โตโยต้า คัมรี่ ไมเนอร์เชนจ์ ซี-เอชอาร์ ใหม่ 2 รุ่นครึ่งปีแรก

21 ก.พ. 2564 | 11:50 น.
5.8 k

โตโยต้า เล็งปรับความสดกลุ่มรถยนต์นั่ง ทั้ง โตโยต้า คัมรี่ ใหม่ และ โตโยต้า ซี-เอชอาร์ ใหม่ ภายในครึ่งปีแรก

โตโยต้า เตรียมบุกตลาดรถยนต์นั่ง ทั้ง การเปิดตัว รุ่น ไมเนอร์เชนจ์ โตโยต้า คัมรี่ ใหม่ และ โตโยต้า ซี-เอชอาร์ ใหม่ หลังฝ่ามรสุมขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต ตั้งเป้าขายรถยนต์นั่งปีนี้ 92,000 คัน

ปี2563 โตโยต้าปิดยอดขายรถยนต์นั่ง ได้ 68,152 คัน ลดลง 42.1% ถือเป็นการขายน้อยที่สุดในรอบกว่า 10 ปี และยังทวงคืนแชมป์ในตลาดนี้จาก ฮอนด้าไม่ได้ ขณะเดียวกันฮอนด้ายังเคลมว่า ทำยอดขายเป็นอันดับหนึ่งใน 4 เซ็กเมนต์ คือ 1.อีโคคาร์บวกซับคอมแพกต์ 2.คอมแพกต์คาร์ 3.รถยนต์นั่งขนาดกลาง 4.เอสยูวีขนาดใหญ่ (ไม่นับพีพีวี)

กลายเป็นว่า โตโยต้า โคโรลลา อัลติส และ โตโยต้า คัมรี่ ไม่สามารถทำยอดขายชนะ ซีวิค และ แอคคอร์ด มีเพียงกลุ่มอีโคคาร์(ไม่นับรวมซับคอมแพกต์อย่าง วีออส และ แจ๊ซ) ที่ ยาริส และ เอทีฟ ทำยอดขายรวมกันกว่า 4.6 หมื่นคันครองเจ้าตลาดได้ ทว่าปีนี้ตำแหน่งอาจสั่นคลอนเมื่อ ฮอนด้า ซิตี้ มาครบทั้งตัวถังซีดานและแฮตช์แบ็ก หวังขายรวมกันระดับ 5-6 หมื่นคันต่อปี

ที่ผ่านมา โตโยต้าต้องปรับแผนการผลิตรถยนต์ในไทยให้สอดคล้องกับสภาพตลาด และการเปลี่ยนผ่านโมเดลของตนเอง ตลอดจนข้อจำกัดเรื่องชิ้นส่วน เช่น ปัญหาล่าสุดคือ การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ หรือชิปเพื่อใช้ในการผลิตชิ้นส่วนอีเลกทรอนิกส์จากซัพพลายเออร์ รวมถึงต้องแบ่งสรรปันส่วนแบตเตอรี่นิเกิลเมทัลไฮดราย ที่ใช้ประกอบรถไฮบริด อย่าง อัลติส, โคโรลลา ครอส และ ซี-เอชอาร์

โตโยต้า คัมรี่ ไมเนอร์เชนจ์ ซี-เอชอาร์ ใหม่ 2 รุ่นครึ่งปีแรก

โตโยต้า ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทที่บุกเบิกการผลิตยุคใหม่(หมายถึงในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา) หนึ่งในนั้นคือ วิธีลดต้นทุนด้านการบริหารจัดการ เช่นการผลิตแบบ Just in Time นำชิ้นส่วนจากแต่ละแหล่งมาประกอบรถได้ทันทีโดยไม่ต้องเก็บสต๊อก แต่ระบบนี้เมื่อโดนปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อการผลิตทั่วโลก ย่อมเกิดปัญหาเช่นกัน

