ประเมินความเสี่ยงอุตฯยานยนต์ไทย หลังรถ EV แจ้งเกิด

08 มี.ค. 2565 | 05:48 น.
อัปเดตล่าสุด :08 มี.ค. 2565 | 18:41 น.
1.8 k

วิจัยกรุงศรี ประเมินความเสี่ยงอุตสาหกรรมยานยนต์หลังการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า เช็คเลยปัจจัยใดบ้างที่มีผล- พร้อมแนะแนวทางปรับตัวเพื่อรับการเติบโตของ EV

วิจัยกรุงศรี  ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2021 เพื่อศึกษาความต้องการ อุปสรรค และพฤติกรรมในการใช้รถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งหาแนวทางการปรับตัวของผู้เล่นในอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนหนึ่งของการสำรวจได้มีการประเมินความเสี่ยงของอุตสาหกรรมรถยนต์หลังการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า โดยมีเนื้่อหาดังต่อไปนี้ 

 

ความเสี่ยงอุตสาหกรรมรถยนต์หลังการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า 

 

การเสื่อมราคาของรถยนต์จะมีผลโดยตรงต่อการประเมินความเสี่ยงของธุรกิจเช่าซื้อ ธุรกิจลิสซิ่ง และธุรกิจประกันภัย โดยจากการศึกษาของ Moody’s Analytics และองค์กรเพื่อผู้บริโภคยุโรป (European Consumer Organization) พบว่าในช่วงแรกรถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มสูญเสียมูลค่าเร็วกว่ารถยนต์ ICE 

เนื่องจากปัจจุบันเรายังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีจึงเปลี่ยนแปลงและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องการรถยนต์ไฟฟ้ามือหนึ่งมากกว่าเพราะมีเทคโนโลยีที่ดีกว่ามากเมื่อเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นก่อนหน้า 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามีมากขึ้นและเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มอยู่ตัวมากขึ้น รถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มจะสูญเสียมูลค่าน้อยกว่ารถยนต์ ICE เนื่องจากมีชิ้นส่วนที่สึกหรอน้อยกว่า อีกทั้งความต้องการรถยนต์ ICE จะค่อยๆ ลดลงตามเวลา 

 

ดังนั้น ธุรกิจเช่าซื้อ ธุรกิจลิสซิ่ง และธุรกิจประกันภัยจึงต้องมองความเสี่ยงของการวัดมูลค่ารถยนต์ใหม่ ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ ICE โดยเฉพาะหากการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเร่งตัวขึ้นในอนาคต

 

อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกกำลังก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่การขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electrification) การขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autonomous driving) และการบริการด้านการเดินทาง (Servicification in mobility sector) ล้วนส่งผลต่อทั้งอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ผลิตชิ้นส่วน ผู้ขายปลีกหรือดีลเลอร์ สถานีบริการ รวมถึงผู้เล่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาครัฐ ธนาคาร และประกันภัย เป็นต้น 

 

การเปลี่ยนแปลงในระดับอุตสาหกรรมเช่นนี้มักสร้างความท้าทายให้กับผู้เล่นท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้น การขยับตัวและปรับตัวเพื่อรับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เพียงช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขัน แต่ยังจะช่วยให้ผู้เล่นสามารถคว้าโอกาสใหม่ๆ ในโลกยานยนต์ยุคใหม่ได้ 

 

ในด้านความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าก็เช่นกัน แม้ในช่วงแรกอาจยังมีอุปสรรคหลายอย่าง แต่การปลดล็อคข้อจำกัดเหล่านี้ จะทำให้การตอบรับรถยนต์ไฟฟ้าเร่งตัวอย่างรวดเร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดคิด 

 

ผู้เล่นที่กระโจนเข้าสู่ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าเร็วก็อาจเผชิญความเสี่ยงที่มาพร้อมกับส่วนแบ่งตลาดก้อนใหญ่ ส่วนผู้เล่นที่ปรับตัวช้าอาจเสียโอกาสเชิงธุรกิจไปได้ มีเพียงผู้เล่นหรือผู้ที่เกี่ยวข้องที่ขยับตัวในทิศทางและความเร็วที่เหมาะสมเท่านั้นที่จะเป็นผู้คว้าโอกาสธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ได้
 

ORA Good Cat รถยนต์ไฟฟ้าจากค่ายเกรท วอลล์ มอเตอร์

 

ที่มาข้อมูล:วิจัยกรุงศรี (อ่านฉบับเต็มที่นี่)