ข่าวการเจรจาตั้งบริษัทโฮลดิ้งของ Honda และ Nissan สะท้อนถึงการเตรียมพร้อมรับมือกับการแข่งขันที่ดุเดือดในตลาด EV โดยเฉพาะจากจีนและ Tesla ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดเกือบ 70% ในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ การชะลอตัวของความต้องการในยุโรปและสหรัฐฯ ทำให้ทั้งสองบริษัทต้องเร่งหาทางลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
สิ่งที่ทำให้สถานการณ์ของ Honda และ Nissan น่าสนใจคือ การมีแบรนด์ Mitsubishi ซึ่ง Nissan ถือหุ้นใหญ่ 24% อาจเข้ามาร่วมเสริมทัพในอนาคต การร่วมมือด้านเทคโนโลยี ตั้งแต่แบตเตอรี่ ไปจนถึงแพลตฟอร์มรถ EV ซึ่งได้เริ่มต้นแล้วตั้งแต่ต้นปี 2023
ความท้าทายก็ยังคงมีอยู่ เช่น ความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยเฉพาะจากนโยบายของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลต่อการควบรวม การจัดการวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งมีความแตกต่างกันระหว่าง Honda และ Nissan แรงกดดันจากตลาดจีน ที่มีการแข่งขันสูงและผู้เล่นท้องถิ่นแข็งแกร่ง
วันนี้ การเจรจาระหว่าง Honda และ Nissan กำลังอยู่ในจุดที่หลายฝ่ายจับตามอง เพื่อหาทางแข่งขันกับคู่แข่งจากจีนและ Tesla ในตลาด EV ที่ร้อนแรงขึ้นทุกวัน
การควบรวมกิจการเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้บริษัทยักษ์ใหญ่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมได้ โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (EV) กำลังสร้างความท้าทายใหม่ทั่วโลก
ย้อนกลับในปี 2019 Fiat Chrysler Automobiles (FCA) และ Groupe PSA (เจ้าของแบรนด์ Peugeot และ Citroën) ได้ประกาศแผนการควบรวมกิจการในสัดส่วน 50:50 เพื่อสร้างบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ซึ่งถูกมองว่าเป็นความร่วมมือเพื่อความอยู่รอดและการเติบโตในระยะยาว
การควบรวมนี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก โดยเฉพาะในด้านการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีใหม่ ๆ บริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมนี้ได้รับการตั้งชื่อว่า "Stellantis"
การควบรวมกิจการครั้งนี้ได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัทในเดือนมกราคม 2021 และเสร็จสิ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 16 มกราคม 2021
การควบรวมกิจการของ Fiat Chrysler Automobiles (FCA) และ Groupe PSA เพื่อนำไปสู่การก่อตั้ง Stellantis ในปี 2021 นั้นมีลักษณะและเป้าหมายที่ค่อนข้างแตกต่างจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับ Honda และ Nissan โดยมีจุดแตกต่างสำคัญดังนี้
FCA-PSA
การควบรวมของ FCA และ PSA เป็นการรวมกิจการในสัดส่วน 50:50 โดยทั้งสองฝ่ายอยู่ในฐานะที่เท่าเทียมกัน ซึ่งสร้างความร่วมมืออย่างเต็มรูปแบบเพื่อนำจุดแข็งของแต่ละบริษัทมาผสานกัน เช่น FCA มีจุดเด่นในตลาดอเมริกาเหนือ ส่วน PSA แข็งแกร่งในตลาดยุโรป
เป้าหมายลดต้นทุน เพิ่มขนาดการผลิต (Economy of Scale) และเร่งการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติ
Honda-Nissan
สถานการณ์ของ Honda และ Nissan ณ ปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับของการ "หารือ" หรือมองหาความร่วมมือเชิงกลยุทธ์เท่านั้น ยังไม่มีการประกาศควบรวมกิจการหรือสร้างองค์กรร่วมแต่อย่างใด
เป้าหมายการหารือเน้นไปที่การแบ่งปันต้นทุนการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (EV) และรถยนต์ไฮโดรเจน รวมถึงการจัดการกับความท้าทายจากการแข่งขันในตลาดโลก
สถานการณ์และแรงจูงใจในการรวมตัว
FCA-PSA
ทั้งสองต่างประสบปัญหาความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น การผลักดันสู่ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) กฎระเบียบเรื่องมลพิษที่เข้มงวดมากขึ้นในยุโรป และการแข่งขันจากผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ เช่น Volkswagen และ Toyota การควบรวมเป็นการสร้างความแข็งแกร่งเพื่อแข่งขันในระดับโลก
Honda-Nissan
Honda และ Nissan แรงจูงใจหลักคือ การจัดการต้นทุน ที่สูงขึ้นจากการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีใหม่ โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดโลกกำลังเข้าสู่ยุค EV Disruption
อ้างอิงข้อมูล