ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 ยังคงชะลอตัว โดยยอดขายรถใหม่ตั้งแต่มกราคม -เมษายน 2567 ทำได้ทั้งสิ้น 210,494 คัน ลดลง 23.9% เมื่อแบ่งยอดขายออกเป็นเซกเมนต์ต่างๆพบกว่า รถยนต์นั่งขายได้ 82,903 คัน ลดลง 15.2% ขณะที่ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ขายได้ 127,591 คัน ลดลง 28.7%
เมื่อมาดูยอดขายเฉพาะเดือนเมษายน 2567 พบว่า ตลาดรถยนต์รวม ขายได้ 46,738 คันลดลง 21.5 % ส่วนเซกเมนต์รถยนต์นั่ง ขายได้ 17,288 คันลดลง 14.4% ขณะที่ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ขายได้ 29,450 คัน ลดลง 25.1% โดยรถยนต์ที่ยอดขายชะลอตัวมากที่สุดเป็นกลุ่มรถกระบะ ด้วยยอดขาย 17,689 คัน ลดลงถึง 34%
ขณะที่ตลาด xEV หรือกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้ามียอดขายทั้งหมด 15,161 คัน คิดเป็นสัดส่วน 32.4% ของตลาดรถยนต์ทั้งหมด เติบโตขึ้น 27% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยยอดขายรถยนต์ HEV เติบโตขึ้น 56% ด้วยยอดขาย 10,208 คัน ในขณะที่ยอดขายรถยนต์ BEV อยู่ที่ 4,282 คัน ลดลง 4%
สำหรับปัจจัยที่มีผลทำให้ยอดขายรถยนต์ใหม่ในประเทศชะลอตัวนั้น เป็นผลมาจากภาพรวมเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือน ความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ อย่างไรก็ดีค่ายรถประเมินว่าตลาดรถยนต์ในเดือนพฤษภาคม มีแนวโน้มจะดีขึ้นจากเดือนเมษายน แต่ก็ยังคงลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังคงฟื้นตัวช้า
นอกจากยอดขายรถยนต์ใหม่ในประเทศจะชะลอตัวแล้ว ในส่วนของภาคการผลิต นับตั้งแต่มกราคม - เมษายน 2567 การผลิตรถยนต์ในประเทศไทยก็ลดลงเช่นเดียวกัน โดย 4 เดือนที่ผ่านมา ไทยผลิตรถยนต์ทั้งสิ้น 518,790 คัน ลดลง 17.05 % ส่วนการขายรถในประเทศ ทำได้ 210,494 คัน ลดลง 23.9 % ขณะที่ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 340,685 คัน ลดลง 3.66 %
จากยอดผลิตรถยนต์ -ยอดขาย และยอดส่งออกที่ลดลง ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)อาจจะมีการปรับเป้าหมายการผลิตรถในปี 2567 โดยเฉพาะเป้าหมายการขายในประเทศที่ลดลง ทั้งนี้เดิมได้มีการคาดการณ์การผลิตรถยนต์ในปี 2567 ไว้ที่ 1.9 ล้านคัน แบ่งออกเป็นผลิตเพื่อส่งออก 1,150,000 คัน และ ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 750,000 คัน
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปัจจัยที่มีผลต่อยอดขายรถยนต์ที่ลดลง คือความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของสถาบันการเงิน และเศรษฐกิจของประเทศที่เติบโตในระดับต่ำจากความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ทำให้การใช้จ่ายการลงทุนของรัฐบาลลดลงมากจนทำให้กำลังซื้อของประชาชนอ่อนแอลง
"เมื่องบประมาณปี 2567 มีผลแล้ว ก็ขอรัฐบาลช่วยกระตุ้นการซื้อรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์สันดาปภายในและรถกระบะที่ใช้ชิ้นส่วนผลิตในประเทศกว่า 90 % เพื่อให้อุตสาหกรรมเหล่านี้มีการผลิตเพิ่มขึ้น จ้างงานเพิ่มขึ้น ประชาชนมีงานทำมากขึ้น รัฐบาลเก็บภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มรวมทั้งภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา เศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่สูงขึ้น"