ฉางอาน ดันผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยทำรถพวงมาลัยซ้าย-ขวา คุมต้นทุน ส่งออกทั่วโลก

28 ส.ค. 2567 | 11:29 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ส.ค. 2567 | 11:45 น.

ฉางอาน วางให้ไทยเป็นฐานการผลิตใหญ่นอกประเทศจีน พร้อมขึ้นไลน์ประกอบรถยนต์ไฟฟ้า EV,REEV และ PHEV ทั้งรุ่นพวงมาลัยซ้ายและขวา เพื่อส่งออกไปทั่วโลก วางกำลังผลิต 2 แสนคัน/ปี ตั้งเป้าใช้ชิ้นส่วนเพื่อการผลิตในประเทศ 80% ในปี 2569

ตามที่ “ฉางอาน” (Changan) ประกาศแผนลงทุน 1 หมื่นล้านบาทเพื่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร แห่งแรกนอกประเทศจีนที่ จ.ระยอง พร้อมได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ เรียบร้อย ปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้าไปกว่า 80% และเตรียมเดินสายการผลิตภายในไตรมาสแรกปี 2568

 

ค่ายยักษ์ใหญ่จากจีน ยืนยันว่าโรงงานแห่งนี้จะพร้อมผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง EV และ REEV - Range Extended Electric Vehicle รถพลังงานไฟฟ้าแบบขยายระยะทางการวิ่ง(มีเครื่องยนต์ช่วยปั่นไฟ แต่ใช้มอเตอร์ขับเคลื่อน 100%) และ PHEV รถปลั๊ก-อินไฮบริด โดยวางกำลังผลิตเฟสแรกไว้ 100,000 คันต่อปี และจะเพิ่มเป็น 200,000 คันต่อปี (หลังจากปี 2568)

ฉางอาน ดันผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยทำรถพวงมาลัยซ้าย-ขวา คุมต้นทุน ส่งออกทั่วโลก

สำหรับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกที่เตรียมคลอดจากโรงงานฉางอาน จ.ระยอง คาดว่าจะเป็นบี-เอสยูวีรุ่นใหม่ Deepal E05 ซึ่งจะมีขุมพลังทั้งแบบ EV และ REEV พร้อมเปิดตัวในเดือนมีนาคม 2568

 

จากแผนงานดังกล่าว ฉางอาน จะไม่ได้ใช้ไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาเท่านั้น แต่ล่าสุดผู้บริหารยืนยันว่า ไทยจะต้องผลิตรถพวงมาลัยซ้ายด้วย เพื่อให้โรงงานเกิดการผลิตจำนวนมาก ช่วยทำต้นทุนต่อหน่วยการผลิตให้ต่ำลง

 

นายเซิน ซิงหัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซาท์อีสเอเชีย จำกัด เปิดเผยว่า โรงงานฉางอาน ในประเทศไทย จะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาของฉางอานทั่วโลก ส่งไปอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แอฟริกาใต้ รวมถึงสหราชอาณาจักร ขณะเดียวกันบริษัทยังมีแผนให้ไทยผลิตรถยนต์พวงมาลัยซ้าย โดยวางกำลังการผลิตสูงสุดในเฟสแรกไว้ 100,000 คันต่อปี จากนั้นเฟสสองจะเพิ่มเป็น 200,000 คันต่อปี

“ไม่มีประเทศไหนในโลกที่จะผลิต EV ได้ต้นทุนที่ต่ำกว่าจีน ซึ่งการผลิต EV ในไทยจะมีต้นทุนสูงกว่าจีน 30% หรือบางรุ่นอาจจะถึง 80% ดังนั้นการพัฒนาเครือข่ายซัพพลายเชน ใช้ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ อันสอดคล้องกับแผนการผลิตจำนวนมาก เพื่อทำต้นทุนต่อหน่วยการผลิตต่ำลง จึงมีความสำคัญมาก”

ฉางอาน ดันผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยทำรถพวงมาลัยซ้าย-ขวา คุมต้นทุน ส่งออกทั่วโลก

บริษัทจะใช้ซัพพลายเออร์ท้องถิ่นกว่า 300 ราย (ทั้งทุนจีน และบริษัทคนไทย) โดยปีหน้าการผลิตรถยนต์จะมีโลคัลคอนเทนต์ถึง 50% และจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 80% ในปี 2569 ด้านบุคลากรเตรียมจ้างคนไทยเกือบ 300 คน (กรุงเทพ,ระยอง) คิดเป็น 70% ของพนักงานทั้งหมด

 

นอกจากนี้ ยังพัฒนาคลังอะไหล่มีพื้นที่ 3,000 ตารางเมตร สามารถเก็บอะไหล่กว่า 2,000 ประเภท และชิ้นส่วนมากกว่า 40,000 ชิ้น ทำให้ฉางอานสามารถจัดส่งอะไหล่ครอบคลุมกว่า 95% ของประเทศภายใน 24 ชั่วโมง

 

นายเซิน ซิงหัว กล่าวเพิ่มเติมว่า ในอนาคตสัดส่วนการขายรถยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ ของไทย จะแบ่งเป็น EV 40%  xEV (PHEV,REEV) 30% และรถ ICE กับ HEV รวมกัน 30% และปี 2573 คาดว่ากลุ่ม xEV จะเพิ่มสัดส่วนไปถึง 50%

Deepal E07

“ฉางอาน มีความมุ่งมั่นในการพัฒนารถพลังงานใหม่ และเตรียมแนะนำเข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเดือนกันยายนนี้ จะเปิดตัวแบรนด์ AVATR จากนั้นในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป 2024 เดือนพฤศจิกายน จะเป็น DEEPAL E07 ลูกผสมระหว่างเอสยูวีและรถกระบะขนาดใหญ่ ก่อนที่รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นที่ผลิตในไทย จะมาไตรมาสแรกของปี 2568 โดยจะเป็นรถแบบ BEV และ REEV ซึ่งเป็นเทคโนโลยี DEEPAL Super REEV สามารถขับขี่ได้ไกลถึง 1,000 กม. จากการชาร์จพลังงานไฟฟ้าและเติมน้ำมันเต็มถัง”

ด้านแผนเครือข่ายผู้จำหน่าย ปัจจุบันเปิดดำเนินการแล้ว 30 แห่ง ครอบคลุม 25 จังหวัด และกำลังจะเพิ่มเป็น 60 แห่ง ส่วนปี 2568 วางแผนขยายให้ถึง 100 แห่ง

ฉางอาน ดันผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยทำรถพวงมาลัยซ้าย-ขวา คุมต้นทุน ส่งออกทั่วโลก

“ธุรกิจฉางอาน ในไทย ดำเนินการมาครบ 1 ปีแล้ว โดยเริ่มตั้งแต่การจดทะเบียนบริษัท และการทำตลาดด้วยแบรนด์ DEEPAL ในรุ่น S07, L07 และ Lumin ปัจจุบันมียอดขายกว่า 8,000 คัน และส่งมอบแล้ว 6,000 คัน ในจำนวนนี้เกือบ 5,000 คันเป็น DEEPAL S07 ขณะเดียวกันบริษัท ยังจ่ายภาษีให้กับประเทศไทยไปเกือบ 1,200 ล้านบาท” นายเซิน ซิงหัว กล่าวสรุป