เจาะธุรกิจ “นิสสัน” ในไทย พลิกกำไรหลังขาดทุนสะสม 7 ปี 2.4 หมื่นล้าน

14 ก.พ. 2568 | 15:01 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.พ. 2568 | 15:05 น.
1.5 k

เจาะธุรกิจค่ายรถยนต์ “นิสสัน” ในประเทศไทย หลังประธานใหญ่ ประกาศเตรียมปิดโรงงานแห่งแรก จังหวัดสมุทรปราการ ลดต้นทุน พบข้อมูล บริษัท นิสสัน มอเตอร์ ปี 2567 พลิกมีกำไร หลังขาดทุนสะสม 7 ปี กว่า 2.4 หมื่นล้านบาท

ทั่วโลกจับตาการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของค่ายรถยนต์ "นิสสัน" หลัง “มาโกโตะ อูชิดะ” ประธานและซีอีโอ นิสสัน มอเตอร์ ประกาศแผนรัดเข็มขัด ตั้งเป้าหมายลดค่าใช้จ่าย 1 แสนล้านเยน หรือประมาณ 2.19 หมื่นล้านบาท ด้วยการรวมสายการผลิต พร้อมปิดโรงงานผลิตรถยนต์บางแห่ง เริ่มจากโรงงานสามแห่งในไตรมาสที่ 1 ของปี 2568 หนึ่งในนั้นคือ การเตรียมยุบโรงงานแห่งแรกในไทย ที่ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ทำให้เหลือการผลิตในโรงงานที่สองเพียงแห่งเดียว

 

เจาะธุรกิจ “นิสสัน” ในไทย พลิกกำไรหลังขาดทุนสะสม 7 ปี 2.4 หมื่นล้าน

 

การปรับโครงสร้างครั้งใหญ่รอบนี้ นิสสัน ประเมินว่า จะทำให้จำนวนพนักงานในโรงงานผลิตยานยนต์ และผลิตเครื่องยนต์ลดลงถึง 6,500 คน ภายใน 2 ปี สามารถลดค่าใช้จ่ายในการลงทุน และต้นทุนในการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ รวมทั้งในการปรับโครงสร้างฐานการผลิต นิสสัน ยังมีแผนลดกำลังการผลิตทั่วโลกลง 20% ด้วย

ทั้งนี้หากย้อนไปดูข้อมูลการดำเนินธุรกิจของ “นิสสัน” ในประเทศไทย ที่ผ่านมานิสสันได้เริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 ปัจจุบันมีบริษัทในเครือ 5 แห่ง และฐานการผลิตรถยนต์รวม 2 แห่ง กำลังการผลิตรวม 3.7 แสนคัน/ปี แบ่งเป็น โรงงานแห่งที่ 1 กำลังการผลิต 2.2 แสนคัน และ โรงงานแห่งที่ 2 กำลังการผลิต 1.5 แสนคัน รวมทั้งยังมีโรงงานประกอบแบตเตอรี่สำหรับเครื่องยนต์ อี–พาวเวอร์ (E-Power) 

ขณะเดียวกันยังมีเครือข่ายโชว์รูมและศูนย์บริการมากกว่า 180 แห่ง โดยมีผลิตภัณฑ์รถยนต์ตอบสนองลูกค้าทุกกลุ่มรวม 11 รุ่น ทั้ง รถยนต์อีโคคาร์ รถยนต์อเนกประสงค์ รถยนต์พรีเมี่ยมซีดาน รถกระบะ และรถตู้ ซึ่งการปรับลดค่าใช้จ่ายด้วยการประกาศเตรียมปิดโรงงานแห่งแรกในไทยครั้งนี้ ทำให้เกิดข้อสงสัยถึงผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงที่ผ่านมาว่าประสบปัญหาอย่างไร

ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบข้อมูลจากฐานข้อมูลบริษัท ผ่าน www.nissan.co.th พบว่า ค่ายรถยนต์นิสสัน มีการตั้งบริษัทขึ้นหลายบริษัทเพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับรถยนต์ โดยกลุ่มบริษัทนิสสันในประเทศไทย ประกอบด้วย 

  • บริษัท นิสสัน มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของนิสสันในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางด้านการกำหนดกลยุทธ์และการวางแผนในระดับภูมิภาค
  • บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ผลิต ผู้จำหน่ายและส่งออกรถยนต์นิสสัน
  • บริษัท นิสสัน ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินธุรกิจบริการด้านสินเชื่อรถยนต์ และประกันภัย
  • บริษัท นิสสัน พาวเวอร์เทรน (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องยนต์ให้กับโรงงานผลิตรถยนต์นิสสันทั้งในประเทศไทยและในระดับภูมิภาค
  • บริษัท เอส เอ็น เอ็น อุปกรณ์และแม่พิมพ์ จำกัด ทำหน้าที่ผลิตแม่พิมพ์ อุปกรณ์จับยึดเพื่อการผลิตชิ้นส่วน สำหรับโรงงานผลิตทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  • บริษัท NISSAN INSURANCE BROKER (THAILAND) จำกัด เป็นนายหน้าประกันวินาศภัยและนายหน้าประกันชีวิต 
  • บริษัท เอ็น ไอ บี ที เอช จำกัด เป็นบริษัทที่มีการประกอบธุรกิจโดยการเข้าถือหุ้นในบริษัทอื่น (บริษัทโฮลดิ้ง)

 

เจาะธุรกิจ “นิสสัน” ในไทย พลิกกำไรหลังขาดทุนสะสม 7 ปี 2.4 หมื่นล้าน

 

ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวกับการดำเนินงานเฉพาะรายบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจผู้ผลิต ผู้จำหน่ายและส่งออกรถยนต์นิสสัน พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า

นิสสัน ได้มีการจดทะเบียนตั้งบริษัทในประเทศไทย ชื่อ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2554 ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตรถยนต์ส่วนบุคคล โดยมีวัตถุประสงค์ในการผลิต และนำเข้าและจำหน่ายรถยนต์นำเข้าและจำหน่ายอะไหล่และชิ้นส่วนรถยนต์

ส่วนข้อมูลด้านการเงิน ข้อมูล ณ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 จากรายงานงบการเงินนำส่งในปี 2567 พบ่วา บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด มีสินทรัพย์รวม 32,086 ล้านบาท หนี้สินรวม 30,216 ล้านบาท รายได้รวม 102,163 ล้านบาท รายจ่ายรวม 100,493ล้านบาท และมีผลประกอบการเป็นกำไรสุทธิ 1,503 ล้านบาท

ทั้งนี้หากพิจารณาเฉพาะผลประกอบการย้อนหลัง 5 ปี พบว่า บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เพิ่งจะมีผลประกอบการพลิกกลับมามีกำไรได้อีกครั้้งในรอบ 8 ปี หลังเคยมีกำไรสุทธิในปี 2569 อยู่ที่ 1,837 ล้านบาท แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาบริษัทก็ประสบปัญหาขาดทุนสุทธิอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดขาดทุนสุทธิสะสม 2.4 หมื่นล้านบาท แยกเป็นรายปี ดังนี้

  • ปี 2560 ขาดทุนสุทธิ 2,767 ล้านบาท
  • ปี 2561 ขาดทุนสุทธิ 4,814 ล้านบาท
  • ปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 1,003 ล้านบาท
  • ปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 7,212 ล้านบาท
  • ปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 6,102 ล้านบาท
  • ปี 2565 ขาดทุนสุทธิ 267 ล้านบาท
  • ปี 2566 ขาดทุนสุทธิ 2,031 ล้านบาท