เจาะลึกอุตฯยานยนต์ไทย 4 เดือนแรกปี 67 รุ่งหรือร่วง

24 พ.ค. 2567 | 02:19 น.
1.5 k

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย 4 เดือนแรกปี 2567 ยอดผลิต -ยอดขาย-การส่งออกรถไปต่างประเทศชะลอตัว ส่องปัจจัยกระทบตลาดรถยนต์ พร้อมตรวจสอบยอดจดทะเบียนรถไฟฟ้า EV ตลาดนี้ยังรุ่งหรือไม่ เช็คที่นี่

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม -เมษายน)ยังคงไม่ฟื้นตัว โดยล่าสุด กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลตัวเลขยอดการผลิตรถในประเทศ ยอดขาย รวมไปถึงการส่งออก และพบว่ามีการชะลอตัวลงในทุกตลาด โดยสามารถตรวจสอบรายละเอียดได้ดังต่อไปนี้

 

ผลิตรถ 4 เดือนปี 67 ลดลง 17.05 % 

จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม - เมษายน 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 518,790 คัน ลดลง 17.05 % ส่วนในเดือนเมษายน 2567 จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้มีทั้งสิ้น 104,667 คัน ลดลง 11.02 % โดยยอดผลิตที่ลดลงเป็นผลมาจากการผลิตรถยนต์นั่งและรถกระบะเพื่อขายในประเทศที่ลดลง 5.03 % และ 45.94% ตามลำดับสอดคล้องกับยอดขายที่ลดลง เพราะหนี้ครัวเรือนที่สูงและเศรษฐกิจเติบโตในอัตราต่ำ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมติดลบมาหลายเดือน กำลังซื้อยังเปราะบาง 
 

แบงก์คุมเข้มการปล่อยสินเชื่อ -ศก.เติบโตในระดับต่ำ

เดือนมกราคม - เมษายน 2567 ตลาดรถยนต์ไทยมียอดขาย  210,494 คัน ลดลง 23.90 % ขณะที่เดือนเมษายน 2567 ยอดขายรถยนต์ในประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น  46,738 คัน ลดลง 21.49 % ซึ่งปัจจัยที่กระทบทำให้ยอดขายชะลอตัวลงมาจาก ความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของสถาบันการเงินและเศรษฐกิจของประเทศที่เติบโตในระดับต่ำจากความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ทำให้การใช้จ่ายการลงทุนของรัฐบาลลดลงมากจนทำให้กำลังซื้อของประชาชนอ่อนแอลง 

 

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า  เมื่องบประมาณปี 2567 มีผลแล้ว หวังว่ารัฐบาลจะเร่งรัดการเบิกจ่ายและการลงทุนรวมทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต ซึ่งรัฐบาลก็ได้กระตุ้นการซื้ออสังหาริมทรัพย์เมื่อเดือนเมษายนแล้ว จึงขอรัฐบาลช่วยกระตุ้นการซื้อรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์สันดาปภายในและรถกระบะที่ใช้ชิ้นส่วนผลิตในประเทศกว่า 90 % ซึ่งมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องจำนวนมากพอๆ กับอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้อุตสาหกรรมเหล่านี้มีการผลิตเพิ่มขึ้น จ้างงานเพิ่มขึ้น ประชาชนมีงานทำมากขึ้น รัฐบาลเก็บภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มรวมทั้งภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา เศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่สูงขึ้น

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
 

ส่งออกรถยนต์ชะลอตัวเล็กน้อย แต่มูลค่ารวมยังคงเติบโต


เดือนมกราคม – เมษายน 2567 ไทยส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 340,685 คัน ลดลง 3.66  % อย่างไรก็ตามเมื่อดูมูลค่าการส่งออกรถยนต์เดือนมกราคม – เมษายน 2567 ที่ประกอบไปด้วยเครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอะไหล่ มีมูลค่า 317,883.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.29 %

 

ขณะที่การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือนเมษายน 2567 ส่งออกได้ 70,160 คัน ลดลง 12.23 % ทั้งนี้เนื่องจากผลิตเพื่อส่งออกได้น้อยจากจำนวนวันทำงานน้อยในเดือนเมษายน ส่งออกเท่ากับ 97.54 % ของยอดการผลิตเพื่อการส่งออก จึงส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดอเมริกาเหนือและตลาดยุโรป  เมื่อมาดูมูลค่าส่งออกรถยนต์เดือนเมษายน 2567 เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอะไหล่ มีมูลค่า 69,274.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.79 %

 

รถยนต์ไฟฟ้า BEV เดือนเม.ย.67 ยอดจดทะเบียนลดลง

เดือนมกราคม - เมษายน 2567 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่สะสมจำนวน 35,755 คัน เพิ่มขึ้น 36.30 % โดยแบ่งเป็น

  • รถยนต์นั่งและรถยนต์ประเภทต่างๆ มีทั้งสิ้น 26,277 คัน เพิ่มขึ้น 42.46 % 
  • รถกระบะ รถแวนมีทั้งสิ้น 152 คัน เพิ่มขึ้น  310.81 % 
  • รถยนต์สามล้อมีทั้งสิ้น 29 คัน ลดลง 73.39 % 
  • รถจักรยานยนต์มีทั้งสิ้น 9,059 คัน เพิ่มขึ้น 31.56 % 
  • รถโดยสารมีทั้งสิ้น 107 คัน ลดลง 84.78 % 
  • รถบรรทุกมีทั้งสิ้น 131 คัน เพิ่มขึ้น 147.17 % 


ส่วนในเดือนเมษายน 2567 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 6,041 คัน ลดลง 16.60 % โดยแบ่งเป็น

  • รถยนต์นั่งและรถยนต์ประเภทต่างๆ มีทั้งสิ้น 4,091 คัน ลดลง 7.09%
  • รถกระบะ รถแวน มีทั้งสิ้น 4 คัน เพิ่มขึ้น 100 %
  • รถยนต์สามล้อรับจ้างมีทั้งสิ้น 22 คัน เพิ่มขึ้น 15.79 %
  • รถจักรยานยนต์มีทั้งสิ้น 1,853 คัน เพิ่มขึ้น 49.68 %
  • รถโดยสารมีทั้งสิ้น 61 คัน ลดลง 34.41 %
  • รถบรรทุกมีทั้งสิ้น 10 คัน เพิ่มขึ้น 11.11 %

ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า