"หลินฮุ่ย" แพนด้าตัวสุดท้ายในประเทศไทย กับ 4 เรื่องในความทรงจำ

19 เม.ย. 2566 | 14:13 น.
อัปเดตล่าสุด :19 เม.ย. 2566 | 14:40 น.
615

"หลินฮุ่ย" แพนด้ายักษ์เพศเมีย ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน ตัวสุดท้ายในประเทศไทย กับ 4 เรื่องในความทรงจำ ย้อนวันวานครั้งแรกบินตรงจากจีน สู่ประเทศไทย มาเป็นครอบครัวแพนด้าสุดน่ารัก ก่อนลาจากในอายุ 21ปี

ช่วงเช้าของวันที่ 19 เมษายน 2566 ข่าวการเสียชีวิตของ "หลินฮุ่ย" แพนด้าเพศเมีย อายุ 21 ปีทูตสันถวไมตรี ระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้สร้างความเสียใจ และเสียดายให้กับคนไทย และเหล่าคนรักหมีแพนด้า 

"หลินฮุ่ย" อยู่ที่ส่วนจัดแสดงแพนด้าของสวนสัตว์เชียงใหม่ และได้สร้างความสุขให้กับผู้พบเห็น มาร่วม 20 ปีแล้ว ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มาความทรงจำเกี่ยวกับ "หลินฮุ่ย" มากมาย

หลินฮุ่ย

"หลินฮุ่ย" กับ 4 เรื่องในความทรงจำ

1. ทำความรู้จัก "หลินฮุ่ย"

"หลินฮุ่ย" เป็นหมีแพนด้ายักษ์เพศเมีย เกิดวันที่ 28 กันยายน 2544 ที่ศูนย์วิจัยและอนุรักษ์แพนด้ายักษ์ เขตอนุรักษ์วู่หลง เมืองเฉินตู มณฑลเสฉวน ประเทศจีน และเดินทางจากจีนมายังท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ ด้วยเที่ยวบินพิเศษของการบินไทย โดยมีชื่อเที่ยวบินว่า "เรารักแพนด้า" เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2546 พร้อมกับ "ช่วงช่วง" แพนด้ายักษ์เพศผู้

ช่วงช่วง หลินฮุ่ย

2. ที่มาของหมีแพนด้า ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน

ในปี พ.ศ. 2544 พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เดินทางไปราชการที่สาธารณรัฐประชาชนจีน และเจรจาขอหมีแพนด้าจากประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ

รัฐบาลจีนยินดีมอบหมีแพนด้า 1 คู่ให้ไทย หลังจากนั้นในเดือน ต.ค. 2544 ไทยก็เริ่มมีการเตรียมความพร้อม มีการแจ้งให้คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ และมอบให้องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เตรียมการจัดสร้างส่วนวิจัย และจัดแสดงหมีแพนด้าในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546

ตามสัญญาเดิมแล้ว ไทยต้องคืนหมีแพนด้า"ช่วงช่วง" และ "หลินฮุ่ย" ให้กับจีนในปี 2556 ตามสัญญา 10 ปี แต่มีการต่อสัญญารอบใหม่อีก 10 ปี ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2556 ถึง ต.ค. 2566 ซึ่ง"ช่วงช่วง" ได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562 เนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลว ขณะอายุ 19 ปี ก่อนที่"หลินฮุ่ย" จะเสียชีวิตลง ขณะอายุ 21 ปี

3. "หลินฮุ่ย" กับ "ช่วงช่วง" ให้ลูกชื่อ "หลินปิง"

ในช่วงปีพ.ศ. 2550 เป็นครั้งแรกที่"หลินฮุ่ย"เริ่มแสดงอาการเป็นสัด ทีมวิจัยแพนด้าในไทยจึงเริ่มพยายามขยายพันธุ์หมีแพนด้าด้วยหลายวิธีการ หนึ่งในนั้น คือ การเปิดวิดีโอการผสมพันธุ์ของหมีแพนด้าให้เจ้าสองแพนด้าดู เพื่อกระตุ้นให้เกิดการผสมพันธุ์ตามคำแนะนำของศูนย์วิจัยแพนด้าในจีน แต่ท้ายที่สุดได้ใช้วิธีการผสมเทียมในอีก 3ปีต่อมา 

"หลินฮุ่ย" ได้ให้กำเนิดลูกแพนด้าตัวแรกในเมืองไทยในวันที่ 27 พ.ค. 2552 ตั้งชื่อว่า "หลินปิง" จากผลการโหวตชื่อผ่านไปรษณียบัตรมากที่สุด 13.2 ล้านใบ จากผู้โหวต22 ล้านใบ โดย "หลินปิง" มีความหมายว่า ป่าน้ำแข็งหรือป่าแม่น้ำปิง และ"หลินปิง" ได้ถูกส่งกลับไปยังประเทศจีน ตามสัญญา เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2556 

 

4. ดูหมีแพนด้า 24 ชั่วโมง 

ช่องทรูวิชั่นส์ ได้เปิดช่องเรียลลิตี้แพนด้าแชนแนล ในเดือน พ.ย. 2552 ถ่ายทอดสดชีวิตของครอบครัวแพนด้า "ช่วงช่วง" "หลินฮุ่ย" และ "หลินปิง" จากกระแสแพนด้าฟีเวอร์ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มคนรักแพนด้า ที่จะได้เห็นอิริยาบถน่ารักๆของครอบครัวแพนด้า ทั้งขณะเดิน นอน กินใบไผ่ หยอกล้อเล่นกัน หรือมุมฮาๆของครอบครัวแพนด้า

หลินฮุ่ย ทั้งนี้ "หลินฮุ่ย" แพนด้ายักษ์เพศเมีย ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน ถือเป็นแพนด้าตัวสุดท้ายในประเทศไทย

ขอบคุณภาพจาก สวนสัตว์เชียงใหม่