เมอร์เซเดส-เบนซ์ จับมือ กฟผ.บูมกระแส EV เร่งขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

04 พ.ค. 2565 | 08:39 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ค. 2565 | 08:54 น.
828

"เมอร์เซเดส-เบนซ์ จับมือ กฟผ." ร่วมโปรโมทการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์แบบโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ ที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี พร้อมเดินหน้าขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ปลุกกระแส EV

ตามแผนงานของ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย เตรียมประกอบและทำตลาดรถพลังงานไฟฟ้า EV รุ่นแรกในไทยช่วงปลายปี 2565 ซึ่งก่อนจะถึงวันนั้นค่ายรถจากเยอรมนี ปูพรมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การนำเข้า EQS 450+ AMG Premium มาอวดโฉมต่อสาธารณชนครั้งแรกงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2021 ขณะเดียวกัน ยังร่วมกับหลายภาคส่วนเพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้า ล่าสุด เมอร์เซเดส-เบนซ์  ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมโปรโมทโรงไฟฟ้าโซลาเซลล์ลอยนํ้าไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก จ.อุบลราชธานี

เมอร์เซเดส-เบนซ์ จับมือ กฟผ.บูมกระแส EV เร่งขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

เมอร์เซเดส-เบนซ์ จับมือ กฟผ.บูมกระแส EV เร่งขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

เมอร์เซเดส-เบนซ์ จับมือ กฟผ.บูมกระแส EV เร่งขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

สำหรับที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยนํ้า ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังนํ้าเขื่อนสิรินธร สามารถผลิตไฟฟ้าจากทั้ง พลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงกลางวัน และพลังนํ้าจากเขื่อนที่มีอยู่เดิมมาผลิตไฟฟ้าในช่วงที่ไม่มีแสงแดด หรือเสริมความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในช่วงคํ่า ช่วยเพิ่มเสถียรภาพพลังงานหมุนเวียน และ เสริมความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ โดยมีขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 47,000 ตัน/ปี ตอบโจทย์พลังงานสะอาดช่วยลดภาวะโลกร้อน และยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนผ่านการท่องเที่ยวรอบพื้นที่นี้อีกด้วย

 

นายโรลันด์ โฟล์เกอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า "กฟผ. และเมอร์เซเดส-เบนซ์" มีวิสัยทัศน์เดียวกันในการก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้านการใช้พลังงานสะอาด (clean energy) และพลังงานหมุนเวียน (renewable energy) โดยให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและความยั่งยืน ภายใต้นโยบายระดับโลกของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ที่จะปรับกลยุทธ์จาก “รถไฟฟ้านำ” (electric-first) เป็น “รถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น” (electric only) ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป

ขณะนี้ กฟผ. และ เมอร์เซเดส-เบนซ์ อยู่ระหว่างการศึกษา ความร่วมมือสนับสนุนการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าและการบริหารจัดการพลังงานร่วมกัน เช่น การจัดการแบตเตอรี่ที่หมดอายุการใช้งานจากยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว อาจนำมาใช้ต่อในภาคการจัดการพลังงาน โดยใช้เป็นแบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงานแบบตั้งอยู่กับที่ (Stationary energy storage system) เป็นต้น

โรลันด์ โฟล์เกอร์ ประธาน เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย - บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าฯ กฟผ.

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้เปิดให้บริการสถานี EleX by EGAT พร้อมสถานีพันธมิตรในเครือข่าย EleXA แล้วจำนวน 49 สถานีทั่วประเทศ ซึ่งในเร็วๆ นี้ยังเตรียมขยายสถานีชาร์จให้ครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากยิ่งขึ้น เช่น จ.อุดรธานี จ.สกลนคร จ.ร้อยเอ็ด จ.นครพนม จ.ศรีสะเกษ จ.มุกดาหาร และ จ.เลย เป็นต้น โดยตั้งเป้าขยายสถานีชาร์จ EleX by EGAT รวมกว่า 120 สถานี ให้ได้ภายในสิ้นปี 2565