นายกเคาะหนุน EV รอบใหม่เทียบเชิญ “เทสล่า”

10 พ.ย. 2563 | 14:27 น.
อัปเดตล่าสุด :07 เม.ย. 2564 | 23:21 น.

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นั่งหัวโต๊ะบอร์ดใหญ่บีโอไอ เคาะเปิดรับโครงการส่งเสริมการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้ารอบใหม่ สำหรับยานพาหนะหลายประเภท มุ่ง EV และ PHEV หวังรับค่ายรถยนต์จีนรวมถึง “เกรทวอลล์” เล็ง ส่งเทียบเชิญ “เทสล่า” จูงใจด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี

ตามที่บีโอไอเปิดรับโครงการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้ารอบแรกในช่วงปี 2560- 2562 แบ่งเป็น รถไฮบริด รถปลั๊ก-อินไฮบริด และอีวี ซึ่งเน้นเฉพาะรถยนต์ส่วนบุคคล และรถบรรทุก รถโดยสาร ล่าสุด บอร์ดบีโอไอ ประชุมนัดล่าสุดโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติให้เปิดส่งเสริมการลงทุนรอบใหม่ และเพิ่มประเภทยานพาหนะให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ และเรือ

สำหรับการส่งเสริมการลงทุนรอบใหม่ มีรายละเอียดและสิทธิประโยชน์ดังนี้

1.กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แบบ Battery Electric Vehicles : BEV (ให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมควบคู่ไปด้วยกันได้) กรณีที่มีขนาดการลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี

กรณีขนาดการลงทุนน้อยกว่า 5,000 ล้านบาท จะได้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ถ้ามีโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบ Plug-in Hybrid Electric Vehicles หรือ PHEV ด้วย จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ทั้งนี้ต้องผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าอย่างน้อย 3 ชิ้น

2. กิจการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี

3.กิจการผลิตสามล้อไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี

4.กิจการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี

นายกเคาะหนุน EV รอบใหม่เทียบเชิญ “เทสล่า”

อย่างไรก็ตาม ทุกกิจการ จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น มีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ มีแผนลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น

“การส่งเสริมโครงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) รอบใหม่ หวังให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน และเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก รวมทั้งขยายเวลาและปรับมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของผู้ประกอบการ
ให้สอดคล้องกับสภาพการ
แข่งขันในปัจจุบัน”นางสาวดวงใจ อัศวจิตนจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวสรุป

จากแผนงานดังกล่าว จะเห็นว่าบีโอไอ หวังจูงใจนักลงทุนรายใหม่ๆ เช่น บริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากจีน ที่ล่าสุดมี “เกรท วอลล์ มอเตอร์” กำลังเจรจารายละเอียดต่างๆกันอยู่ ขณะเดียวกัน บีโอไอ ยังมีแผนเจรจากับ “เทสล่า”ผู้ผลิตอีวีชื่อดังของโลกให้มาตั้งฐานการผลิตในไทย

ปัจจุบัน เทสล่ามีฐานการผลิตใหญ่ที่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และจีน แต่ในอาเซียนยังไม่ชัดเจนเรื่องการลงทุน มีเพียงส่งทีมงานมาศึกษาเงื่อนไขของประเทศต่างๆ ซึ่งประเทศในภูมิภาคนี้ ต่างต้องการให้เทสล่า เข้ามาตั้งโรงงานทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และไทย

ทั้งนี้ การเปิดส่งเสริมการลงทุนรอบแรก ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร โดยมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ให้ความสนใจรวม 26 โครงการ มูลค่าการลงทุนกว่า 78,000 ล้านบาท

ในจำนวนนี้มีรถที่ทำตลาดแล้วคือ กลุ่ม “ไฮบริด” โตโยต้า นิสสัน (ฮอนด้า กำลังจะตามมาเร็วๆนี้ กับ ซิตี้ ไฮบริด) และกลุ่ม “ปลั๊ก-อินไฮบริด” อย่างเมอร์เซเดส-เบนซ์ บีเอ็มดับเบิลยู และเอ็มจี ส่วนกลุ่ม “อีวี” พลังงานไฟฟ้า100% มี ฟอมม์ กับ ทาคาโน และตามแผนในปี 2564 จะมีอีวีของ เอ็มจี และ เมอร์เซเดส เบนซ์ ประกอบในไทยเพิ่มเติม

ล่าสุด บีโอไอ เพิ่งอนุมัติโครงการใหม่ของ บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (บริษัทร่วมทุนระหว่าง ฟอร์ดกับมาสด้า) ที่ยื่นแพกเกจผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบ“ปลั๊ก-อินไฮบริด” กำลังผลิต 5,000 คันต่อปี และ “อีวี” 1,000 คันต่อปี

สำหรับ บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด โรงงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จ.ระยอง โดยแพ็กเกจนี้ มีมูลค่าลงทุน 3,247 ล้านบาท เบื้องต้นแจ้งว่าจะเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ และเป็นการผลิตรถยนต์มาสด้า ไม่เกี่ยวกับฟอร์ด 

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,626 วันที่ 12 - 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563