ปีนี้ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ตั้งเป้าขายรถยนต์นั่งรวม 92,000 คัน (จากเป้าหมายรวมเก๋ง-ปิกอัพโตโยต้า 3 แสนคัน) แม้จะเพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบกับปี 2563 แต่ยังเป็นตัวเลขตํ่า 1 แสนคัน ที่โตโยต้าไม่ค่อยคุ้นเคยนัก

ทีเด็ดของโตโยต้าในช่วงครึ่งปีแรก 2564 ที่จะทำให้ถึงเป้าหมายคือ การทำตลาด โตโยต้า คัมรี่ ไมเนอร์เชนจ์ ที่ทยอยเปิดตัวแล้วในหลายภูมิภาคทั่วโลก ทั้ง สหรัฐอเมริกา ยุโรป และ ญี่ปุ่น ส่วนเมืองไทยถ้าไม่ผิดแผนจะได้พบในงานบางกอก มอเตอร์โชว์ 2021

จากนั้นช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน จะเป็นคิวของ โตโยต้า ซี-เอชอาร์ ใหม่ ที่ปรับปรุงรูปลักษณ์ เพิ่มออพชันเล็กน้อย และมีขายเฉพาะรุ่นไฮบริด ซึ่งปี 2563 ทั้งปี บี-เอสยูวีรุ่นนี้ขายได้ 3,381 คัน น้อยกว่าน้องใหม่ โตโยต้า โคโรลลา ครอส ทำตลาดเพียงครึ่งปีหลังได้ยอดไป 12,945 คัน

ส่วนความเคลื่อนไหวในกลุ่มอีโคคาร์ ล่าสุดเปิดตัว ยาริส และเอทีฟ (ยาริส ตัวถังซีดาน) รุ่นพิเศษ PLAY Limited Edition พร้อมขยับราคาขึ้น 25,000 บาทจากรุ่นปกติ

ความพิเศษของ ยาริส และ เอทีฟ รุ่นพิเศษ PLAY คือ กระจังหน้าด้านบนสีดำเงา แปะสัญลักษณ์ชื่อรุ่น PLAY ที่ท้ายรถ เพิ่มสีใหม่ Ice Pink Metallic ล้ออัลลอยปัดเงาสีทูโทน

ภายในห้องโดยสารตกแต่งด้วยโทนสีใหม่ เบาะหนังสีทูโทนขาว-ดำ เพิ่มลูกเล่นด้วยด้ายสี Dark Mulberryระบบปรับอากาศพร้อมแผ่นกรองอากาศใหม่ PM 2.5 กระจกบังลมหน้าใหม่ Acoustic Glass ช่วยดูดซับพลังงานความร้อน กล้องมองรอบคัน 360 องศา และระบบ PLAY CONNECT Car Telematics เทคโนโลยีเชื่อมต่อระหว่างผู้ขับกับตัวรถ

ยาริส รุ่น Sport Premium with Black Roofราคา7.09 แสนบาท รุ่น Sport ราคา 6.34 แสนบาท ส่วน เอทีฟ รุ่น Sport Premium ราคา 6.99 แสนบาท และ Sport ราคา 6.24 แสนบาท

สำหรับยอดขายเดือนมกราคม 2564 โตโยต้า ยาริส ทำได้ 1,977 คัน ลดลง 18% และ โตโยต้า เอทีฟ 1,548 คัน โต 1% โดยขายเป็นอันดับหนึ่งและอันดับสามในตลาดอีโคคาร์ตามลำดับ ส่วนอันดับสองเป็น ฮอนด้า ซิตี้ ซีดาน 1,777 คัน ขณะที่ยอดขายรวมทุกยี่ห้อในกลุ่มนี้ทำได้ 10,317 คัน ลดลง 43% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมปี 2563

ข้อมูลเพิ่มเติม โตโยต้า

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,655 วันที่ 21 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564