รู้จัก “อาหารอิสราเอล” ความอร่อยจากวัฒนธรรมที่กินได้

09 ต.ค. 2565 | 05:53 น.
1.7 k

“หากเข้าใจอาหาร ก็ย่อมเข้าใจวัฒนธรรม” คำกล่าวนี้ดูท่าจะเป็นจริงเอาไม่น้อย ด้วยเพราะวัฒนธรรมของผู้คนในแต่ละประเทศ ในแต่ละเชื้อชาติ ย่อมมีความแตกต่างกันไปตามประวัติศาสตร์ของชาติพันธุ์

วันก่อนได้มีโอกาสไปเรียนรู้วัฒนธรรมอาหารของ “อิสราเอล” อย่างอิ่มใจและสบายพุง ซึ่งจะว่าไปแล้ว “อาหารอิสราเอล” นั้น ก็มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และคนไทยหลายคนเองก็อาจยังไม่คุ้นชิน

 

เพราะร้านอาหารอิสราเอลในไทย ยังไม่ได้แพร่หลาย เหมือนอาหารชาติอื่น ๆ การได้ลองลิ้มชิมรสอาหารอิสราเอล ไปพร้อมกับฟังที่มาของอาหารแต่ละจาน จึงเป็นประตูเปิดไปสู่ความเข้าใจอิสราเอลได้อย่างมีอรรถรสเลยทีเดียว

 

พิเศษสุด เพราะผู้ที่มาให้ความรู้ และเชิญชิมอาหาร คือ ท่านเอกอัครราชทูตอิสราเอล “ออร์นา ซากิฟ” ซึ่งมาบรรยายให้ฟังด้วยตัวเอง ในงานกิจกรรม “เรียนรู้อิสราเอล ผ่านวัฒนธรรมอาหารอิสราเอล” หรือ “Israel’s Diversity: Stories Behind the Dishes” ณ ร้านอาหาร Helena ซอยสุขุมวิท 51 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย

เอกอัครราชทูตอิสราเอล “ออร์นา ซากิฟ”

 

ท่านทูตอิสราเอล เล่าถึงเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารอิสราเอลว่า เมื่อพูดถึงอาหารอิสราเอล คนไทยหลายคนคงมีภาพความเข้าใจว่าอาหารอิสราเอลมีแต่อาหารตะวันออกกลางอย่างเดียว อย่าง “ฮัมมัส” (hummus) หรือสลัด “ตาบูเล่” (tabbouleh)

 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาหารอิสราเอลเต็มไปด้วยองค์ประกอบจากภูมิภาคอื่นๆจากทั่วโลก เช่น ยุโรปกลาง ยุโรปตะวันออก คาบสมุทรบอลข่าน ตุรกี โมร็อกโก ฯลฯ 

 

เนื่องจากอิสราเอลเป็นประเทศเกิดใหม่ ชาวยิวที่กระจัดกระจายในหลายประเทศต่างอพยพมาตั้งรกรากในอิสราเอล และได้นำเอาวัฒนธรรมอาหารของตนเองมาประยุกต์กับการใช้ชีวิตในประเทศอิสราเอลด้วย จึงกลายเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมที่หลากหลาย

 

อาหารอิสราเอล

 

ด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมอาหารเช่นนี้ ทำให้เชฟจากประเทศอิสราเอลจำนวนมากประสบความสำเร็จในหลายประเทศ จากคิดค้นสูตรอาหาร “ฟิวชั่น” คงวัฒนธรรมท้องถิ่นต่างๆได้อย่างกลมกลืน

 

ทั้งเรายังได้ทดลองทำอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศอิสราเอลอย่างสนุกสนาน อาทิ  “ฟาลาเฟล” (Falafel)  “ชักชูกา” (Shakshuka) และขนมปัง “ฮาลาห์” (Challah) โดยมีทีมเชฟจากร้านอาหาร Helena เป็นผู้สาธิตวิธีการประกอบอาหารอย่างใกล้ชิด  

การทำอาหารอิสราเอล

 

หลังทดลองทำอาหารอิสราเอลเสร็จสิ้น ก็ได้เวลาร่วมกันรับประทานอาหาร ซึ่งทุกเมนูได้รับการคัดเลือกมาเป็นพิเศษสะท้อนถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็น หมวดสลัด อาหารเรียกน้ำย่อย 11เมนู ,อาหารจานหลัก 9 เมนู ,ขนมปัง 2 ชนิด และของหวาน อีก 2 เมนู เรียกว่าอิ่มแปล้กันไปเลยทีเดียว 

 

ทุกเมนูที่ได้ทดลองทำและลิ้มลอง ล้วนมีคำอธิบาย ถึงเบื้องหลังในแต่ละจานเอาไว้ด้วยในคู่มือแนะนำอาหารอิสราเอล และสูตรอาหารที่แจกให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคน เช่น  “ฟาลาเฟล” (Falafel)

