"สวนสัตว์ใหม่ คลอง 6" ศูนย์เรียนรู้ทางธรรมชาติแห่งภูมิภาคอาเซียน

16 ม.ค. 2566 | 13:42 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ม.ค. 2566 | 20:56 น.
869

สวนสัตว์แห่งใหม่ คลอง 6 ธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ที่สร้างขึ้นบนพื้นที่พระราชทานจำนวน 300 ไร่ จากสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพื่อทดแทนสวนสัตว์เดิม องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีเป้าหมายที่มากกว่าสถานที่ท่องเที่ยว หากแต่รวมถึงการเป็นแหล่งเรียนรู้ พร้อมปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้เด็กไทย และผู้สนใจทั่วโลก

สวนสัตว์แห่งใหม่ คลอง 6 ธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ที่สร้างขึ้นบนพื้นที่พระราชทานจำนวน 300 ไร่ จากสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพื่อทดแทนสวนสัตว์เดิม องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีเป้าหมายที่มากกว่าสถานที่ท่องเที่ยว หากแต่รวมถึงการเป็นแหล่งเรียนรู้ พร้อมปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้เด็กไทย และผู้สนใจทั่วโลก


สวนสัตว์ใหม่ คลอง 6

นอกจากนี้ ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ภายใต้แนวคิดจัดทำเป็นสวนสัตว์ที่ทันสมัยระดับนานาชาติ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ครบถ้วนในระดับสากล ทั้งการเป็นแหล่งเรียนรู้ชีวิตสัตว์ป่าในและนอกถิ่นอาศัย ระบบภูมินิเวศทางธรรมชาติที่สมบูรณ์แบบ รวมถึงแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ศึกษาวิจัยและเพาะขยายพันธุ์สัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ และยังจะเป็นแหล่งนันทการรองรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร

นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สวนสัตว์แห่งใหม่ ดำเนินการก่อสร้างระหว่างปี 2566–2570 และคาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ประมาณปี 2571 
 

สวนสัตว์ใหม่ คลอง 6



แนวคิดในการออกแบบ แบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย 

1. Wet Land Revival ภายใต้แนวคิด ชุบชีวิตทุ่งน้ำ อนุรักษ์ธรรมชาติพื้นถิ่น เป็นการสร้างสวนสัตว์ในบริบทใหม่ด้วยบรรยากาศท้องถิ่น เน้นให้มีการ RESRVOIR หรือบ่อเก็บน้ำแก้มลิง เพื่อรองรับการกักเก็บน้ำในและการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์ จำนวน 2 บ่อ

2. Biodiversity Park : Bio-park การจัดแสดงสัตว์ตามถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ เป็นการส่งเสริมสวัสดิภาพของสัตว์ โดยเน้นการสร้างความสมดุลระหว่างการจัดแสดงสำหรับผู้เยี่ยมชม และการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับสัตว์ รวมถึงการจัดแสดงของสัตว์ต่างๆ เสมือนอาศัยอยู่ร่วมกันในธรรมชาติ 

3. King’s Philosophy เป็นการประยุกต์ศาสตร์ของพระราชา เพื่อการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน เป็นการนำหลักอนุรักษ์ฟื้นฟู การกักเก็บจัดการใช้ประโยชน์ การบำบัดป้องกันซึ่งหลักการดังกล่าวนั้น จะทำให้โครงการเกิดความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการ รียูส รีไซเคิล น้ำและขยะ มีระบบรีไซเคิลทั้งในบ่อเก็บน้ำ คู่น้ำ ระบบหมุนเวียนน้ำ น้ำที่ใช้งานแล้วจะนำมาบำบัดและนำมากักเก็บและใช้ใหม่อีกครั้ง


สวนสัตว์ใหม่ คลอง 6

 

ส่วนของการเรียนรู้ด้านวิถีชีวิตสัตว์ สวนสัตว์แห่งใหม่นี้ มีการจัดโซนสัตว์ออกเป็น 5 โซน ประกอบด้วย 
1. โซนสัตว์แอฟริกาใต้   
2. โซนสัตว์เอเชีย
3. โซนสัตว์ออสเตรเลีย
4. โซนสัตว์อเมริกาใต้
5. โซนสัตว์อเมซอน    

ทั้ง 5 โซน จะมีสัตว์จากทวีปต่างๆ นำเข้ามาจัดแสดง ไม่ว่าจะเป็น ช้างไทย ละมั่ง ยีราฟ มาไช ไนอาล่า สิงโต ไฮยีน่าลายจุด เก้ง ละมั่งพม่า เก้งเผือก เนื้อทราย ฟลามิงโก้  ม้าลาย แรด นกกระจอกเทศ นกกระเรียง เสือลายเมฆ เสือดาว เสือโคร่งไทย กลุ่มลิง ค่างและชะนี กลุ่มนกน้ำ กลุ่มไก่ฟ้า กลุ่มนกเหงือก สล็อตสองนิ้วเท้า จิงโจ้แดง เป็นต้น 


สวนสัตว์ใหม่ คลอง 6

ที่ตั้งของสวนสัตว์แห่งใหม่ รายล้อมไปด้วยระบบคมนาคมที่เชื่อมต่อกับศูนย์กลางที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นศูนย์กลางการศึกษา ที่อยู่อาศัย และเกษตรกรรม การดำเนินการก่อสร้างภายใต้แนวศาสตร์พระราชา จึงทำให้เกิดความกลมกลืนเป็นระบบภูมินิเวศทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ เหมาะกับการเป็นศูนย์เรียนรู้ทางธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน รวมถึงเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของไทย