บ. ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. .... เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์และการท่องเที่ยว โดยให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือท่องเที่ยว (Cruise Terminal) สมุย พัทยา ภูเก็ต และพัฒนาท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา (Smart Pier) 29 แห่ง สู่ความเป็นมาตรฐานสากล
5. มิติการพัฒนาการขนส่งทางอากาศ ได้เร่งรัดเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานหลักของประเทศรองรับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น ขับเคลื่อนสู่การเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคหรือ Aviation Hub ด้วยการยกระดับการให้บริการ 37 โครงการ แบ่งเป็น โครงการต่อเนื่อง 19 โครงการ เช่น การพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 การพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ระยะที่ 1 ต่อเติมความยาวทางวิ่ง ขยายทางขับ ลานจอดเครื่องบินท่าอากาศยานชุมพร รวมทั้งการเตรียมความพร้อมการให้บริการการเดินอากาศ รองรับการปฏิบัติการบินอากาศยานทางทะเล (Seaplane Operations) และติดตั้ง Automatic Border Control ระยะที่ 2 ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการ ณ บริเวณจุดตรวจหนังสือเดินทาง