 

เมนูนี้เป็นส่วนผสมของถั่วลูกไก่เป็นหลัก นำมาบดผสมกับหัวหอม ,ผักชีต่างๆ , ไข่ไก่ , ปรุงรสด้วยเกลือ และเครื่องเทศ โดดเด่นด้วยกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์จากยี่หร่า และผักชีหลากชนิด นิยมนำไปทอดเพื่อเป็นอาหารว่าง ที่มาของเมนูนี้ ได้อธิบายไว้ว่า หลายทฤษฎียอมรับว่าเมนูนี้มีต้นกำเนิดที่ประเทศอียิปต์ 

 

การทำอาหารอิสราเอล

 

แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงมีคำถามว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และโดยใครกันแน่ ในสมมุติฐานหนึ่งเชื่อว่าเมนูนี้มีต้นกำเนิดจากตำรวจอียิปต์ เมื่อราว 1,000ปีที่แล้ว บ้างก็พูดว่าเมนูนี้มาจากอินเดีย สู่ตะวันออกกลาง เมื่อศตวรรษที่ 6 เป็นต้น 

 

ในตอนท้ายของคำอธิบายเบื้องหลังเมนู “ฟาลาเฟล”นี้ ได้เล่าถึง การแพร่หลายของเมนูนี้ไปสู่ ยุโรป และสหรัฐอเมริกาในปลายศตวรรษที่ 20 โดยผู้ที่ย้ายถิ่นฐาน หลังจากเมนูนี้ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นในอิสราเอลอย่างมาก 

 

หรือจะเป็น “Kneidlach” ซุปไก่และขนมปังจากภูมิภาคยุโรป ซึ่งใช้แป้งแบบยิวดั้งเดิมแต่ใช้วิธีการทำแบบยุโรปตะวันออก, ปลาย่างสไตล์โมร็อกโก, “Sabich” ขนมปังไส้ไข่และสลัดผักจากประเทศอิรัก, “Bourekas” พายหลากหลายไส้จากภูมิภาคแอฟริกาเหนือ

 

“Bourekas” พายหลากหลายไส้จากภูมิภาคแอฟริกาเหนือ

 

ข้าวสไตล์เปอร์เซีย, “Labneh” ครีมชีสและโยเกิร์ตจากประเทศเลบานอน, “Schug” ซอสเครื่องเทศจากประเทศเยเมน และ “Ptitim” อาหารทำจากข้าวสาลีที่ชาวอิสราเอลคิดค้นขึ้นในสมัยก่อตั้งประเทศใหม่ๆ เนื่องจากยังไม่สามารถปลูกข้าวเองได้ เป็นต้น

 

ก่อนจะแยกย้ายกันกลับ ยังมีเซอร์ไพรซ์จากทางสถานทูต เพราะทุกคนได้รับขนมปัง “ฮาลาห์” ผลงานการปั้นของตัวเองเป็นของฝากชิ้นเดียวในโลกกลับบ้านไปด้วย ซึ่งขนมปัง “ฮาลาห์” เป็นอาหารที่ชาวอิสราเอลมักจะรับประทานในทุกวันศุกร์กับครอบครัวของตน เพื่อแสดงความขอบคุณต่อพระเจ้าตามธรรมเนียมชาวยิวโบราณ 

 

ขนมปัง “ฮาลาห์” ผลงานการปั้นของตัวเอง

 

อาหารอิสราเอลในทุกจาน ล้วนมีที่มาที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับทั้งเรื่องศาสนา การอพยพย้ายถิ่นฐาน การกสิกรรม และด้านอื่น ๆ ที่เป็นอัตลักษณ์ของประเทศอิสราเอลนั่นเอง

 

รู้จัก “อาหารอิสราเอล” ความอร่อยจากวัฒนธรรมที่กินได้

รู้จัก “อาหารอิสราเอล” ความอร่อยจากวัฒนธรรมที่กินได้

รู้จัก “อาหารอิสราเอล” ความอร่อยจากวัฒนธรรมที่กินได้

รู้จัก “อาหารอิสราเอล” ความอร่อยจากวัฒนธรรมที่กินได้

รู้จัก “อาหารอิสราเอล” ความอร่อยจากวัฒนธรรมที่กินได้

รู้จัก “อาหารอิสราเอล” ความอร่อยจากวัฒนธรรมที่กินได้

รู้จัก “อาหารอิสราเอล” ความอร่อยจากวัฒนธรรมที่กินได้

รู้จัก “อาหารอิสราเอล” ความอร่อยจากวัฒนธรรมที่กินได้

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,825 วันที่ 9 - 12 ตุลาคม พ.ศ. 2565