“โตโยต้า ซีพี” วางแผนผลิตไฮโดรเจนด้วยของเสียจากฟาร์ม รับรถยนต์ไฟฟ้า FCEV

14 ธ.ค. 2565 | 11:43 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ธ.ค. 2565 | 20:28 น.
1.5 k

บิ๊กดีล “โตโยต้า ซีพี" ร่วมมือกันวางแผนใช้ก๊าซชีวภาพที่ได้จากของเสียจากฟาร์ม มาแยกเป็นไฮโดรเจน เพื่อรองรับรถบรรทุกไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) เพื่อวิ่งใช้งานในประเทศไทย

ในโอกาสที่ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย (ทีเอ็มที) ดำเนินธุรกิจครบ 60 ปีในปี 2565 ประธานใหญ่ ตโยต้า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น (ทีเอ็มซี) “อากิโอะ โตโยดะ” เดินทางมาเยือนเมืองไทยเพื่อฉลองในวาะสำคัญ  และแสดงถึงสัญลักษณ์ทางธุรกิจ กับนโยบายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในไทย และเปิดโอกาสความร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ  ล่าสุด โตโยต้า ซีพี ประกาศความร่วมมือกันอย่างเป็นทางการ

“โตโยต้า ซีพี” วางแผนผลิตไฮโดรเจนด้วยของเสียจากฟาร์ม รับรถยนต์ไฟฟ้า FCEV

ประเด็นสำคัญของความร่วมมือคือ โตโยต้า ซีพี ศึกษาการผลิตไฮโดรเจนโดยใช้ก๊าซชีวภาพ ที่ได้จากของเสียจากฟาร์มในประเทศไทย (การศึกษาในเขตเศรษฐกิจพิเศษ) การใช้รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) ในกิจกรรมของ ซีพี ซึ่งจะใช้ไฮโดรเจนดังกล่าว ตลอดจนศึกษาความร่วมมือด้านการขนส่งโดยอาศัย เทคโนโลยีการเชื่อมต่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเส้นทางการจัดส่ง

 

บริษัทที่ให้บริการด้านการขนส่ง ทรู ลิสซิ่ง ซึ่งเป็นบริษัทในเครือซีพี จะเข้าร่วมกับ โตโยต้า ที่จะเริ่มพิจารณาจากการมีส่วนร่วมของ Hino Motors, Ltd. และกลุ่มบริษัทใน Commercial Japan Partnership Technologies Corporation (ประกอบด้วย ISUZU Motors Limited, SUZUKI Motor Corporation, DAIHATSU Motor Co., Ltd. และ TOYOTA) ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยแก้ปัญหาความท้าทายที่ภาคการขนส่งต้องเผชิญ และบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ผ่านการเผยแพร่เทคโนโลยี CASE ในภูมิภาคเอเชีย

“การมุ่งสู่เป้าหมายนั้น ทุกอุตสาหกรรมและประชาชนทุกคนควรทำงานร่วมกัน โตโยต้า ซีพี จึงอยากเชิญทุกภาคส่วนที่มีความปรารถนาเดียวกัน เข้าร่วมเป็นพันธมิตรในความร่วมมือครั้งนี้” อากิโอะ โตโยดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะกรรมการบริหารของ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวและว่า

 

โตโยต้า ซีพี คำนึงถึงประเทศไทยและโลกใบนี้ ได้เห็นร่วมกันที่จะดำเนินการในสิ่งที่เราสามารถเริ่มต้นทำได้ในขณะนี้ โดยอาศัยจุดแข็งและทรัพยากรที่มีอยู่ของแต่ละบริษัทฯ ผมเชื่อว่าการริเริ่มในครั้งนี้ จะนำไปสู่การยอมรับและสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม

 

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสของ ซีพี ได้กล่าวว่า นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี พ.ศ.2464 ซีพี ได้ดำเนินการและขยายธุรกิจในประเทศไทยในหลากหลายสาขา ทั้ง อุตสาหกรรม เกษตรกรรม และปศุสัตว์ ซึ่งรวมถึง 7-Eleven และช่องทางค้าปลีก ค้าส่ง โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านสังคม เศรษฐกิจ และ สิ่งแวดล้อม ตลอดจนแนวทางเพื่อความยั่งยืน

 

ทั้งนี้ ซีพี ได้กำหนดเป้าหมายสู่การเป็นองค์กร Carbon Neutral ภายในปี ค.ศ.2030 และการบรรลุเป้าหมาย Zero Carbon ภายในปี ค.ศ.2050 แม้จะเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ซีพี มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ โดยร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนในหลายประเทศ

 

“สิ่งที่ประธานโตโยดะและผม มีร่วมกันคือ ความรู้สึกที่ต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดินไทย ผมรู้สึกยินดีที่ทั้งสองบริษัทฯ มีโอกาสร่วมมือกันเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนในประเทศไทย และยังเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนมาช่วยกันศึกษา หาแนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้”นายธนินท์ กล่าว

 

ข้อมูลเพิ่มเติม โตโยต้า